ขนาด
เต่าทะเล
  • 5 กรกฎาคม 2556
  • 1,451
เต่าทะเล สารสนเทศ ทช. ศูนย์ข้อมูลกลาง ทช.

การแพร่กระจายของเต่าทะเล

          เต่าทะเลที่ขึ้นวางไข่ในประเทศไทยเคยมีรายงานไว้จำนวน 5 ชนิดด้วยกันโดยแหล่งวางไข่เต่าทะเลพบทั้งทางฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันทะเลของไทยในอดีตเคยมีเต่าทะเลชุกชุมทั้งทางฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน

          ฝั่งอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ แม่เต่าทะเลส่วนใหญ่ที่วางไข่บริเวณหมู่เกาะครามต้องว่ายน้ำเป็นระยะทางมากถึง 2,500 กิโลเมตร ใช้เวลามากกว่า 30วันเพื่อเดินทางกลับยังแหล่งหากินหลักบริเวณทะเลซูลู ซึ่งเป็นทะเลอาณาเขตของประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย แม่เต่าทะเลบางส่วนมีแหล่งหากินในทะเลตอนใต้ของประเทศกัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย

          ส่วนในฝั่งทะเลอันดามันเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจการวางไข่แม่เต่าทะเลส่วนใหญ่เริ่มการเดินทางกลับจากหมู่เกาะสิมิลัน ไปหากินบริเวณหมู่เกาะอันดามันของประเทศอินเดียแม่เต่าทะเลแต่ละตัวต้องว่ายน้ำเป็นระยะทางมากกว่า 650 กิโลเมตร หรือใช้เวลาประมาณ 15 วัน จึงถึงแหล่งหากิน โดยเฉลี่ยแม่เต่าทะเลว่ายน้ำด้วยความเร็ว 3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต่อเนื่องทั้งกลางวันและกลางคืน

เส้นทางการเคลื่อนที่ของเต่าทะเลบริเวณทะเลอ่าวไทยและทะเลจีนใต้

เส้นทางการเคลื่อนที่ของเต่าทะเลบริเวณทะเลอ่าวไทยและทะเลจีนใต้

เส้นทางการเคลื่อนที่ของเต่าทะเลบริเวณทะเลอันดามัน

เส้นทางการเคลื่อนที่ของเต่าทะเลบริเวณทะเลอันดามัน

การติดอุปกรณ์เพื่อศึกษาเส้นทางการเคลื่อนที่ของเต่าทะเล

การติดอุปกรณ์เพื่อศึกษาเส้นทางการเคลื่อนที่ของเต่าทะเล

          การศึกษาในปัจจุบัน ยังพบว่า เต่าทะเลมีความสามารถในการรับรู้สนามแม่เหล็กโลกเพื่อใช้ในการทำแผนที่เส้นทางการอพยพย้ายถิ่น ในแต่ละปีเต่าทะเลที่โตถึงวัยเจริญพันธุ์จะว่ายน้ำกลับถิ่นกำเนิดเพื่อผสมพันธุ์ ในบริเวณรัศมีไม่เกิน 10 กิโลเมตรจากชายฝั่งทะเลหน้าหาดทรายที่จะใช้เป็นแหล่งวางไข่ และจะว่ายวนเวียนอยู่บริเวณนั้นจนระยะเวลาไข่ในท้องสุก แล้วจึงมุ่งเข้าไปยังหาดทรายเพื่อการวางไข่ การวางไข่ของเต่าทะเลนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงที่เต่าทะเลวางไข่มากที่สุดในอ่าวไทย คือ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม ส่วนทางฝั่งทะเลอันดามันพบว่า เต่าทะเลขึ้นมาวางไข่มากตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มกราคม เมื่อเต่าทะเลตัวเมียได้รับการผสมพันธุ์กับตัวผู้แล้ว ก็จะว่ายน้ำขึ้นมาวางไข่บนหาดทรายในเวลากลางคืน

          เต่าทะเลแต่ละตัวจะขึ้นมาวางไข่ได้หลายครั้ง เมื่อวางไข่ครั้งแรกประมาณ 50-150 ฟอง และจะคลานลงทะเลอาศัยอยู่ในทะเลบริเวณนั้นอีกประมาณ 2 สัปดาห์ จนเชื้อตัวผู้ที่สะสมอยู่ในเต่าทะเลตัวเมียผสมกับไข่ที่เหลือ ก็จะขึ้นมาวางไข่อีก ก่อนวางไข่เต่าทะเลจะเลือกหาดทรายที่มืดและเงียบสงบแล้วจึงขุดหลุม ณ บริเวณที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึงมีความลึกมากกว่า 50 เซนติเมตร แล้วจึงทำการวางไข่ ไข่ของเต่าทะเลในหลุมจะเพาะพักตามธรรมชาติ คือ อาศัยอุณหภูมิและความชื้นในทรายเป็นเวลาประมาณ 7-12 สัปดาห์ ลูกเต่าทะเลก็จะออกจากไข่ สังเกตได้จากการที่ทรายบริเวณหลุมยุบตัวลงไป ในขั้นตอนนี้ลูกเต่าทะเลจะใช้เวลาอีก 2-3 วัน จึงจะคลานขึ้นถึงปากหลุมในเวลากลางคืน แล้วคลานลงไปในทะเล โดยใช้แสงสะท้อนเส้นขอบฟ้าในทะเลเป็นเครื่องนำทาง เมื่อถึงน้ำทะเลก็จะว่ายออกจากฝั่งไปยังทะเลลึกอีกหลายวัน ในระหว่างนี้จะใช้อาหารที่สะสมในตัวเองเป็นแหล่งพลังงาน ลูกเต่าทะเลนี้คาดว่าจะดำรงชีวิตโดยขึ้นมาหาอาหารพวกแพลงก์ตอน สาหร่าย หรือสัตว์น้ำขนาดเล็กที่อาศัยอยู่บนผิวมหาสมุทร แต่จะมีอาณาเขตการหาอาหารกว้างใหญ่แค่ไหนและข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรนั้น ยังเป็นเรื่องที่ลึกลับอยู่ ส่วนการศึกษาวงจรชีวิตของเต่าทะเลที่ผ่านมานั้น ส่วนใหญ่ได้ทำการศึกษาจากเต่าทะเลที่มีอายุมากกว่า 5-10 ปี (ขนาดกระดอง 35-40 เซนติเมตร) และพบว่าเต่าทะเลกลุ่มนี้ ยกเว้นเต่ามะเฟืองดำรงชีวิตบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีน้ำตื้น มีพืชและสัตว์หน้าดินสมบูรณ์ โดยเต่าตนุจะกินวัชพืชทะเล หญ้าทะเล และผลไม้ในป่าโกงกางที่ลอยในน้ำ เต่ากระกินฟองน้ำในแหล่งปะการัง เต่าหญ้าจะกินสัตว์น้ำขนาดเล็ก ซึ่งในบางครั้งเต่าทะเลข้างต้นก็กินแมงกะพรุนเป็นอาหารด้วย ส่วนเต่ามะเฟืองเป็นเต่าทะเลชนิดเดียวที่ดำรงชีวิตในท้องทะเลลึกตลอดชีวิต และกินแมงกะพรุนเป็นอาหาร โดยธรรมชาติศัตรูของเต่าทะเลในท้องทะเล คือ สัตว์ผู้ล่าต่างๆ เช่น ปลาฉลาม จระเข้ และวาฬเพชรฆาต อัตราการรอดชีวิตของลูกเต่าทะเลคาดว่ามีไม่ถึงร้อยละ 1

วงจรชีวิตของเต่าทะเล

วงจรชีวิตของเต่าทะเล

องค์ความรู้ที่น่าสนใจ
  • ปฏิทินทะเล
    ปฏิทินทะเล
  • ขยะทะเล
    ขยะทะเล
  • วาฬบรูด้า
    วาฬบรูด้า
  • ปะการังฟอกขาว
    ปะการังฟอกขาว เป็นสภาวะที่ปะการังสูญเสียสาหร่ายเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ภายในเนื้อเยื่อ ทำให้ปะการังอ่อนแอเพราะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอแลปะการังอาจตายไปในที่สุดถ้าหากไม่สามารถทนต่อสภาวะนี้ได้
  • พะยูน : มาเรียม
    พะยูน : มาเรียม
  • ป่าชายเลน
    ป่าชายเลน
  • ปลานกแก้ว
    ปลานกแก้ว
  • แมงกะพรุนพิษ
    เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จัดอยู่ในไฟลัมไนดาเรีย (Cnidaria) เช่นเดียวกันกับดอกไม้ทะเล (sea anemones) และปะการัง แมงกะพรุนที่พบได้บ่อยที่สุดจัดอยู่ในกลุ่ม Scyphozoa
  • กัดเซาะชายฝั่ง
    ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 3,151 กิโลเมตร ครอบคลุมจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัดโดยชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย มีความยาว 2,040 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด และชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน มีความยาว 1,111 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลรวม 6 จังหวัด