ขนาด
เต่าทะเล
  • 13 ตุลาคม 2556
  • 3,672
เต่าทะเล สารสนเทศ ทช. ศูนย์ข้อมูลกลาง ทช.

การพัฒนาของไข่เต่าทะเล

          ไข่เต่าทะเลจะฟักตัวโดยอาศัยความร้อนจากแสงอาทิตย์ และความชื้นที่เหมาะสมใต้พื้นทราย สำหรับประเทศไทย อุณหภูมิของหลุมไข่เต่าใต้ทรายอยู่ในช่วง 25-34 องศาเซลเซียส (Chantrapornsyl, 1992a; 1994) ตัวอ่อนในไข่เต่าทะเล จะเริ่มเจริญ แบ่งเซลล์และเริ่มยึดเกาะติดกับเยื่อเปลือกไข่บริเวณส่วนบนของไข่เต่า ในช่วงประมาณ 6-12 ชั่วโมง หลังจากที่แม่เต่าวางไข่แล้วซึ่งสังเกตุได้จากเปลือกไข่บริเวณบน เริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น โดยเริ่มเป็นจุดด้านบน และจะเพิ่มวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ เมื่อใช้เวลาเพาะฟักนานขึ้น ในช่วงนี้ถ้ามีการเคลื่อนย้ายหรือ พลิกหมุนไข่เต่า จะทำให้ตัวอ่อนหลุดออกจากที่ยึดเกาะและตายในที่สุด ดังนั้นถ้ามีความจำเป็น ในการเคลื่อนย้ายไข่เต่าเพื่อการเพาะฟัก ช่วงเวลาที่ปลอดภัยที่สุดต้องอยู่ในเวลา 3-6 ชั่วโมงหลังจากที่แม่เต่าวางไข่ ในกรณีที่พบเต่าทะเลขึ้นวางไข่เกินกว่า 6 ชั่วโมง การเคลื่อนย้ายไข่เต่าทะเลเพื่อการเพาะฟัก ต้องทำอย่างระมัดระวัง โดยเคลื่อนย้ายไข่เต่าในตำแหน่งจุดบนอยู่ตำแหน่งเดิมตลอดเวลา เพื่อมิให้ตัวอ่อนกระทบกระเทือนหรือหลุดจากที่ยึดเกาะและเสียชีวิต เมื่อตัวอ่อนเจริญได้ 12 วัน จะพัฒนาส่วนหัวโต ลูกตาเห็นได้ชัดเจน หัวใจและอวัยวะภายในเริ่มชัดเจน เมื่ออายุ 15 วัน ส่วนของระยางค์เริ่มยื่นออกแต่ยังไม่เป็นรูปขา หางยาว กระดูกสันหลังเริ่มปรากฏชัดขึ้น เมื่ออายุ 25 วัน เริ่มปรากฏการแบ่งเกล็ดบนกระดอง ขาหน้าขาหลังเห็นได้ชัดเจน หางค่อนข้างยาว เมื่ออายุได้ 30 วัน ส่วนหางหดสั้นลง เกล็ดบนกระดองชัดเจนและเริ่มมีสีเข้ม อวัยวะทุกส่วนครบถ้วนแต่ลักษณะบางนิ่ม อายุ 40 วัน ทุกอย่างเจริญครบถ้วนสีสันเหมือนลูกเต่าแรกเกิดทุกอย่าง เพียงแต่ขนาดเล็กกว่า (Chantrapornsyl 1992b)

การเกิดเพศผู้และเพศเมียของลูกเต่าทะเล

การเกิดเพศผู้และเพศเมียของลูกเต่าทะเล
          ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิในหลุมฟักไข่เต่า โดยลูกเต่าทะเลจะเกิดเป็นตัวผู้มากเมื่อไข่เต่าทะเลเพาะฟักในที่อุณหภูมิต่ำ และตัวเมียมากเมื่อเพาะฟักในที่อุณหภูมิสูง

          จากการทดลองของ Yntema และ Mrosovsky ทำการเพาะฟักไข่เต่าทะเลชนิดเต่าหัวฆ้อน (Caretta caretta) ในที่ที่ควบคุมอุณหภูมิ พบว่าไข่เต่าทะเลที่เพาะฟักในที่อุณหภูมิต่ำกว่า 28oC ลูกเต่า ทะเลที่เกิดจะเป็นเพศผู้ทั้งหมด และที่อุณหภูมิ สูงกว่า 32oC ลูกเต่าที่เกิดจะเป็นเพศเมียหมด โดยที่อุณหภูมิประมาณ 30oC ลูกเต่าที่เกิดจะมีอัตราส่วนเพศผู้และเพศเมีย ประมาณ 50% (Yntema และ Mrosovsky, 1983) อุณหภูมิที่การเพาะฟักไข่เต่า ที่ทำให้อัตราการเกิดของเพศผู้ และเพศเมียมีค่า 50% นี้เรียกว่า Pivotal temperature ซึ่งจะแตกต่างกันในเต่าทะเลแต่ละชนิด และแตกต่างกันในแต่ละท้องที่ รายงานของ Mrosovsky (1992) Pivotal temperature ของเต่ากระทำการทดลองที่ Antigua ประมาณ 29.2oC (การทดลองทำในห้องปฏิบัติการที่อุณหภูมิคงที่)

          สรุปได้ว่าการเกิดเพศผู้และเพศเมียของลูกเต่าทะเลที่เกิดขึ้นอยู่กับอุณหภูมิในหลุมฟักไข่เต่า ลูกเต่าทะเลจะเกิดเป็นตัวผู้มากเมื่อไข่เต่าทะเลได้รับการเพาะฟักในที่อุณหภูมิต่ำ และตัวเมียมากเมื่อเพาะฟักในที่อุณหภูมิสูง

การเพาะฟักไข่เต่าทะเล

การเพาะฟักไข่เต่าทะเล
          ไข่เต่าทะเลจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 50-55 วัน ก็จะเกิดเป็นตัว (60-65 วันสำหรับไข่เต่ามะเฟือง) เมื่อลูกเต่าเกิดเป็นตัวแล้วจะโผล่ขึ้นจากหลุมทรายโดยเจาะเปลือกไข่ออกมา ซึ่งลูกเต่าแรกเกิดจะมีจะงอยปากแหลมไว้เจาะเปลือกไข่ เมื่อลูกเต่าทะเลเจาะเปลือกไข่ออกมาแล้วจะทำการขยับตัวพร้อมกันในหลุมใต้ทราย โดยการขยับตัวพร้อมกันของลูกเต่าทะเลนี้ จะทำให้เปลือกไข่ถูกกดยุบตัวลงทำให้เกิดช่องว่างในหลุมทรายทำให้ทรายเบื้องบนยุบตัวลงมาเป็นหลุม และลูกเต่าก็จะขยับตัวเองเคลื่อนตัวขึ้นสู่เบื้องบนเรื่อยๆ จากนั้นจะรอจนถึงกลางคืนจึงจะคลานขึ้นมาจากหลุมพร้อมๆ กันทั้งหมด ซึ่งในธรรมชาติอัตราการเกิดเป็นตัวของลูกเต่าประมาณร้อยละ 80-90 ลูกเต่าที่เกิดเมื่อโผล่ขึ้นมาแล้วก็จะกระจาย คลานมุ่งสู่ทะเลทันที เมื่อลูกเต่าถึงน้ำทะเลก็จะว่ายน้ำได้ทันที จะว่ายน้ำมุ่งสู่ทะเลลึกต่อเนื่องกัน 3-5 วัน โดยไม่หยุดพัก ในระยะนี้ลูกเต่าจะใช้ไข่แดงที่ยังมีสะสมอยู่ในตัวเป็นอาหาร เมื่ออาหารสะสมหมดจึงหยุดพักลอยตัวและหาอาหารกิน โดยอาศัยกับกอพืชหรือสาหร่ายที่ลอยในทะเล หรือวัสดุอื่นๆ ที่ล่องลอยในทะเล ซึ่งในการเดินทางของลูกเต่าทะเลเชื่อว่าจะล่องลอยไปตามกระแสน้ำ ติดไปกับกอวัสดุซึ่งใช้เป็นที่หลบภัยและแหล่งอาหาร และจะเข้ามาหากินตามชายฝั่งเมื่อมีขนาดโตขึ้น คำนวณจากอายุก็ประมาณ 1-2 ปีขึ้นไป ลูกเต่าแรกเกิดทั่วไป จะมีขนาดความยาว กระดองประมาณ 4-4.5 เซนติเมตร (Chantrapornsyl, 1992) โดยลูกเต่ามะเฟืองแรกเกิดความยาวกระดองประมาณ 6 เซนติเมตร

ลูกเต่าทะเล ชนิดต่างๆ

ลูกเต่าทะเล ชนิดต่างๆ

ลูกเต่าที่ได้รับการอนุบาลก่อนถูกปล่อยลงสู่ทะเล

ลูกเต่าที่ได้รับการอนุบาลก่อนถูกปล่อยลงสู่ทะเล

          การเจริญเติบโตของเต่าทะเลในธรรมชาติยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัด จากการศึกษาการเจริญเติบโตของเต่าทะเลชนิดเต่าหญ้า และเต่ากระในบ่อเลี้ยง พบว่าเต่ากระสามารถเจริญเติบโตเร็วกว่าเต่าหญ้า คือสามารถโตได้ถึง 8 กิโลกรัม ในขณะที่เต่าหญ้ามีน้ำหนักเฉลี่ย 4.5 กิโลกรัม ในระยะเวลา 22 เดือน (อุ่นจิต, 2528) เต่าทะเลใช้เวลาเจริญเติบโตจนสามารถแพร่พันธุ์ได้เมื่อมีอายุประมาณ 8-12 ปี น้ำหนัก 35-45 กิโลกรัม (จากพ่อแม่พันธุ์เต่าทะเลที่เลี้ยงในบ่อเลี้ยง, Chantrapornsyl, 1994) แต่จากรายงานการสำรวจเต่าทะเลในธรรมชาติ มีรายงานว่าเต่าตนุของประเทศออสเตรเลีย โตถึงวัยเจริญพันธุ์ใช้เวลา 20-25 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดอัตราการเจริญเติบโตของเต่าทะเลแต่ละตัว เต่าทะเลตัวผู้จะมีลักษณะเด่นคือมีหางยาว ซึ่งแท้จริงแล้วจะเป็นอวัยวะที่ใช้ในการผสมพันธุ์


 

          เนื่องจากแหล่งวางไข่เต่าทะเลแต่ละชนิดจะมีแหล่งจำเพาะ ซึ่งเชื่อกันว่าลูกเต่าทะเลสามารถจดจำ แหล่งกำเนิดได้ทันทีที่เกิดและคลานลงสู่ทะเล โดยภายในช่องจมูกและประสาทตอนหน้า (olfactory) ของเต่าทะเลจะมีประสาทที่ไวต่อการรับกลิ่นหรือสารเคมีมาก ประสาทสัมผัสนี้จะรับรู้ถึงคุณสมบัติทางเคมีของสภาพแวดล้อมบริเวณนั้น และจะบันทึกความทรงจำสภาพแวดล้อมทางเคมีของแหล่งกำเนิดนี้ไว้ เมื่อเต่าทะเลเจริญเติบโตเต็มที่ก็จะหาทางเดินทางกลับมาวางไข่แพร่พันธุ์ในแหล่งเดิม แต่ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า ความทรงจำต่อแหล่งกำเนิดของลูกเต่าทะเล เกิดในขณะที่กำลังดันตัวโผล่จากหลุมทราย หรือว่าในทันทีที่ลงถึงน้ำทะเลโดยเกิดขึ้นพร้อมกับการว่ายน้ำอย่างเต็มที่ มุ่งสู่ทะเลลึก ซึ่งเป็นลักษณะการว่ายน้ำอย่างคลุ้มคลั่ง (frenzy swimming) อย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 3-5 วัน จึงหยุดว่ายน้ำปกติพร้อมเสาะหาอาหารตามกอสวะที่ล่องลอยในทะเล ลักษณะการว่ายน้ำแบบนี้เป็นสัญชาติญาณในการเอาตัวรอดอย่างหนึ่ง เพราะการที่ลูกเต่าว่ายน้ำออกสู่ทะเลเปิดยิ่งห่างฝั่งเท่าไร อันตรายจากศัตรูก็จะลดน้อยลง นอกจากนั้นการว่ายน้ำมากๆ จะเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อให้แข็งแรงเพื่อใช้ชีวิตผจญภัยในธรรมชาติ ลูกเต่าทะเลจะอาศัยตามกอสาหร่ายหรือสิ่งต่างๆ ที่ล่องลอยในทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กต่างๆ เมื่อเติบโตขึ้นประมาณ 1-3 ปี ลูกเต่าจะเริ่มเดินทางเข้าสู่ชายฝั่ง สู่แหล่งอาหารและแหล่งอาศัยต่อไปลูกเต่าทะเลที่ฟักออกเป็นตัว จะยังคงอยู่ในหลุมฟักไข่อีก 1-2 วัน เพื่อรอให้ไข่ฟองที่เหลือฟักตัวออกมา จากนั้นจึงอาศัยในช่วงเวลากลางคืนเพื่อคลานออกจากหลุมพร้อมๆ กัน ก่อนมุ่งหน้าลงสู่ทะเล

ลูกเต่าทะเลที่ฟักออกเป็นตัว จะยังคงอยู่ในหลุมฟักไข่อีก 1-2 วัน
ลูกเต่าทะเลที่ฟักออกเป็นตัว จะยังคงอยู่ในหลุมฟักไข่อีก 1-2 วัน


          ลูกเต่าทะเลที่ฟักออกเป็นตัว จะยังคงอยู่ในหลุมฟักไข่อีก 1-2 วัน เพื่อรอให้ไข่ฟองที่เหลือฟักตัวออกมา จากนั้นจึงอาศัยในช่วงเวลากลางคืนเพื่อคลานออกจากหลุมพร้อมๆกัน ก่อนมุ่งหน้าลงสู่ทะเล

องค์ความรู้ที่น่าสนใจ
  • เกาะในประเทศไทย
    เกาะ หมายถึง บริเวณที่ดิน หิน หรือทรายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ล้อมรอบด้วยน้ำและอยู่เหนือน้ำตลอดเวลา ทั้งนี้เกาะอาจอยู่ในทะเล แม่น้ำ หรือที่ลุ่มขัง เช่น บึง หรือทะเลสาบก็ได้
  • วาฬ/โลมา
    วาฬ/โลมา
  • ป่าชายเลน
    ป่าชายเลน
  • พะยูน
    พะยูน
  • ปะการังฟอกขาว
    ปะการังฟอกขาว เป็นสภาวะที่ปะการังสูญเสียสาหร่ายเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ภายในเนื้อเยื่อ ทำให้ปะการังอ่อนแอเพราะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอแลปะการังอาจตายไปในที่สุดถ้าหากไม่สามารถทนต่อสภาวะนี้ได้
  • ปะการังเทียม
    ปะการังเทียม
  • ปะการัง
    เป็นแนวหินปูนใต้ทะเลในระดับน้ำตื้นที่แสงแดดส่องถึง หินปูนดังกล่าวเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของปะการังหลายๆ ชนิด นอกจากนี้ ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
  • พะยูน : มาเรียม
    พะยูน : มาเรียม
  • พ.ร.บ. ทช.
    พ.ร.บ. ทช.