ปลาฉลามวาฬ
- 28 ตุลาคม 2556
- 152
การอนุรักษ์ปลาฉลามวาฬในไทย
มาตรการทางการประมง
ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ห้ามทำการประมงปลาฉลามวาฬ ลงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2543 ห้ามมิให้บุคคลใดจับ ดัก ล่อ ทำอันตรายหรือฆ่าปลาฉลามวาฬในทะเลท้องที่จังหวัดชายทะเลทุกจังหวัดโดยเด็ดขาด และ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ ที่ห้ามจับหรือนำขึ้นเรือประมง พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559 ซึ่งปลาฉลาวาฬถูกกำหนดอยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ ห้ามมิให้ผู้ใดจับหรือนำขึ้นเรือประมง เว้นแต่กรณีจำเป็นเพื่อการช่วยชีวิตของสัตว์น้ำนั้น
ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเขตห้ามใช้เครื่องมืออวนลากอวนรุนที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมง ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2515 กำหนดห้ามทำการประมงในเขต 3,000 เมตร นับจากขอบน้ำตามชายฝั่งทะเล ปัจจุบันขยายเขตห้ามทำการประมงออกไปเป็น 5,400 เมตรจากชายฝั่งในพื้นที่ชายฝั่งทะเล 10 จังหวัดได้แก่ กระบี่ ประจวบคีรีขันธ์ ตรัง (ลงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2550) ระยอง นราธิวาส ปัตตานี (ลงวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2551) สตูล (ลงวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2552) นครศรีธรรมราช (ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2552) ชุมพร (ลงวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2554) และจันทบุรี (ลงวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555) แม้ว่าพื้นที่ห้ามทำการประมงพาณิชย์ในเขต 3,000 เมตร และ 5,400 เมตร ดังกล่าว มีส่วนช่วยไม่ให้ปลาฉลามวาฬติดเครื่องมือประมงโดยเฉพาะเครื่องมืออวนลาก อย่างไรก็ตาม การแพร่กระจายของปลาฉลามวาฬที่ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเลของไทย ทำให้เขตห้ามทำประมงพาณิชย์ไม่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ
มาตรการเชิงพื้นที่
พื้นที่คุ้มครองทางทะเลของอุทยานแห่งชาติทางทะเล มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ปลาฉลามวาฬ แต่ไม่ครอบคลุมพื้นที่การแพร่กระจายของปลาฉลามวาฬในประเทศไทย
มาตรการเชิงชนิดพันธุ์
ปลาฉลามวาฬได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยได้รับการประกาศเป็นสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
มาตรการอื่นๆ
ปลาฉลามวาฬถูกควบคุมอยู่ในบัญชี 2 ตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522
การจัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการฉลามของประเทศไทย (NPOA-Sharks) พ.ศ. 2563-2567 โดยกรมประมงเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการจัดทำร่างแผนฯ ขึ้นเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อนที่จะจัดทำสรุปเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ
การสำรวจติดตามสถานภาพและการแพร่กระจายของปลาฉลามวาฬในน่านน้ำไทย และการกำหนดข้อปฏิบัติสำหรับกิจกรรมดำน้ำเที่ยวชมปลาฉลามวาฬอย่างเป็นมิตร โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
คุณอุกิจธน ฉัตรสว่างวงศ์ : ภาพถ่ายปลาฉลามวาฬ (28 กุมภาพันธ์ 2566)
ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2566