กัดเซาะชายฝั่ง
- 12 กรกฎาคม 2566
- 768
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลง (2564)
จากการสำรวจ วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงการกัดเซาะชายฝั่งปี พ.ศ. 2560, 2561, 2562 และ 2563 สามารถคาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสถานภาพชายฝั่งทะเล
เปรียบเทียบระยะทางการกัดเซาะชายฝั่งทะเลระหว่างปี พ.ศ.2560, 2561, 2562 และ 2563
เปรียบเทียบพื้นที่กัดเซาะชายฝั่งทะเลที่มีการดำเนินการแก้ไข ระหว่างปี พ.ศ. 2560, 2561, 2562 และ 2563
เปรียบเทียบพื้นที่กัดเซาะชายฝั่งทะเล ปี พ.ศ. 2560, 2561, 2562 และ 2563
เปรียบเทียบพื้นที่มีการดำเนินการแก้ไขแล้ว ปี พ.ศ. 2560, 2561, 2562 และ 2563
เมื่อนำข้อมูลเปรียบเทียบการกัดเซาะชายฝั่งรายจังหวัด แสดงดังรูปและตาราง สามารถประมวลข้อมูลสถานการณ์กัดเซาะชายฝั่ง ได้ดังนี้
1. ระยะทางการกัดเซาะระหว่างปี พ.ศ. 2560 – 2561 ภาพรวมพบว่าการกัดเซาะลดน้อยลง แต่ในปี พ.ศ. 2562 พบการกัดเซาะเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2561 ระยะทาง 2.61 กิโลเมตร ส่วนในปี พ.ศ. 2563 กลับพบว่าระยะทางการกัดเซาะลดน้อยลงจากปี พ.ศ. 2562 ระยะทาง 2.65 กิโลเมตร โดยในปี พ.ศ. 2563 พบพื้นที่ประสบปัญหาการกัดเซาะอย่างชัดเจน ได้แก่ จังหวัดสงขลา และจังหวัดปัตตานี พบการกัดเซาะเป็นระยะทางมากกว่า 10 กิโลเมตร ในขณะที่จังหวัดตราด จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดระนอง จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดตรัง พบระยะกัดเซาะชายฝั่ง ตั้งแต่ 5 – 9 กิโลเมตร จังหวัดที่พบการกัดเซาะที่มีระยะทางไม่มากนัก ไม่เกิน 5 กิโลเมตร ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดพังงา และจังหวัดกระบี่ และจังหวัดที่ไม่พบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ได้แก่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดกระบี่ และจังหวัดสตูล เนื่องจากมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ ยังพบว่าในปี พ.ศ. 2563 จังหวัดที่มีแนวโน้มการกัดเซาะเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2562 ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดตรัง
2.ในภาพรวมระหว่างปี พ.ศ. 2560, 2561, 2562 และ 2563 พบว่าพื้นที่ที่มีการกัดเซาะระดับรุนแรงมีระยะทางลดน้อยลง หลายพื้นที่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหา ในขณะที่หลายพื้นที่มีการกัดเซาะจากระดับรุนแรงลดลงเป็นกัดเซาะระดับปานกลาง และกัดเซาะน้อย ตามลำดับ
3.ระยะทางพื้นที่ที่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาระหว่างปี พ.ศ. 2560, 2561, 2562 และ 2563 พบว่ามีเพิ่มขึ้นกว่า 175 กิโลเมตร โดยพบว่าส่วนใหญ่เป็นโครงสร้างทางวิศวกรรม ทั้งนี้พบว่าจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นจังหวัดที่มีการดำเนินการมากที่สุดกว่า 20 กิโลเมตร และจังหวัดตราด จังหวัดระยอง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดสงขลา พบมีการดำเนินการเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 กิโลเมตร
4. จังหวัดที่พบโครงสร้างรูปแบบต่าง ๆ มากที่สุด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีระยะทาง กว่า 80.18 กิโลเมตร และในพื้นที่จังหวัดตราด จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดสงขลา มีระยะทางมากกว่า 30 กิโลเมตร ในขณะที่ฝั่งอันดามันพบมีระยะทางโครงสร้างมากกว่า 20 กิโลเมตร ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสตูล
5. นอกจากนี้ ยังพบว่าจังหวัดจันทบุรี จังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดนราธิวาส เป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนของแนวชายฝั่งที่มีการดำเนินการแก้ไขมากกว่าพื้นที่สมดุล และพื้นที่สะสมตัวตามธรรมชาติ ในขณะที่พื้นที่อ่าวไทยตอนบน ในอดีตมีปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ป่าชายเลนที่ถูกแปรสภาพในการเพาะเลี้ยงนากุ้งตลอดแนวชายฝั่ง ปัจจุบันมีการแก้ไขปัญหาด้วยโครงสร้างทางวิศวกรรม และการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น แทบตลอดแนวชายฝั่งของจังหวัดดังกล่าวแล้ว สำหรับจังหวัดชลบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา แม้เป็นจังหวัดที่มีโครงสร้างค่อนข้างมาก แต่ก็ยังคงพบแนวชายฝั่งที่ยังมีความสมดุล และสะสมตัวตามธรรมชาติคงเหลืออยู่เช่นกัน
6. ชายฝั่งทะเลอันดามัน พบระยะทางกัดเซาะไม่มากนักและส่วนใหญ่จะไม่พบการกัดเซาะ เป็นระยะทางยาว ๆ เนื่องจากพื้นที่ชายฝั่งมีลักษณะเป็นระบบหาดสั้น ๆ ไม่ต่อเนื่องกัน และไม่พบโครงสร้างทางวิศวกรรมมากนัก เช่นเดียวกับจังหวัดชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี
7. ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส ซึ่งลักษณะทางธรณีสัณฐานโดยส่วนใหญ่จะเป็นหาดทรายที่มีลักษณะตรงยาวต่อเนื่องกันเป็นระยะทางยาว ๆ จึงยังเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มที่การกัดเซาะในบริเวณจุดสิ้นสุดของโครงสร้างมีโอกาสที่จะลุกลาม และส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อไป
8. นอกจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแล้ว ยังพบว่าในบางพื้นที่ของจังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาสในบริเวณที่มีการก่อสร้างโครงสร้างทางวิศวกรรมที่ขัดขวางการเคลื่อนที่ของตะกอนบางพื้นที่ เช่น บริเวณเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำหลายแห่ง พบปัญหาการทับถมตัวของตะกอนทรายที่เริ่มล้นเข้ามาทับถมในร่องน้ำเช่นกัน