ขนาด
วาฬ/โลมา
  • 3 สิงหาคม 2556
  • 3,769
วาฬ/โลมา สารสนเทศ ทช. ศูนย์ข้อมูลกลาง ทช.

ข้อมูลชีววิทยาและนิเวศวิทยา

การแพร่กระจายของวาฬและโลมาในน่านน้ำไทย วาฬและโลมาเท่าที่พบทั่วไปในน่านน้ำประเทศไทย หากแบ่งตามแหล่งที่อยู่อาศัย สามารถแบ่งได้ 3 ประเภท คือ

          1. ชนิดที่อาศัยอยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย (inland-coastal species) ได้แก่ โลมาอิระวดี (Ocaella breviorstris)

          2. ชนิดที่อาศัยบริเวณชายฝั่งปากแม่น้ำ (coastal Species) ได้แก่ โลมาเผือก (Sousa chinensis) โลมาหัวบาตรหลังเรียบ (Neophocaena phocaenoides)

          3. ชนิดที่อยู่ในทะเลเปิด (oceanic species) ซึ่งพบเฉพาะทางฝั่งทะเลอันดามันเท่านั้น ได้แก่ กลุ่มวาฬหัวทุย (Macrocephalus physeter) โลมาแถบ (Stenella coeruleoalba) วาฬหัวแตงโม (Peponocephala electra) วาฬฟันสองซี่ (Mesoplodon ginkgodens) เป็นต้น

การดำรงชีวิตของวาฬและโลมา
การหาอาหาร
          ในการหาอาหาร จะออกล่าเหยื่อกันเป็นฝูง ฝูงหนึ่งอาจจะมีสมาชิก 3-40 ตัว ตัวเมียและตัวที่มีอายุน้อยจะว่ายอยู่ใกล้ๆ กัน ตัวผู้จะว่ายนำหน้าห่างออกไปในกรณีที่มีการย้ายที่หาอาหาร ในยามที่มีความสุขฝูงวาฬพิฆาตมักจะกระโดดน้ำ ฟาดหัวฟาดหางให้เห็นเป็นครั้งคราว เมื่อถึงยามสืบพันธุ์ วาฬตัวเมียจะคลอดลูกเป็นตัว ใช้เวลาตั้งท้องทีละตัว หลังจากตั้งท้องนาน 1 ปี และทันทีที่คลอดลูกออกมาแม่ปลาวาฬจะใช้ลำตัวดันลูกขึ้นสู่ผิวน้ำ เพื่อสูดอากาศเข้าปอดเป็นครั้งแรกของชีวิต แม่ปลาวาฬจะให้ลูกดูดนมเป็นอาหารเลี้ยงตัวจนกระทั่งลูกขนาดใหญ่พอสมควรจึงหย่านม

การแพร่กระจายของปลาวาฬและโลมาในน่านน้ำไทย
การแพร่กระจายของปลาวาฬและโลมาในน่านน้ำไทย

 

การนอน
          การนอนของวาฬและโลมา ไม่มีระยะเวลาในการนอนที่ยาวนานเหมือนกับมนุษย์หรือสัตว์โดยทั่วไป เป็นเพียงแต่การพักผ่อนกล้ามเนื้อในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เมื่อโลมานอนหลับจะใช้สมองในบางส่วนเพื่อพักผ่อนและอีกส่วนหนึ่งจะใช้ในกระบวนการหายใจให้เป็นปกติ โดยวิธีการนอนของโลมา มันจะคู้ตัว โดยเอาศีรษะและส่วนหางจมอยู่ในน้ำ ส่วนหลังลอยตัวอยู่บนผิวน้ำประมาณ 1 นาที การว่ายน้ำไปในกลุ่มอย่างเงียบๆ โดยอาศัยช่วงระยะเวลาที่ไม่มีภัยคุกคามเป็นการพักผ่อนกล้ามเนื้อไปในตัว หรือการกบดานใต้พื้นน้ำ เป็นการพักผ่อนในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งมีทั้งการหลับตาทั้งสองข้างหรือลืมตาข้างใดข้างหนึ่ง

การใช้สัญญาณเสียงในการสื่อสาร

          การใช้สัญญาณเสียง คือ การปล่อยสัญญาณเสียงที่มีคลื่นความถี่สูง ซึ่งถูกส่งจากบริเวณ Melon gland บนส่วนหัวออกไปด้านหน้า เมื่อไปกระทบกับวัตถุที่ขวางอยู่ เสียงนั้นก็จะสะท้อนกลับมาสู่ตัวรับสัญญาณซึ่งอยู่ใต้ขากรรไกร แล้วส่งต่อไปยังส่วนหูตอนใน เพื่อให้สมองแปลงสัญญาณคลื่นเสียงนั้นว่าเป็นวัตถุชนิดใด ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับระบบโซนาร์ที่ใช้ในปัจจุบัน ประโยชน์จากการใช้สัญญาณเสียง คือ

          1) ใช้แทนการมองเห็นสภาพแวดล้อมใต้น้ำในสภาวะที่มีความขุ่นของน้ำและแสงสว่างไม่เพียงพอ

          2) ช่วยในการบอกทิศทางและตำแหน่งของอาหาร

          3) ติดต่อสื่อสารระหว่างกันในกลุ่ม รวมถึงการกระตุ้นลูกโลมาแรกเกิดให้จำเสียงแม่ได้

          4) การเตือนภัยด้วยสัญญาณเสียง

การสืบพันธุ์ของวาฬและโลมา

          โดยธรรมชาติแล้ววาฬและโลมาเพศผู้จะมีแรงขับทางเพศสูง ทำให้วันหนึ่งๆ สามารถผสมพันธุ์ได้หลายครั้ง ทว่าอาจจะไม่ใช่พ่อพันธุ์ที่ดีอย่างที่คิด เพราะเพียงแค่ 12 วินาที การผสมพันธุ์ก็เสร็จสิ้น ตามสรีระแล้ว อวัยวะเพศของวาฬและโลมาหดอยู่ในตัว จะแสดงออกมาก็ต่อเมื่อได้รับแรงกระตุ้น อีกทั้งองคชาติของโลมายังสามารถหมุนไปรอบๆ ซึ่งวาฬและโลมาตัวผู้สามารถใช้อวัยวะนี้คลำสำรวจสัมผัสสิ่งต่างๆ ใต้น้ำได้ ทั้งนี้ เมื่อวาฬและโลมาเพศผู้เป็นสัตว์ที่มีความต้องการจะผสมพันธุ์อยู่บ่อยๆ มันก็จะพยายามประกบตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์ หลังจากการผสมพันธุ์แล้วจะมีการปฎิสนธิภายใน จากนั้นโลมาและวาฬจะตั้งท้องเป็นเวลา 12 เดือน และคลอดลูกออกมา

          ลูกวาฬและโลมาแรกเกิดจะมีขนาดเมื่อเทียบกับตัวแม่ค่อนข้างใหญ่กว่าสัตว์ชนิดอื่น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรักษา อุณหภูมิในร่างกาย ลูกวาฬและโลมาบางชนิดมีขนอยู่ 2 ข้างของแนวปากบน (snout) และจะหดหายไปเมื่อโตขึ้น วาฬและโลมาส่วนใหญ่คลอดลูกโดยส่วนหางออกมาก่อน เพื่อให้ส่วนของช่องหายใจเป็นส่วนสุดท้ายที่ออกมาสัมผัสน้ำทะเล และสามารถว่ายน้ำได้ทันที โดยโผล่ขึ้นมาสูดอากาศหายใจครั้งแรกในทันทีที่คลอด ลูกแรกเกิดมีขนาดใหญ่ประมาณ 40% ของแม่ ลูกวาฬและโลมาจะว่ายไปกับแม่และรับอาหารจากต่อมน้ำนม (mammary slit) ซึ่งอยู่สองข้างของช่องเพศโดยหัวนมมีกล้ามเนื้อ ยึดรอบสำหรับบีบตัวให้หัวนมโผล่ออกมาขณะให้นมลูก และดึงหัวนมกลับซ่อนในลำตัวเมื่อเสร็จจากการให้นม ปลาวาฬและโลมาจะมีระยะเวลาหย่านมนานมาก ทั่วไปจะมีระยะหย่านมนานประมาณ 2 ปี

การปรับตัวของวาฬและโลมา

          วาฬและโลมามีการปรับตัวหลายๆ ประการเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในน้ำ เช่น มีวิวัฒนาการรูปร่างให้เพรียวทำให้สามารถว่ายน้ำได้เร็ว และเนื่องจากยังใช้ปอดในการหายใจ จมูกหรือช่องหายใจจึงเลื่อนไปอยู่บนสุดของส่วนหัวเพื่อสะดวกในการหายใจ ท่อหายใจกับช่องปากแยกกันเพื่อสะดวกในการกินอาหารใต้น้ำ มีการปรับปรุงระบบควบคุมอุณหภูมิในร่างกายให้อบอุ่นทดแทนขน ซึ่งลดรูปไปเนื่องจากไม่เหมาะสมในการใช้งานใต้น้ำ โดยการมีลักษณะลำตัวเรียวคล้ายตอร์ปิโดทำให้มีอัตราส่วนระหว่างพื้นที่ผิวต่อปริมาตรต่ำ เป็นการลดพื้นที่ที่สัมผัสน้ำ การปรับปรุงโดยเพิ่มชั้นไขมัน (blubber) ใต้ผิวหนังให้หนาขึ้นเป็นฉนวนกันความร้อน โดยในชั้นไขมันจะมีเส้นเลือดหล่อเลี้ยงน้อยป้องกันการแลกเปลี่ยนอุณหภูมิกับน้ำ ระบบเส้นเลือดดำจะถูกล้อมด้วยเส้นเลือดแดงซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่า นอกจากนั้นการปรับตัวโดยลดอัตราการหายใจลง เป็นการลดการสูญเสียความร้อนที่ออกมากับอากาศและเป็นผลให้วาฬและโลมาสามารถดำน้ำได้นาน โดยเฉพาะวาฬหัวทุย (Physeter macrocephalus) สามารถดำน้ำได้ลึกถึง 3,000 เมตร ลูกวาฬและโลมาแรกเกิดจะมีขนาดเมื่อเทียบกับตัวแม่ค่อนข้างใหญ่กว่าสัตว์ชนิดอื่น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรักษาอุณหภูมิในร่างกาย

          สายตาของวาฬและโลมาสามารถรับภาพได้ดีทั้งในน้ำและบนบก หลักฐานจากการฝึกโลมาต่างๆ การแสดงของโลมาจะทำตามลักษณะการเคลื่อนไหวหรือโบกมือของผู้ฝึก โดยเฉพาะในขณะที่โลมากระโดดขึ้นมารับอาหารจากมือผู้ฝึกในระยะสูงได้อย่างแม่นยำ แสดงให้เห็นว่าสายตาของโลมาสามารถมองเห็นภาพบนบกได้ชัดเจน จากลักษณะโครงสร้างของสมองวาฬและโลมา แสดงว่าวาฬและโลมาส่วนใหญ่ไม่มีประสาทในการรับกลิ่นจมูก จึงเลื่อนมาอยู่ส่วนกลางของหัว เนื่องจากไม่จำเป็นในการใช้รับกลิ่น แต่จะสะดวกในการหายใจเหนือผิวน้ำ โดยจะโผล่พ้นน้ำเพียงเล็กน้อยก็สามารถหายใจได้

          วาฬและโลมาจัดเป็นสัตว์สังคมอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีการสื่อสารระหว่างกันได้โดยใช้เสียง โดยเฉพาะในกลุ่มของวาฬและโลมาที่มีฟัน (toothed whales) สามารถใช้ระบบส่งและรับสัญญาณเสียงที่สะท้อนกลับมา (echo) ซึ่งใช้ในการรับรู้สภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว และการหาอาหาร อย่างไรก็ตามไม่มีรายงานการส่งสัญญาณเสียงโดยระบบ echo ในกลุ่มของวาฬและโลมาที่ไม่มีฟันสัญญาณอีกลักษณะหนึ่งซึ่งใช้ในการสื่อสารระหว่างกลุ่มคือการส่งสัญญาณคลื่นเสียงช่วงความถี่ตั้งแต่ 0-3,000 Hz ไกลถึงหลายสิบกิโลเมตร แตกต่างกันในแต่ละชนิด และสามารถรับส่งสัญญาณกันได้

องค์ความรู้ที่น่าสนใจ
  • ปะการังฟอกขาว
    ปะการังฟอกขาว เป็นสภาวะที่ปะการังสูญเสียสาหร่ายเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ภายในเนื้อเยื่อ ทำให้ปะการังอ่อนแอเพราะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอแลปะการังอาจตายไปในที่สุดถ้าหากไม่สามารถทนต่อสภาวะนี้ได้
  • อุทยานใต้ทะเล
    อุทยานใต้ทะเล
  • เกาะในประเทศไทย
    เกาะ หมายถึง บริเวณที่ดิน หิน หรือทรายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ล้อมรอบด้วยน้ำและอยู่เหนือน้ำตลอดเวลา ทั้งนี้เกาะอาจอยู่ในทะเล แม่น้ำ หรือที่ลุ่มขัง เช่น บึง หรือทะเลสาบก็ได้
  • ปะการังเทียม
    ปะการังเทียม
  • แมงกะพรุนพิษ
    เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จัดอยู่ในไฟลัมไนดาเรีย (Cnidaria) เช่นเดียวกันกับดอกไม้ทะเล (sea anemones) และปะการัง แมงกะพรุนที่พบได้บ่อยที่สุดจัดอยู่ในกลุ่ม Scyphozoa
  • PMBC Research Bulletin
    PMBC Research Bulletin
  • พื้นที่อนุรักษ์
    หมายถึง พื้นที่มีคุณค่าทางธรรมชาติ นิเวศ หรือวัฒนธรรมที่ควรจะอนุรักษ์ไว้สำหรับลูกหลานในอนาคต พื้นที่คุ้มครองถูกกำหนดขึ้นตามกฎหมายหรือกฎระเบียบอื่นๆ เพื่อให้เกิดการจัดการในรูปแบบต่างๆ เช่น อุทยานแห่งชาติ ป่าสงวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า การจัดการของพื้นที่คุ้มครองจะมีความหลากหลาย ตั้งแต่พื้นที่ที่มีการจำกัดการเข้าถึงของประชาชนจนถึงพื้นที่ ที่ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ในระดับต่างกัน พื้นที่คุ้มครองครอบคลุมทั้งพื้นที่บนบกและในทะเล
  • ที่ดินชายฝั่ง
    ที่ดินชายฝั่ง
  • เต่ามะเฟือง
    เต่ามะเฟือง