ขนาด
การใช้ประโยชน์
  • 1 สิงหาคม 2556
  • 18,609

การใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดินชายฝั่ง

พื้นที่ชายฝั่งทะเล เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ แต่ก็มีข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ สามารถแบ่งการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลได้ ดังนี้

1. การท่องเที่ยว
          พื้นที่ชายฝั่งทะเลนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ทั้งจากสภาพภูมิทัศน์ที่สวยงามของเกาะ หาดทราย แนวปะการังและแหล่งหญ้าทะเล แหล่งโบราณคดีใต้น้ำ และแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่เป็นโบราณสถานหรือโบราณคดี ประเพณีและวัฒนธรรมที่กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางทะเลที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี

2. การอุตสาหกรรม
          พื้นที่ชายฝั่งทะเลมีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเป็นนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมากประมาณ 30 แห่ง เนื่องจากเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสุดในการพัฒนา ทั้งด้านความสะดวกในการคมนาคม การขนส่ง สร้างท่าเรือน้ำลึก นอกจากนี้อุตสาหกรรมจำนวนมากจำเป็นต้องใช้น้ำปริมาณมหาศาลในการระบายความร้อน หรือทำความสะอาด หรือเจือจางของเสียก่อนที่จะปล่อยทิ้ง โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่ต้องใช้น้ำจำนวนมากในการหล่อเย็นและมีท่าเรือในการขนส่งเชื้อเพลิง เป็นต้น ปัญหาที่พบมักเป็นเรื่องการบังคับใช้พื้นที่ตามผังเมือง ปัญหามลพิษอุตสาหกรรมและการกำจัดของเสีย ปัญหาการใช้ที่ดินไม่เหมาะสม ความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับนิคมอุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการไม่เพียงพอ โดยเฉพาะน้ำใช้อุตสาหกรรม เป็นต้น

3. การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
          พื้นที่ติดทะเลเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จึงมีการขยายตัวของพื้นที่เพาะเลี้ยงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2530 – 2538 โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ปลา หอย และปู เป็นต้น ปัญหาที่เกิดจากเพาะเลี้ยงชายฝั่งที่สำคัญ ได้แก่ การเกิดโรคระบาด ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม การขาดแคลนพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ เป็นต้น

4. ทำนาเกลือ
          พื้นที่ทำนาเกลือมีประมาณ 120,000 ไร่ โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในบริเวณที่ลุ่มน้ำทะเลท่วมในเขตอ่าวไทยตอนบน ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ตามจังหวัดในเขตตะวันออกและปัตตานีบางส่วน

5. แหล่งชุมชนและเมือง
          การตั้งถิ่นฐานของชุมชนในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ส่วนใหญ่เป็นแหล่งชุมชนขนาดเล็กที่มีอาชีพประมงดั้งเดิมและการค้าขายที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรประมง ส่วนใหญ่จะตั้งถิ่นฐานแรกๆ ตามปากแม่น้ำสายหลัก ต่อมาชุมชนมีการขยายตัวเชื่อมโยงกับชุมชนข้างเคียงจนเป็นผืนเดียวกัน กลายเป็นเมืองหลักขนาดใหญ่ขึ้น มีความหนาแน่นจึงเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ปัญหาที่พบ ได้แก่ ขยะ ของเสียและน้ำเสียจากชุมชน การบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน ตลอดจนการก่อสร้างรุกล้ำแนวชยฝั่งซึ่งเป็นที่ดินสาธารณะ

6. แหล่งป่าไม้
          ป่าชายเลนมีสองกลุ่ม คือ กลุ่มไม้โกงกาง ซึ่งจะขึ้นหนาแน่นใกล้ฝั่งน้ำนอกสุดของป่าชายเลน และถัดเข้ามาเป็นต้นจาก ไม้แสม และไม้พังกา ในอดีตป่าชายเลนมักถูกมองว่าเป็นที่ดินว่างเปล่าไร้ประโยชน์ มีค่าน้อย จึงถูกแปรสภาพไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น เช่น ทำนากุ้ง ซึ่งเป็นการมองข้ามความสำคัญของป่าชายเลนที่มีความสำคัญหลายด้าน เช่น การป้องกันลมพายุ ป้องกันการพังทลายของดินแนวฝั่ง ช่วยทำความสะอาดน้ำเสีย ตลอดจนเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและแหล่งความรู้ รวมไปการให้ผลผลิตจากป่าชายเลน เช่น ไม้ฟืน วัสดุก่อสร้าง ถ่านไม้ สี กระดาษ รวมทั้งเป็นแหล่งอาหารและระบบนิเวศที่สำคัญ

7. การทำเหมืองแร่และเหมืองทราย
          ในอดีตดีบุกเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งประเทศไทยสามารถผลิตได้ถึง 300,000 ตันต่อปี เหมืองแร่ดีบุกส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้ และดำเนินการทั้งบนบกและในทะเล (บนไหล่ทวีป) ปัจจุบันตลาดแร่ดีบุกมีลดลงและไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนจึงไม่พบการทำเหมืองมากเช่นในอดีต แต่ยังคงพบการทำเหมืองทรายอุตสาหกรรม ทำให้มีปัญหาของเสียทั้งตะกอนและน้ำเสีย การพังทลายของชายหาด การสูญเสียหรือการลดลงของคุณค่าทางสุนทรียภาพของชายหาด และที่สำคัญมีผลกระทบต่อระบบนิเวศบริเวณแนวปะการัง

8. พื้นที่รับน้ำ
          การจัดการทรัพยากรน้ำบริเวณลุ่มน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการผลิตและรักษาน้ำ ทั้งการชลประทาน การผลิตประปา และทรัพยากรอื่นๆ ที่มีน้ำเป็นพื้นฐาน รวมทั้งการควบคุมการกัดเซาะพังทลายและน้ำท่วม การป้องกันคุณค่าความงามต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำ น้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเลมีบทบาทที่มีประโยชน์ต่างๆ หลายประการ เช่น เป็นตัวช่วยนำตะกอนดินและทรายไปกระจายตามริมฝั่งและแนวชายหาด การรักษาทางน้ำที่สามารถเดินเรือไว้ โดยการขุดลอกตะกอนออก และการป้องกันการแทรกซึมของน้ำเค็มจากทะเลสู่แผ่นดิน

9. การคมนาคมและขนส่ง
          ท่าเรือและการขนส่งทางเรือมีบทบาทสำคัญทั้งทางด้านการคมนาคมและขนส่งสินค้ามาเป็นเวลาช้านาน ท่าเรือและที่จอดเรือตามแนวชายฝั่งทะเลส่วนใหญ่เป็นท่าเรือประมงขนาดเล็กไม่มีบทบาทในด้านการขนส่งสินค้า ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนาโครงข่ายถนนและทางรถไฟเชื่อมโยงไปยังพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติม

องค์ความรู้ที่น่าสนใจ
  • ขยะทะเล
    ขยะทะเล
  • พะยูน
    พะยูน
  • แมงกะพรุนพิษ
    เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จัดอยู่ในไฟลัมไนดาเรีย (Cnidaria) เช่นเดียวกันกับดอกไม้ทะเล (sea anemones) และปะการัง แมงกะพรุนที่พบได้บ่อยที่สุดจัดอยู่ในกลุ่ม Scyphozoa
  • กัดเซาะชายฝั่ง
    ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 3,151 กิโลเมตร ครอบคลุมจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัดโดยชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย มีความยาว 2,040 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด และชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน มีความยาว 1,111 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลรวม 6 จังหวัด
  • PMBC Research Bulletin
    PMBC Research Bulletin
  • ThaiToxicMarineLife
    ThaiToxicMarineLife
  • วาฬ/โลมา
    วาฬ/โลมา
  • PMBC Special Publication
    PMBC Special Publication
  • ทุ่นในทะเล
    ทุ่นในทะเล