วาฬ/โลมา
- 22 เมษายน 2557
- 825
การท่องเที่ยวชมวาฬและโลมา
ในต่างประเทศการชมโลมาและวาฬนั้น ทำได้ 3 วิธี คือ 1) ทางเรือขนาดกลางถึงใหญ่ 2) เรือแคนู (Sea kayak) และ 3) ทางบก โดยการปีนขึ้นไปดูบนที่สูงบริเวณชายฝั่ง (Hiking) การท่องเที่ยวเพื่อชมวาฬครั้งแรกคือการดูวาฬสีน้ำเงิน (Blue whale) เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1955 ที่ซานดิเอโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1985 ที่ประเทศอังกฤษ นักท่องเที่ยวนิยมไปชมวาฬหลังค่อม (Humpback whale) กันมาก เพราะวาฬหลังค่อมมีพฤติกรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น การโผล่ขึ้นกินอาหาร (Lunge feeding) การกระโดดขึ้นเหนือผิวน้ำทะเล (Breaching) การโบกสะบัดหาง (Tail-slapping) และหลังจากปี ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา ธุรกิจการท่องเที่ยวชมโลมาและวาฬมีการแพร่กระจายไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลก มากกว่า 87 ประเทศ มีนักท่องเที่ยวมากกว่า 9 ล้านคนต่อปี ประมาณรายได้จากธุรกิจนี้ทั่วโลกในปี ค.ศ. 2000 จากนักท่องเที่ยวจำนวน 11.3 ล้านคน ประมาณ 1.475 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งเสริมการท่องเที่ยวชมโลมาและวาฬในประเทศไทย เช่น โลมาอิรวดีที่ปากแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โลมาอิรวดีที่อ่าวตราด จ.ตราด โลมาหลังโหนกหรือโลมาเผือกที่อ่าวขนอม จ.นครศรีธรรมราช โลมาหลังโหนกที่บ้านตะเสะ จ.ตรัง และวาฬบรูด้าบริเวณอ่าวไทยตอนบน นอกชายฝั่งของ จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี การชมโลมาและวาฬโดยทางเรือนั้น หากไม่ปฏิบัติตามคู่มือการชม และจำกัดจำนวนเรือแล้วนั้น ย่อมจะรบกวนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของโลมาและวาฬแน่นอน เช่น รบกวนการกินอาหาร การเลี้ยงดูลูก หรือการผสมพันธุ์ ก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์เหล่านี้ ทำให้บาดเจ็บ หรืออาจเป็นสาเหตุทำให้สัตว์เกิดการเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น ผลกระทบจากเรื่องเสียงใต้น้ำ (Under water sounds) การเฉี่ยวชนจากเรือ (Vessel strike) เป็นต้น ผลกระทบของเสียง (Noise as a stressor) จะไปรบกวนการสื่อสารระหว่างกันในฝูง ลดความสามารถในการได้ยินเสียงระหว่างกัน ทำให้สูญเสียความสามารถในการกำหนดทิศทางการเดินทางและการหาเหยื่อ รบกวนการพักผ่อน หรือปฏิกิริยาของสัตว์ต่อสังคมในฝูงเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเปลี่ยนไปทั้งในระยะสั้นหรือระยะยาวขึ้นกับผลกระทบที่เกิดขึ้นว่ามีมากหรือน้อยเพียงใด
แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ชมโลมาและปลาวาฬ
โลมาและวาฬชนิดที่พบเห็นได้บ่อย รวมทั้งพื้นที่ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชมโลมาและวาฬ ดังนี้
1. โลมาอิรวดี (Irrawaddy dolphin: Orcaella brevirostris) | |
1.1 อ่าวตราด จ.ตราด ไปจรดชายแดนกัมพูชา กลุ่มประชากรทั้งหมดไม่น้อยกว่า 100 ตัว แต่อยู่กระจายเป็นฝูง ฝูงละ 5-20 ตัว | Click |
1.2 ปากแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ออกไปจนถึงอ่างศิลา จ.ชลบุรี ประชากรอย่างน้อย 30 ตัว | Click |
1.3 ปากแม่น้ำท่าจีน อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ประชากรอย่างน้อย 30 ตัว | |
1.4 ปากแม่น้ำบางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ประชากรอย่างน้อย 30 ตัว | Click |
1.5 ทะเลสาบสงขลา (ส่วนของทะเลน้อย จ.พัทลุง) ประชากรเหลืออยู่น้อยมาก อาจน้อยกว่า 20 ตัว | |
1.6 หมู่เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล ประชากรประมาณ 20 ตัว | Click |
2. โลมาหลังโหนก หรือโลมาเผือก (Indo-Pacific Humpback dolphin: Sousa chinensis) | |
2.1 อ่าวขนอม จ.นครศรีธรรมราช ประชากรประมาณ 55 ตัว | Click |
2.2 บ้านตะเสะ อ.กันตัง จ.ตรัง ประชากรประมาณ 50 ตัว | Click |
3. โลมาปากขวด (Indo-Pacific bottlenose dolphin, Tursiops aduncus) | |
กลุ่มประชากรประมาณ 20-30 ตัว แพร่กระจายอยู่ในอ่าวพังงาตอนใน บริเวณเกาะไข่นอก-ไข่ใน จ.พังงา เกาะไม้ท่อน เกาะเฮ และเกาะแอว จ.ภูเก็ต | |
4. วาฬบรูด้า (Bryde’s whale: Balaenoptera edeni) | |
บริเวณอ่าวไทยตอนบน พบบริเวณนอกชายฝั่งของ จ.ชลบุรี สมุทรปราการ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี (นอกจากนี้ยังพบเป็นครั้งคราว บริเวณเกาะราชา จ.ภูเก็ต เกาะสุรินทร์ จ.พังงา) วาฬบรูด้า เป็นสัตว์ประจำถิ่นที่พบได้ในอ่าวไทย ซึ่งอาจมีบางตัวที่มีการอพยพเคลื่อนย้ายตามแหล่งอาหาร |