วาฬ/โลมา
- 15 สิงหาคม 2556
- 1,509
การชันสูตร
วิธีการจัดการกับวาฬและโลมาเกยตื้น
เมื่อได้รับแจ้งข่าว ต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับ สถานที่ที่จะไปรับ เบอร์โทรศัพท์ ชื่อและที่อยู่ของผู้ที่จะติดต่อได้เมื่อไปถึง พร้อมทั้งให้คำแนะนำเบื้องต้นพอสังเขปแก่คนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่หรือชาวบ้านในการปฏิบัติต่อปลาวาฬและโลมาทั้งในกรณีที่มีชีวิต (live specimen) หรือตาย (carcass) ควรมีการประเมินสภาพของวาฬและโลมาเพื่อจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ได้ตรงกับการใช้งาน เช่น วาฬและโลมามีชีวิต หรือตาย ขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก หากมีชีวิต บาดเจ็บมากน้อยอย่างไร การเกยตื้นสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายแบบ เช่น การเกยขึ้นบนชายหาด การเกยตื้นในที่ตื้นแต่ยังมีน้ำล้อมรอบ ตัวอย่างที่มาเกยตื้นนี้เรียกว่า stranded animal การเกยตื้นยังแบ่งเป็นเกยตื้นตัวเดียวหรือหลายตัว หรือเป็นกลุ่ม (mass stranding) ส่วนการขึ้นเกยตื้นและตายของวาฬและโลมาหลายๆ ตัว หรือบางครั้งมีการตายครั้งละมากๆ เป็นร้อยเป็นพันเรียกว่า mass die-off บางคนใช้คำว่า strandings หรือ stranded และ beachings กับตัวอย่างเกยตื้น แต่คำที่นิยมใช้กันทั่วไป คือ stranded ซึ่งครอบคลุมทั้งตัวอย่างที่มีชีวิต และเสียชีวิต (Geraci and Lounsbury, 1993)
สาเหตุที่ทำให้วาฬและโลมามาเกยตื้นนั้น มีหลายปัจจัย ทั้งที่เกิดจากสภาพธรรมชาติ โรคภัย และมนุษย์ บางแห่งมีการมาเกยตื้นของวาฬและโลมาติดต่อกันหลายวัน หรือการมาเกยตื้นกินเนื้อที่ความยาวของชายหาดหลายกิโลเมตร ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะชี้ชัดว่าปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งทำให้สัตว์เหล่านี้มาเกยตื้น ปัจจัยต่างๆ มีดังนี้
1. สภาพภูมิประเทศชายฝั่งที่ซับซ้อน และสภาพของมหาสมุทร ทำให้พลัดเข้ามาเกยตื้น
2. มลภาวะ (pollution) ของสิ่งแวดล้อมทางทะเล เช่น คราบน้ำมันชายฝั่งอาจทำให้ระบบทางเดินหายใจเสียหาย หรือมลภาวะที่ได้รับจากห่วงโซ่อาหารจากแพลงก์ตอนสู่ปลา และหมึก เมื่อปลาวาฬและโลมากินเข้าไปสะสมเกิดเป็นพิษขึ้น
3. สภาพภูมิอากาศ เช่น คลื่นลมแรง พายุ ทำให้ไม่สามารถรักษาทิศทางการเคลื่อนที่ได้
4. การหนีผู้ล่า (predator) ซึ่งอาจเป็นสัตว์อื่น เช่น ฉลาม วาฬขนาดใหญ่ที่กินเนื้อ หรือมนุษย์
5. พิษที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น การสะสมสารพิษจากสาหร่ายบางชนิดที่กินเข้าไปในระยะเวลานานๆ
6. การรบกวนของกระแสแม่เหล็กโลกหรือการเดินทางที่ผิดพลาดอันเนื่องมาจากกระแสแม่เหล็กโลก
7. การไล่ล่าเหยื่อมายังชายฝั่งแล้วเกยตื้น เช่นวาฬเพชฌฆาตล่าแมวน้ำจนมาเกยตื้น
8. การเจ็บป่วย และโรคภัยจากธรรมชาติ เช่น ติดเชื้อไวรัส โรคพยาธิ
9. ระบบสัญญาณซึ่งใช้ในการนำทางและสื่อสาร (echolocation) ถูกรบกวนเมื่อเข้าสู่ที่ตื้น
10. การติดตามฝูงแล้วหากมีตัวใดตัวหนึ่ง หรือจ่าฝูงนำทางผิดพลาด ก็อาจจะทำให้พลัดหลงเข้าไปเกยตื้นได้ทั้งฝูง
11. การได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของมนุษย์ เช่น ติดอวน อวนล้อมปลาทู
แนวปฏิบัติและการดำเนินงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
1. การช่วยชีวิตตัวอย่างมีชีวิต (Rescue for live animals)
ในกรณี วาฬและโลมาเกยตื้น และมีขนาดเล็ก (ความยาว 2-3 เมตร) ซึ่งไม่แน่ใจว่าสามารถนำไปปล่อยในทะเลได้ ต้องเตรียมเปลผ้าใบพร้อมคานแบก หรือกรณีที่ต้องเคลื่อนย้ายไปปฐมพยาบาลที่อื่น หรือย้ายไปปล่อยยังแหล่งที่คลื่นลมสงบ นอกจากนี้แล้วต้องเตรียมผ้านวม (ผ้าห่มนวม) ถังน้ำพลาสติกเพื่อตักน้ำ เบาะนวมเพื่อนรองรับตัวอย่างไม่ให้สัมผัสกับพื้นแข็ง ช่วยไม่ให้น้ำหนักลำตัวกดทับด้านท้องมากเกินไป และป้องกันมิให้ลำตัวกระแทกกับพื้น ขณะลำเลียงต้องมีผ้าอุ้มน้ำปิดตลอดทั้งลำตัว ยกเว้นเฉพาะส่วนรูหายใจ (Blowhole) หรือเตรียมผ้าใบขนาดใหญ่ที่สามารถกันน้ำบุกระบะรถพร้อมใส่น้ำ (กรณีนี้อาจต้องมีปั๊มน้ำและสายยางติดไปด้วย) หากส่วนใดส่วนหนึ่งจมอยู่ในน้ำ ต้องมีผ้าอุ้มน้ำปิดอยู่ เพราะจะช่วยให้สามารถรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อยู่ในสภาวะปกติ ถึงแม้ว่าขณะลำเลียงขนส่งจะเป็นเวลากลางคืนก็ตามกรณีตัวใหญ่ ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ หากตัวอย่างตากแดดอยู่นาน ขั้นแรกควรทำร่มเงาให้ เช่นกางร่มขนาดใหญ่ หรือขึงผ้าใบไว้ (ไม่ควรนำน้ำมาราดบนตัวอย่าง เพราะอาจทำให้ตัวอย่างตายเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของร่างกายรวดเร็วเกินไป) หลังจากนั้นจึงใช้ผ้าชุบน้ำมาประคบแล้งจึงใช้ผ้าอุ้มน้ำปิดบนลำตัว
หากบริเวณนั้น เป็นหาดที่มีความลาดเอียงไม่มากนัก อาจขุดทรายข้างใต้ลำตัว เพื่อให้น้ำทะเลซึมเข้ามา ทั้งนี้นอกจากจะช่วยระบายรักษาอุณหภูมิให้ตัวอย่างแล้วยังช่วยประคองไม่ให้น้ำหนักตัวกดทับส่วนหน้าอกและท้องมากเกินไป หรือหากอยู่ไม่ไกลจากชายน้ำให้ช่วยกันอุ้มลงทะเล การปล่อยตัวอย่างลงทะเล หลังจากปฐมพยาบาลและประเมินว่าปลาวาฬและโลมาแข็งแรงพอที่จะปล่อยได้แล้ว จึงขนย้ายตัวอย่างด้วยเปล หรืออาจใช้คนช่วยกันอุ้ม หันหัวออกสู่ทะเลช่วยกันประคอง จนกว่าวาฬและโลมาจะสามารถว่ายไปได้
2. การจัดการกับตัวอย่างตาย(carcass disposal)
สำหรับตัวอย่างเกยตื้นที่ตายแล้ว ไม่มีความยุ่งยากสำหรับตัวอย่างขนาดเล็ก (2-3 เมตร) ใช้รถกระบะในการลำเลียง ส่วนตัวใหญ่มากต้องฝังหรือลากออกไปทิ้งในทะเล การดำเนินการมีดังนี้
2.1 การเตรียมอุปกรณ์ภาคสนามในการรับซาก จัดพาหนะให้เหมาะสมกับขนาดตัวอย่าง โดยทั่วไปใช่รถกะบะตอนเดียว พร้อมเจ้าหน้าที่ 2-3 คน อุปกรณ์ที่ควรเตรียมไปด้วยมีดังนี้
- กล่องเครื่องมือ ซึ่งประกอบด้วยวัสดุอุปกรณ์หลายอย่าง เช่น ขวดเก็บตัวอย่างเพื่อศึกษา DNA สายวัด/เทปวัด มีดผ่าตัดพร้อมใบมีด ปากคีบ (forceps) ต่างขนาด 2-3 อัน หลอดเก็บตัวอย่าง ปากกาเมจิกชนิดกันน้ำ กระดาษเลเบล กรรไกร คัทเตอร์ ฯลฯ
- ถุงมือ
- คานหาม
- รองเท้าบูท
- เชือกสำหรับผูกตัวอย่างกับกระบะรถ
- ผ้าใบ/กระสอบป่าน ปิดคลุมตัวอย่าง
- กระบะ/ถังแช่เย็นตัวอย่าง (กรณีตัวอย่างเล็ก)
- วัสดุปลีกย่อยอื่นๆ เช่น สบู่สำหรับล้างมือ ชุดสำหรับเปลี่ยนในกรณีตัวอย่างใหญ่เน่าซึ่งลอยอยู่ในทะเล
ในกรณีต้องการรักษาความสดของตัวอย่างในขณะลำเลียงควรใส่น้ำแข็งและเกลือเม็ดเพื่อช่วยให้ตัวอย่างสดอยู่เสมอ
2.2 การชันสูตรซาก (necropsy) ขั้นตอนการชันสูตรซากให้ปฏิบัติดังนี้
1. หากตัวอย่างยังสมบูรณ์ สามารถจำแนกชนิดวาฬและโลมาจากลักษณะภายนอกได้ ซึ่งอาจใช้หนังสือของ Jefferson et al. (1993), Geraci and Lounsbury (1993) และดูเพิ่มเติมได้จากรายงานของสุพจน์และคณะ, 2539 Cnantrapornsyl et al, 1997;1998 และแยกเพศ หากไม่สามารถจำแนกชนิดได้จากลักษณะภายนอก ต้องอาศัยการจำแนกจากหัวกะโหลกและโครงกระดูก ศึกษาได้จาก Jefferson et al. (1993) กรณีที่ตัวอย่างสดและไม่สามารถไปรับซากได้ทันที ควรติดต่อประสานงานให้กับคนในพื้นที่ฝากแช่แข็งตัวอย่างในห้องเย็น เช่น ห้องเย็นขององค์การสะพานปลา ห้องเย็นของแพปลา หรือโรงงาน หากตัวอย่างไม่สดมากพอที่จะเก็บในห้องเย็นได้ ให้จัดการแช่ตัวอย่างด้วยน้ำแข็ง (ผสมเกลือ) ในบ่อหรือถัง หากไม่มีบ่อหรือถังและมีพื้นที่ที่ติดหาดทรายให้ขุดหลุมลึกพอใส่ตัวอย่างปูพื้นด้วยผ้าใบแล้วแช่ตัวอย่างด้วยน้ำแข็ง (ผสมเกลือ)
2. ถ่ายรูปลักษณะภายนอกทั้งด้านบน ด้านข้าง และด้านท้อง ลักษณะครีบข้าง ครีบหลังและครีบหาง ลักษณะสี ลาย และจุดตามลำตัว รวมทั้งตำหนิภายนอกและบาดแผล
3. ตรวจลักษณะภายนอกโดยละเอียด เช่น บาดแผล รอยช้ำ พยาธิ หรือสัตว์ที่เกาะ เช่นเพรียง และอื่นๆ
- หากพบพยาธิให้ดองด้วยแอลกอออล์ 10%
- ลักษณะบาดแผล รอยช้ำ และอื่นๆ ให้ลงตำแหน่งไว้ใน data sheet
4. เก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อไว้เพื่อวิเคราะห์ DNA ดองด้วย Absolute alcohol ส่วนที่ดีที่สุดคือผิวหนังสีดำด้านนอก หากไม่มีให้เก็บเนื้อหรืออวัยวะอื่นๆ แทนได้ เช่น ตับ เนื้อ
5. ชั่งตัวอย่างน้ำหนักทั้งตัว
6. นับจำนวนฟัน/ร่องฟัน ทั้งขากรรไกรบน และล่าง
7. วัดขนาดตาม data sheet เช่น ความยาวลำตัว รอบตัว
8. วัดขนาดความหนาของชั้นไขมัน (blubber) ตามที่ระบุไว้ใน data sheet
9. โดยทั่วไป จะเริ่มผ่าซากจากแนวด้านบนตามความยาวลำตัว หรือผ่าจากแนวด้านข้างของลำตัว และบันทึกลักษณะต่างๆ ของอวัยวะภายใน เช่น สี รอยช้ำ วัดความกว้าง ความยาว ชั่งน้ำหนักอวัยวะภายในแต่ละชิ้น
- ตรวจดูพยาธิ (หากพบพยาธิให้ดองในแอลกอออล์ 10%) อย่าลืมตรวจพยาธิในช่องทางเดินหายใจ (จากปลายรูจมูก หรือ blowhole เข้าไปด้านใน)
10. ส่วนของกระเพาะ ชั่งน้ำหนักอาหารในกระเพาะ และดองในน้ำยาฟอร์มาลีน 10% เพื่อไว้แยกชนิดอาหารที่ตัวอย่างกินต่อไป
11. สำหรับตัวอย่างที่ตายใหม่ๆ ควรเก็บชิ้นส่วนเนื้อเยื่อเพื่อวิเคราะห์ด้านพยาธิวิทยา โดยใช้เนื้อเยื่อทุกส่วนที่สามารถเก็บได้ เช่น หนัง เนื้อ อวัยวะภายในทุกชิ้น เก็บเนื้อเยื่อชินละประมาณ 1X1 เซนติเมตร ดองในน้ำยาฟอร์มาลีน 10%
12. เก็บเนื้อเยื่อทุกส่วนรวมทั้งอวัยวะภายในเพื่อหาโลหะหนัก และสารตกค้างแต่ละชิ้นให้มีขนาดประมาณ 3-5 x 3-5 เซนติเมตร แล้วแช่แข็งที่อุณหภูมิ -80 องซาเซลเซียส เพื่อรอการวิเคราะห์ต่อไป
13. เก็บชิ้นเนื้อส่วนสำคัญอื่นๆ อาทิ ฟันเพื่อนศึกษาอายุ รังไข่และมดลูกหรืออัณฑะเพื่อศึกษาการเจริญพันธุ์ (รังไข่และอัณฑะตัดตรงกลางขนาด 1 x 1 เซนติเมตร แล้วดองในน้ำยาฟอร์มาลีน 10%)
14. หากทำได้ให้แยกชั่งน้ำหนัก เนื้อชั้นไขมัน กระดูก อวัยวะภายใน และโครงกระดูก
15. ถ่ายรูปอวัยวะภายใน และส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะที่เห็นว่าผิดปกติ
2.3 การฝังซากและเก็บโครงกระดูก
กรณีตัวอย่างมีขนาดใหญ่ หรือไม่สะดวกในการชันสูตรซาก เช่น ตัวอย่างเน่ามาก หรือไม่มีบุคลากร วิธีที่ดำเนินการสะดวกที่สุดคือการฝัง สถานที่ที่ฝังควรเป็นพื้นที่ที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึง ตัวอย่างขนาดใหญ่มากต้องใช้รถแมคโครในการฝังกลบ ก่อนฝังควรตัดครีบข้างทั้งสองข้างห่อด้วยอวนตาละเอียด (อวนเขียว) แล้วจึงค่อยห่อรวมกับลำตัวอีกครั้ง เนื่องจากกระดูกนิ้วข้อเล็กมาก หากห่อรวมกันไปอาจทำให้สูญหายได้เวลาขุดซาก หรืออาจแยกครีบมาแช่น้ำเพื่อเก็บกระดูก ในกรณีตัวอย่างใหญ่ควรผ่าท้องตัวอย่างก่อนห่อด้วยเนื้ออวน เพื่อให้ส่วนของ เนื้อ หนัง อวัยวะภายในเน่าและย่อยสลายเร็ว ผูกหัวท้ายอวนให้เรียบร้อย ทำเครื่องหมายโดยใช้เชือกไนลอนผูกกับปลายด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านแล้วปล่อยเชือกให้เหนือหลุมกลบ เพื่อใช้เป็นเครื่องหมาย ในการติดตามโครงกระดูกภายหลัง พร้อมทั้งบันทึกถ่ายภาพ หรือวาดสถานที่ที่ฝังกลบตัวอย่าง เพื่อบอกตำแหน่งที่ฟังได้ชัดเจน หรืออาจทำป้ายปักไว้ (ส่วนใหญ่ป้ายมักหาย หรือชำรุด แล้วหาไม่พบ) กรณีตัวอย่างขนาด 2-3 เมตร ไม่ควรฝังนานเกิน 3-4 เดือน สำหรับตัวอย่างที่มีขนาดความยาวมากกว่า 10 เมตร ไม่ควรฝังนานเกิน 1 ปี เพราะหากฝังตัวอย่างไว้นานเกินไป นอกจากโครงกระดูกจะผุกร่อนแล้ว รากไม้ยังชอนไชไปทำให้กระดูกเสียหายได้อีกด้วย
กรณีตัวอย่างใหญ่มากและไม่สามารถทำการฝังกลบได้ เช่น บริเวณนั้นเป็นหาดโคลน ให้โรยปูนขาวดับกลิ่น และทยอยเก็บรวบรวมกระดูก หากเป็นตัวอย่างเน่ามากลอยอยู่ในทะเล ให้ลากเข้าฝั่ง ผูกตัวอย่างไว้กับต้นไม้ใหญ่ริมหาด เพื่อป้องกันคลื่นซัดพาตัวอย่างออกนอกฝั่ง แล้วทำการเก็บรวมรวมกระดูก โครงกระดูกที่ได้นำไปฝังก่อนเพื่อให้เศษเนื้อและไขมันย่อยสลายตามธรรมชาติ หรือแช่น้ำทะเลไว้ในกระชัง กรณีแช่กระดูกไว้ในกระชังควรระวังไม่ให้กระชังรับน้ำหนักมากเกินไป เพราะกระชังอาจจะขาดทำให้กระดูกสูญหายได้ หากแช่ไว้นานมากจะมีสาหร่ายขึ้นและทำความสะอาดยาก
สำหรับวาฬและโลมาขนาดเล็ก หลังจากชำแหละเนื้อออกหมดแล้ว นำกระดูกแช่น้ำ ใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ ล้างกระดูกให้สะอาด แล้วแช่ในน้ำที่มีส่วนผสมของไฮโดรเยนเปอร์ออกไซด์ 5-10% เพื่อขจัดคราบไขมันและทำให้กระดูกขาวขึ้น กรณีกระดูกที่ขุดขึ้นมาหลังจากล้างทำความสะอาด แล้วอาจแช่ในน้ำที่มีส่วนผสมของไฮโดรเยนเปอร์ออกไซด์ได้เช่นกัน
2.4 เทคนิคการทำความสะอาดครีบโลมา
เทคนิคการจัดการกับครีบของโลมาขนาดเล็ก ครีบประกอบไปด้วยนิ้ว 5 นิ้ว ถ้าแช่รวมกับกระดูกอาจจะทำให้การเก็บชิ้นส่วนให้ครบเป็นไปได้ยาก ควรแยกทำความสะอาด โดยเลาะหนังสีดำออกให้มากที่สุด แช่น้ำไว้ 1-2 คืน เพื่อที่จะให้เนื้อเริ่มเน่าแต่ส่วนของเอ็นยังอยู่แล้วนำกลับมาแช่ในน้ำยาฟอร์มาลินความเข้มข้น 10% ประมาณ 1 คืน เพื่อให้เอ็นที่ติดอยู่มีความแข็งและไม่เน่า แล้วใช้ Forceps และมีดผ่าตัดเลาะส่วนที่เป็นหนังและเนื้อที่เหลือออกให้หมดจนเห็นลักษณะนิ้วและฝ่ามือชัดเจน ล้างน้ำให้สะอาด (อาจฟอกสีด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ แต่ต้องระวังอย่าให้นานเกินไป) จัดครีบให้ได้รูปโดยมีวัสดุแข็งประกบด้านบนและด้านล่างอบฟอร์มาลีนไว้ 1-2 วัน หรือจนกว่าตัวอย่างจะแห้งก็จะได้ครีบสมบูรณ์และสวยงาม
2.5 การเก็บรักษากระดูก
เนื่องจากบ้านเรามีอากาศร้อนชื้น แม้ว่าจะเก็บรักษาโครงกระดูกไว้ในอาคารก็ตาม กระดูกที่เก็บมักมีราขึ้น กระดูกตัวอย่างใหญ่ มักมีไขมันออกมาเสมอ เคยทดลองแช่กระดูกในน้ำที่มีสารละลายคอปเปอร์ แต่ไม่สามารถยับยั้งเชื้อราได้ อย่างไรก็ตามกระดูกที่ได้ลงหมายเลขแล้ว ควรเก็บไว้ในกล่อง และวางไว้ในสถานที่ที่แห้งในตัวอาคารที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก โครงกระดูกที่แห้งมากที่จัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์แม้จะไม่มีเชื้อราขึ้นแต่เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งจะถูกฝุ่นละออกจับเป็นคราบดำและยากแก่การทำความสะอาด