ขนาด
สัณฐานชายฝั่ง
ภูมิประเทศพื้นที่ชายฝั่งทะเลไทย

          ลักษณะทางภูมิประเทศของพื้นที่ชายฝั่งไทย สามารถแยกตามภูมิภาค ได้ดังนี้

1. ภาคใต้
          ลักษณะเป็นแหลมยื่นออกไปในทะเลเรียกว่า คาบสมุทรมลายู เริ่มจากบริเวณคอคอดกระที่ประมาณพิกัดรุ้ง 10 องศาเหนือและยื่นยาวลงไปทางใต้ จนถึงประเทศมาเลเซีย บริเวณจังหวัดชุมพรและจังหวัดระนองที่เป็นบริเวณของคอคอดกระเป็นส่วนที่แคบที่สุดของคาบสมุทร กว้างประมาณ64กิโลเมตร มีชายฝั่งทะเลขนาบอยู่สองด้าน คือ ฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน ลักษณะภูมิประเทศของภาคใต้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย

          1.1 ทิวเขา
          ภาคใต้ประกอบด้วย 3 แนว เรียงลำดับจากเหนือไปใต้ คือ ทิวเขาภูเก็ต ทิวเขานครศรีธรรมราช และทิวเขาสันกาลาคีรี
          1.1.1 ทิวเขาภูเก็ต จากปลายสุดของทิวเขาตะนาวศรี บริเวณอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง พาดผ่านลงไปทางใต้ เป็นแนวเขตจังหวัดระนองกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่กับจังหวัดสุราษฎร์ธานีจากนั้นผ่านเข้าไปจังหวัดกระบี่และทอดตัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือบรรจบกับทิวเขานครศรีธรรมราชบริเวณอำเภอทุ่งสง-ท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีความยาว 517 กิโลเมตร มียอดเขาที่สูงที่สุดเรียกว่า เขาหลังคาตึก สูง1,395เมตร
          1.1.2 ทิวเขานครศรีธรรมราช เริ่มจากบริเวณอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไปทางใต้เป็นแนวเขตแบ่งจังหวัดนครศรีธรรมราชกับจังหวัดสุราษฎร์ธานีจังหวัดพังลุงกับจังหวัดตรังและจังหวัดสตูลกับจังหวัดสงขลา บรรจบทิวเขาสันกาลาคีรีบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดสตูล มีความยาว 319 กิโลเมตรยอดเขาสูงสุดเรียกว่า เขาหลวง ซึ่งเป็นยอดเขาสูงที่สุดของภาคใต้
          1.1.3 ทิวเขาสันกาลาคีรี เริ่มจากชายฝั่งทะเลบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดสตูล ทอดเป็นแนวยาวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตามแนวพรมแดนไทย-มาเลเซีย ผ่านจังหวัดสงขลา ยะลา และนราธิวาส ไปสิ้นสุดบริเวณอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาสมีความยาว 528 กิโลเมตร ยอดเขาสูงสุดเรียกว่า ฮูลูติติปาชา สูง 1,535 เมตร

          1.2 ที่ราบชายฝั่งทะเลอ่าวไทย
          บริเวณชายฝั่งทะเลจากจังหวัดชุมพรมีลักษณะเป็นที่ราบต่อเนื่องลงไปจนถึงจังหวัดนราธิวาส ขนาดค่อนข้างใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับทางฝั่งทะเลอันดามัน ทั้งนี้ เนื่องจากชายฝั่งอ่าวไทยเป็นลักษณะของฝั่งทะเลแบบยกตัว บริเวณที่เคยเป็นทะเลตื้นริมฝั่งได้เปลี่ยนสภาพเป็นพื้นดินโดยการทับถมของโคลนตะกอนที่แม่น้ำและกระแสน้ำในทะเลพัดพามาจนเกิดเป็นที่ราบขึ้น ตั้งแต่อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงไปถึงจังหวัดนราธิวาสตะกอนเหล่านี้มีอายุในยุคควอเทอร์นารี แผ่นดินบริเวณนี้จึงเพิ่งเกิดมาได้ไม่นาน เช่นเดียวกับบริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยาในภาคกลาง ลักษณะของชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยมีแนวค่อนข้างเรียบตรง ที่มีบริเวณน้ำตื้นกว้างขวาง ชายหาดหลายแห่งเป็นหาดทราย เนื่องจากธรณีวิทยาเป็นหินทรายในหมู่หินโคราช และตั้งแต่บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปจะเป็นหาดโคลน โดยมีป่าชายเลนปกคลุมตามบริเวณริมฝั่ง และพบหาดทรายที่สวยงามอีกบริเวณแหลมสมิหรา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เนื่องจากมีหินแกรนิตอยู่ในบริเวณนั้น

          1.3 ที่ราบชายฝั่งทะเลอันดามัน
          เป็นฝั่งทะเลแบบยุบตัว จึงมีลักษณะภูมิประเทศแตกต่างจากฝั่งทะเลอ่าวไทยอย่างชัดเจน คือ บริเวณที่ราบชายฝั่งด้านนี้มีลักษณะแคบ บางแห่งพบภูเขาจรดชายฝั่ง ทำให้ตามแนวฝั่งทะเลมีหน้าผาชันและมีลักษณะเว้าแหว่งมาก มีอ่าวใหญ่น้อยและเกาะต่างๆมากมาย นอกแนวฝั่งออกไปในทะเลพื้นทะเลลาดชันลึกลงอย่างรวดเร็วจึงไม่ค่อยมีบริเวณน้ำตื้นกว้างขวางเช่นฝั่งทะเลอ่าวไทย นอกจากนี้จะเห็นได้จากการพบปากแม่น้ำที่มีความกว้างมากกว่าปกติ (ชะวากทะเล) จนมีลักษณะคล้ายอ่าวมากกว่าปากแม่น้ำและจะพบลำน้ำเป็นแม่น้ำสายสั้นๆ จากการยุบตัวของชายฝั่งทำให้พื้นแผ่นดินหลายบริเวณถูกน้ำทะเลไหลท่วมกลายเป็นพื้นน้ำที่มีน้ำตื้น เช่น อ่าวพังงา และจะมีส่วนยอดของภูเขาหินปูนโผล่พ้นน้ำขึ้นมา กลายเป็นเกาะขนาดเล็กเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก

2. ภาคตะวันตก
          พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันตก ประกอบด้วย จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีลักษณะภูมิประเทศแบ่งได้ ดังนี้

          2.1 ทิวเขา
          แนวทิวเขาภาคตะวันตกยาวต่อเนื่องจากเหนือไปใต้ อยู่ทางด้านตะวันตกของภาค ประกอบด้วยทิวเขา 2 แนว คือ ทิวเขาถนนธงชัยกลางและทิวเขาตะนาวศรี ทิวเขาถนนธงชัยกลางเป็นทิวเขาที่ยาวต่อเนื่องมาจากภาคเหนือผ่านมาจากจังหวัดตาก และไปสิ้นสุดบริเวณตะวันออกของลุ่มน้ำแควน้อยจังหวัดกาญจนบุรี มีความยาวรวม 880กิโลเมตร ส่วนทิวเขาตะนาวศรี เริ่มจากบริเวณทางตอนเหนือของด่านพระเจดีย์สามองค์ในอำเภอสังขละบุรีจังหวัดกาญจนบุรี ทอดตัวยาวลงไปทางใต้ผ่านจังหวัดราชบุรีเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ไปสิ้นสุดที่บริเวณอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง มีความยาว834กิโลเมตร โดยทิวเขาทั้ง 2 แห่งเป็นภูเขาสูงใหญ่มียอดที่สูงเกินกว่า 1,000 เมตรเป็นจำนวนมาก

          2.2 ที่ราบลุ่มน้ำ
          ที่ราบลุ่มน้ำที่มีอาณาเขตอยู่ในท้องที่จังหวัดชายทะเล ได้แก่ ที่ราบลุ่มน้ำแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และที่ราบลุ่มน้ำแม่น้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี โดยที่ราบลุ่มน้ำแม่น้ำแม่กลองเป็นพื้นที่ราบลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของภาคตะวันตก และเป็นเขตเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด เกิดจากการทับถมของตะกอนจากแม่น้ำแม่กลองที่ไหลมาจากต้นน้ำแม่น้ำแควใหญ่และแม่น้ำแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนที่ราบลุ่มแม่น้ำเพชรบุรีเกิดจากการทับถมของตะกอนจากแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และไหลลงทะเลที่บริเวณอ่าวบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

          2.3 ที่ราบชายฝั่งทะเล
          ชายฝั่งทะเลของภาคตะวันตกเริ่มจากบริเวณอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ไปถึงอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีความยาว 315 กิโลเมตร พื้นที่บริเวณชายฝั่งจังหวัดเพชรบุรีมีพื้นที่ราบค่อนข้างกว้างและเป็นแหล่งพื้นที่ป่าชายเลน หลังจากบริเวณอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปพื้นที่จะเป็นที่ราบแคบๆ บางช่วงมีภูเขาเตี้ยๆ ประชิดชายฝั่ง เช่นเขาตะเกียบและเขาเต่า อำเภอหัวหิน เขาคุ้งตะโหนดและเขาสามร้อยยอด อำเภอปราณบุรี เป็นต้น ชายฝั่งทะเลส่วนใหญ่เป็นหาดโคลนหรือทรายปนโคลน ส่วนหาดทรายก็มีหลายแห่งที่สำคัญ ได้แก่ หาดชะอำหาดหัวหิน หาดอ่าวประจวบคีรีขันธ์ และหาดอ่าวมะนาว เป็นต้น

3. ภาคตะวันออก
          ลักษณะภูมิประเทศของภาคตะวันออกประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ทิวเขา พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำและที่ราบลอนลาดและพื้นที่ราบชายฝั่งทะเล

          3.1 ทิวเขา
          เป็นแนวยาวอยู่ทางตอนกลางของภาค ตามแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยทิวเขา 2 แนว คือ ทิวเขาจันทบุรี และทิวเขาบรรทัด
          3.1.1 ทิวเขาจันทบุรี เริ่มจากบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ไปสิ้นสุดที่บริเวณอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี มีความยาว281กิโลเมตร ยอดสูงสุด คือ เขาสอยดาวใต้ ทิวเขานี้มีลักษณะสันปันน้ำแบ่งน้ำไหล 2ทาง ทางเหนือไหลลงแม่น้ำปราจีนบุรี บางปะกง ส่วนทางใต้เป็นแม่น้ำสายสั้นๆ ไหลลงสู่อ่าวไทย
          3.1.2 ทิวเขาบรรทัด อยู่ถัดทิวเขาจันทบุรีไปทางตะวันออก มีทิศทางตามแนวเหนือ ใต้ ตลอดแนวกั้นพรมแดนประเทศไทยกับกัมพูชา ตั้งต้นจากอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด จนสิ้นสุดทิวเขาที่บริเวณแหลมสารพัดพิษ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด มีความยาว 144 กิโลเมตร ทิวเขานี้มีความสูงต่ำกว่าทิวเขาจันทบุรี

          3.2 ที่ราบลุ่มน้ำและที่ราบลอนลาด
          บริเวณที่ราบลุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออกคือ ที่ราบลุ่มน้ำปราจีนบุรี บางปะกงโดยที่แม่น้ำปราจีนบุรี มีต้นน้ำเกิดจากแม่น้ำพระปรงและแม่น้ำหนุมานไหลมารวมกันที่บริเวณอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี จากนั้นไหลไปทางทิศตะวันตกบรรจบกับแม่น้ำนครนายก เป็นแม่น้ำบางปะกงที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา และไหลลงทะเลอ่าวไทย ในเขตอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา บริเวณพื้นที่ราบลุ่มน้ำนี้จะค่อยๆ ลาดต่ำจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก

          3.3 ที่ราบชายฝั่งทะเล
          ที่ราบชายฝั่งทะเลในภาคตะวันออกพบเป็นบริเวณแคบๆ ตั้งแต่บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ไปจนถึงแหลมสารพัดพิษ จังหวัดตราด โดยเกิดจากการกัดเซาะและการทับถมของแม่น้ำสายสั้นๆ ที่ไหลจากทิวเขาจันทบุรีลงสู่ทะเลอ่าวไทย เช่น แม่น้ำระยอง แม่น้ำประแส แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำเวฬุ และแม่น้ำตราด

4. ภาคกลาง
          ลักษณะเป็นที่ราบลุ่มต่ำ เกิดจากการทับถมของตะกอนจากปากแม่น้ำ 4 สายหลักที่ไหลลงสู่อ่าวไทย ได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง ท่าจีน เจ้าพระยา และบางปะกง ที่ราบลุ่มต่ำนี้ในอดีตเกิดจากการถอยร่นของน้ำทะเลซึ่งลดระดับลง ปรากฏเป็นพื้นที่ที่ราบลุ่มต่ำขนาดใหญ่และมีพื้นที่ต่อเนื่องกับที่ราบลุ่มน้ำทางตอนเหนือ