กัดเซาะชายฝั่ง
- 9 กรกฎาคม 2556
- 3,044
สาเหตุของปัญหาการกัดเซาะในไทย
ชายฝั่งทะเลประเทศไทย มีลักษณะหลากหลายเนื่องจากโครงสร้างทางธรณีวิทยาของพื้นที่ ที่มีสภาพแวดล้อมต่างๆกัน ซึ่งจำแนกออกได้เป็นชนิดต่างๆ คือ
1. การใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งอย่างไม่เหมาะสมหรือผิดประเภท
ปัจจุบันมีการรุกเข้าใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเลเพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้ที่ดินชายฝั่งเปลี่ยนแปลงจากระบบนิเวศทางธรรมชาติกลายเป็นพื้นที่ชุมชน ที่อยู่อาศัย พื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่น เช่น การสร้างคอนโดมิเนียม บังกะโล บ้านพักตากอากาศ เป็นต้น มีผลให้เกิดการสูญเสียดุลยภาพตามธรรมชาติของชายฝั่งทะเล นอกจากนี้การใช้ประโยชน์ที่ดินชายฝั่งทะเลที่ไม่สอดคล้องกับสมรรถนะที่ดิน เช่น การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนเป็นพื้นที่การเพาะเลี้ยงกุ้ง เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สภาพที่ดินในบริเวณนั้นง่ายต่อการกัดเซาะได้มากขึ้น
2. การขาดปริมาณตะกอนสะสมตัวตามแนวชายฝั่งทะเล
ปริมาณตะกอนที่สะสมตัวบริเวณชายฝั่ง เกิดขึ้นจากการสลายตัวผุพังของหินวัตถุต้นกำเนิดดินบริเวณต้นน้ำ ซึ่งถูกพัดพาหรือไหลลงมาตามแม่น้ำลำคลองผ่านที่ราบบริเวณชายฝั่งทะเล ลงสู่ทะเลทางปากน้ำลำคลองสะสมตัวอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลปริมาณตะกอนที่ถูกพัดพามากับแม่น้ำใหญ่หลายสายจะถูกกักเก็บไว้เหนือเขื่อนสำคัญหลายๆ แห่ง เป็นผลให้ตะกอนที่จะสะสมตัวอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลมีปริมาณลดลง และยังเกิดจากการตักหรือดูดดินเลน ตะกอนทรายในบ่อกุ้ง ปากแม่น้ำไปใช้ประโยชน์ในกิจการต่างๆรวมทั้งการขนส่งทางน้ำอีกด้วย
3. การพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล
โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลขนาดใหญ่ มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการชายฝั่งทะเลตามธรรมชาติ เช่น การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมด้านอ่าวไทย โดยทำการถมทะเลและสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ในทะเล ซึ่งกีดขวางกระบวนการเคลื่อนตัวของมวลทรายชายฝั่งทะเล นอกจากนี้กิจกรรมต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น การก่อสร้างโรงแรม รีสอร์ท และบ้านพักอาศัย และการดูดน้ำบาดาลมาใช้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ชายฝั่งทะเลเกิดปัญหาแผ่นดินทรุด และมักมีปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเล รวมทั้งการก่อสร้างถนนและทางรถไฟขนานกับแนวชายฝั่งทะเลเป็นสาเหตุที่ทำให้ตะกอนบนบกไม่สามารถเคลื่อนตัวสู่ชายหาดได้ตามธรรมชาติ
4. กระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ตามธรรมชาติ
กระบวนการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งทะเลตามธรรมชาติ อันเกิดจากจากอิทธิพลของคลื่นกระแสน้ำขึ้น-น้ำลง ลมและพายุ เป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการพัดพาและเคลื่อนที่ของตะกอนตามแนวชายฝั่งทะเล และก่อให้เกิดเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลในลักษณะต่างๆ ปัจจัยที่มีความสำคัญ มีดังนี้
4.1 คลื่น บริเวณอ่าวไทยคลื่นขนาดเล็กสูงน้อยกว่า 2 เมตร และขนาดใหญ่สูงประมาณ 2 เมตร เกิดในบริเวณที่เปิดโล่งไม่มีเกาะกำบัง โดยคลื่นขนาดใหญ่มักเกิดในบริเวณอ่าวไทยด้านตะวันออกของภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัด สุราษฎร์ธานีลงไป โดยเกิดจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงและมีระยะช่วงลมพัดนาน สำหรับคลื่นในทะเลอันดามันมีความสูงระหว่าง 0.3-1.5 เมตร เกิดจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เป็นหลัก
4.2 กระแสน้ำ บริเวณด้านในอ่าวไทยจะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ชายฝั่งทะเลมากกว่าในบริเวณกลางอ่าว ซึ่งช่วงของการขึ้นลงของน้ำชนิดน้ำเดี่ยวจะมีความแรงมากกว่าชนิดน้ำคู่ สำหรับในทะเลอันดามันกระแสน้ำในแนวทิศเหนือ-ใต้ จะมีความรุนแรงกว่ากระแสน้ำในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ในฤดูลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้กระแสน้ำในช่วงน้ำลงจะมีความรุนแรงกว่ากระแสน้ำในช่วงน้ำขึ้นจึงทำให้เกิดตะกอนมากกว่า ซึ่งตะกอนจะถูกพัดพาไปสะสมตัวตามทิศทางการไหลของกระแสน้ำ
4.3 น้ำขึ้น-น้ำลง อ่าวไทยมีการขึ้นลงของน้ำทะเล 3 ชนิด คือ น้ำเดี่ยว (diurnal) น้ำผสมชนิดน้ำคู่ (mixed, semidiurnal dominant) และน้ำผสมชนิดน้ำเดี่ยว (mixed, diurnal dominant) โดยบริเวณอ่าวไทยตอนบน มีค่าของช่วงความแตกต่างระหว่างน้ำขึ้น-น้ำลงเฉลี่ยประมาณ 1.5 เมตร ขณะที่ฝั่งอันดามันชนิดน้ำขึ้นน้ำลงจะเป็นแบบน้ำผสมชนิดน้ำคู่ และมีค่าของช่วงความแตกต่างระหว่างน้ำขึ้น-น้ำลงเฉลี่ยแต่ละแห่งไม่เท่ากัน ทั้งนี้ชนิดและค่าของช่วงความแตกต่างระหว่างน้ำขึ้น-น้ำลงมีผลต่อการสะสมของตะกอน
4.4 ลมและพายุ บริเวณอ่าวไทยได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือระหว่างเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ และลมตะวันออก ซึ่งมีอิทธิพลทำให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่เคลื่อนที่เข้าสู่ชายฝั่งทะเล ขณะที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ (ลมว่าวหรือลมตะเภา) ซึ่งพัดระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนจะพัดเอามวลทรายกลับคืนเข้าสู่ชายฝั่ง สำหรับฝั่งอันดามันจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะก่อให้เกิดฝนตกชุกบริเวณชายฝั่ง นอกจากนี้พายุที่ก่อตัวในทะเลจีนใต้จะเคลื่อนที่เข้าสู่อ่าวไทย เนื่องจากชายฝั่งทะเลอ่าวไทยทางภาคใต้เปิดโล่งจึงได้รับผลกระทบโดยตรงจากพายุบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา พายุเหล่านี้จะพัดผ่านและสลายตัวทางชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน
5. การขาดระบบข้อมูลพื้นฐาน
ในปัจจุบัน ข้อมูลที่จำเป็นต่อการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่บริเวณชายฝั่งของไทยยังขาดระบบการจัดเก็บและรวบรวมที่มีความต่อเนื่องและทันสมัย ข้อมูลเหล่านี้ ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะข้อมูลของลมและคลื่นในทะเลจำเป็นต้องมีการนำข้อมูลลมที่วัดได้จากสถานีบนฝั่งมาปรับเทียบให้ถูกต้องตรงกับข้อมูลลมในทะเล ซึ่งปัจจุบันมีการตรวจวัดอยู่บ้างเพียงบางบริเวณจากนั้นจึงคำนวณหาความสูง คาบเวลา และทิศทางของคลื่นในทะเล เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการศึกษาและทำการวิเคราะห์โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในการประเมินและติดตามตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป