ระบบนิเวศ
- 1 สิงหาคม 2556
- 18,521
แหล่งทรัพยากรชายฝั่งทะเล
แหล่งทรัพยากรชายฝั่งทะเล ที่สำคัญประกอบด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ชายฝั่งทะเล โดยมีองค์ประกอบหลักๆ ดังนี้
1. ป่าชายเลน
ในอดีตป่าชายเลนมีกระจายอยู่ทั่วไปตามแนวฝั่งทะเล แต่จากกระแสการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง ทำให้ป่าชายเลนถูกบุกรุกทำลายไปเป็นจำนวนมาก คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2534 ให้ระงับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนโดยเด็ดขาด แต่มติดังกล่าวยังไม่ชัดเจนในการปฏิบัติ ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2543 และวันที่ 17 ตุลาคม 2543 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการแก้ไขปัญหาการจัดการป่าชายเลน โดยไม่อนุมัติให้มีการทำสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน
2. ป่าไม้บนพื้นที่บก
เป็นสังคมพืชหลากหลายชนิดที่กระจายอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ได้แก่ ป่าดิบชื้น (Tropical Evergreen forest) ที่อยู่บนพื้นที่สูงหรือต้นน้ำป่าชายหาด (Beach forest) ที่พบตามแนวฝั่งทะเล และป่าบึงหรือป่าพรุ ( Fresh Water Swamp forest) ที่อยู่ตามบึงน้ำและที่ลุ่มน้ำขัง ซึ่งมีเนื้อที่รวมกันในจังหวัดชายฝั่งทะเลประมาณ 12.35 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ร้อยละ 61.36 อยู่ในภาคใต้ ที่เหลือเป็นภาคตะวันออกร้อยละ 21.39 และภาคกลางร้อยละ 17.23 ปัญหาที่สำคัญคือการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และการบุกรุกพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่อง
3. แหล่งหญ้าทะเล
เป็นพืชน้ำที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล ผลผลิตจากกระบวนสังเคราะห์แสง ของหญ้าทะเลให้ทั้งอาหารและอ๊อกซิเจนแก่สิ่งมีชีวิตในทะเลบริเวณที่มีหญ้าทะเลขึ้นอยู่จึงเป็นแหล่งอาหาร เป็นที่วางไข่ และหลบซ่อนศัตรูของสัตว์น้ำวัยอ่อน โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายาก เช่น เต่าทะเล พะยูน รวมทั้งยังช่วยชะลอคลื่นป้องกันการพังทลายของชายฝั่ง ช่วยกรองและปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น ปัญหาการเสื่อมโทรมของหญ้าทะเลเกิดได้ทั้งการเสื่อมโทรมของพื้นที่ตามธรรมชาติ และจากกิจกรรมการพัฒนาบริเวณชายฝั่งทะเล
4. แหล่งปะการัง
ทรัพยากรที่มีความหลากหลายบริเวณชายฝั่งทะเล เป็นที่อยู่อาศัยและเป็นแหล่งโซ่อาหารของสัตว์ทะเล ปะการังเป็นสัตว์ที่มีโครงสร้างหินปูนห่อหุ้มตัวไว้ โดยพื้นที่ที่พบจะต้องเหมาะสมคือ มีคุณภาพน้ำที่ดี ใส ระดับความเค็มและอุณหภูมิของน้ำทะเลที่เหมาะสม และด้วยความสวยงามของแนวปะการัง จึงทำให้ปะการังเป็นที่ต้องการมาเยี่ยมชม เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งก็มีผลกระทบต่อปะการังตามมาด้วยเช่นกัน ปัญหาสำคัญต่อปะการังคือการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการธรรมชาติ เช่น คลื่นลมรุนแรง การระบาดของดาวมงกุฎหนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว (coral bleaching) ทำให้ปะการังตายเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ในการท่องเที่ยว การทำประมง และการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง ทั้งน้ำเสีย ตะกอน ขยะและของเสียอื่นๆ ระบายลงสู่ทะเลมากขึ้น