หาดในประเทศไทย
กำเนิดชายหาด
ที่มาของชายหาด เกิดจากการสะสม พัดพา เคลื่อนที่ของตะกอนทั้ง ตะกอนดินที่มีอนุภาคขนาดเล็กและเม็ดทรายที่มีหลากหลายขนาด โดยมีคลื่น กระแสลมและกระแสน้ำเป็นผู้ปรับแต่งให้เกิดชายหาดในลักษณะที่แตกต่างกันตามแต่ภูมิประเทศและแหล่งกำเนิดของชายหาดลักษณะการเกิดของชายหาดในแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะที่มาของชายหาดประเภท "หาดทราย"โดยมีรายละเอียดของแต่ละชนิด ดังนี้
1. สันดอนทรายปากแม่น้ำ
ปากแม่น้ำเป็นแหล่งสะสมทราย (skinks) ขนาดใหญ่ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งให้ทราย (Sources) แก่ชายหาดที่สำคัญ (Sourensen,R,M.,1991) กระบวนการเกิดและสลายของสันดอนทราย (Bar) ที่ปากแม่น้ำนั้นมีความซับซ้อนมาก อันเนื่องมาจากอิทธิพลของ 3 ปัจจัยหลัก คือ น้ำท่า (runoff) น้ำขึ้นน้ำลง และคลื่นที่กระทำกันตลอดเวลา สันดอนทรายมี 2 ลักษณะใหญ่ คือ
แบบที่ 1 หาดสันดอนปากแม่น้ำ (barrier beaches) ที่ทอดตัวยาวขนานกับชายฝั่ง เกิดจากทรายที่พัดพามาตามชายฝั่งกองกันอยู่ที่ปากแม่น้ำและน้ำท่าไม่มากพอที่จะดันให้สันดอนนั้นหลุดออกได้ จึงไหล่เลาะไปตามแนวชายฝั่ง แต่เมื่อยามใดทรายที่มาหล่อเลี้ยงชายฝั่งลดลง น้ำท่าปริมาณมากก็จะผลักดันให้หาดสันดอนนั้นขาดออก ซึ่งภาษาท้องถิ่นภาคใต้เรียกว่า “วะแตก” (breaching)
แบบที่ 2 สันดอนปากแม่น้ำ (bars) เกิดจากทรายที่ถูกพัดพามาตามชายฝั่งตกทับถมกันอยู่ทางใต้ของกระแสคลื่น (downdrift coast) ที่บริเวณปากแม่น้ำ เมื่อรวมกับทรายที่ไหลมาจากแม่น้ำ จึงสะสมเพิ่มขึ้นกลายเป็นสันดอนทรายขนาดใหญ่ที่ชายฝั่ง เช่น ปากแม่น้ำตรัง

ปากคลองสะกอม จ.สงขลา พ.ศ. 2538 ที่มา กรมแผนที่ทหาร

Whitehaven Beach,Airlie Beach, Australia ที่มา www.tripadvisor.com/TravelersChoice-Beaches-cTop-g1
2. สันดอนจะงอย (แหลมทราย)
สันดอนจะงอยมีลักษณะยื่นออกไปในทะเล เช่น บริเวณแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช และแหลมตาชี จังหวัดปัตตานี ซึ่งเกิดจากสมดุลระหว่างการสะสมตัวของตะกอนที่มาจากแม่น้ำและการเคลื่อนที่ของทรายชายฝั่ง โดยทั่วไปแล้วสันดอนจะงอยจะเกิดในบริเวณที่แนวชายฝั่งเบี่ยงเบนฉับพลันหรือยื่นออก (A.M.Muir Wood, 1969) ทำให้ทรายตกทับถมได้ดี และถ้าตะกอนทรายมีปริมาณมากพอ สันดอนจะงอยจะยื่นยาวออกไปไกล ซึ่งทิศทางของปลายสันดอนจะงอยของแหลมตะลุมพุกและแหลมตาชี แสดงถึงการเคลื่อนที่ของกระแสน้ำชายฝั่งโดยที่อ่าวไทยภาคใต้ตอนล่างมีตะกอนทรายเคลื่อนที่สุทธิไปทางทิศเหนือในอัตราระหว่าง 170,000-1,000,000 ลบ.ม./ปี (TUDelf, 1996)
หาดทรายชายฝั่งเป็นปราการธรรมชาติอย่างดี ที่ทำให้คลื่นลมในอ่าวด้านในของสันดอนจะงอยไม่รุนแรง จึงเกิดพื้นที่ป่าชายเลนขนาดใหญ่อยู่ด้านในอ่าว กระบวนการนี้จะทำให้แผ่นดินกว้างใหญ่ออกไป การรบกวนสมดุลของธรรมชาติไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามย่อมส่งผลเสียหายต่อพัฒนาการและเสถียรภาพของสันดอนจะงอย

แหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช

แหลมตาชี จ.ปัตตานี
3. เนินทรายชายฝั่ง (Coastal sand dunes)
เนินทรายชายฝั่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการป้องกันหาดทรายและพื้นที่ด้านหลังจากคลื่นและลม เนินทรายที่สูงใหญ่และมีหลายแนวขนานไปกับชายฝั่งที่จะเกิดขึ้นได้ต้องมีปัจจัยที่พร้อมมูลหลายอย่าง อาทิ พื้นที่หาดต้องกว้างพอที่เมื่อน้ำลงแล้ว ทรายจะแห้งให้ลมหอบทรายขึ้นไปได้ มีแหล่งให้ทรายจำนวนมากที่มาพอกพูนภูมิประเทศที่เหมาะสม คือ ชายหาดที่อยู่ไม่ไกลจากปากแม่น้ำที่เป็นแหล่งสะสมของทรายจำนวนมาก เม็ดทรายต้องมีขนาดพอเหมาะที่ลมสามารถหอบไปกองสูงขึ้นไปได้ ชายทะเลที่เปิดกว้างไม่มีเกาะแก่ง ลมและคลื่นก็ทำหน้าที่ได้เต็มที่ ในการสร้างเนินทรายให้สูงใหญ่ และเมื่อรวมกับปัจจัยอื่นๆ ข้างต้นแล้ว เนินทรายบางแห่งสูงได้นับสิบเมตร เช่น สันทรายบางเบิด จังหวัดชุมพร ที่มีเนินทรายสูงถึง 15 เมตร (กรมทรัพยากรธรณี, 2554)
การเกิดเนินทรายเป็นแนวยาวนั้น เม็ดทรายต้องเคลื่อนที่ไปในลักษณะกระดอน (saltation) จากแรงลมที่พัดทรายไปในทิศทางเดียวกัน ทรายเม็ดใหญ่ก็จะกลิ้งไปตามพื้น กระบวนการทั้งหมดนี้ความเร็วที่พอเหมาะต้องอยู่ระหว่าง 10-20 ไมล์/ชั่วโมง และพัดนานเป็นฤดูกาลอยู่หลายๆ เดือน

เนินทรายชายฝั่งบ้านไร่ อ.จะนะ จ.สงขลา ปี 2547

เนินทรายชายฝั่งบ้านสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา ปี 2553
4. เนินทรายเคลื่อนตัว
เมื่อเกิดเนินทรายแรกแล้ว ลมพัดเม็ดทรายให้ปลิวต่อและไปตกที่ข้างหลังเรื่อยๆ ทำให้กองเนินทรายแรกที่ค่อยๆ เคลื่อนลึกเข้าไปในแผ่นดิน เนินทรายหน้าลูกใหม่ก็พัฒนาขึ้น กระบวนการนี้ดำเนินการต่อไปไม่รู้จบนับพันๆ ปี จนเกิดเป็นเนินทรายที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 กระทั่งหมดฤทธิ์แรงลม ระหว่างเนินทรายมีร่องเรียกว่า “ลำราง” ที่ทำหน้าที่ระบายน้ำฝนออกสู่ชายฝั่ง
พัฒนาการก่อกำเนิดเนินทราย, ที่มา : Alma E. Guinese, 1977
5. เนินทรายลูกอ่อน
ในฤดูแล้งน้ำทะเลจะลดลงจนหาดกว้าง ทรายที่แห้งแล้วลมก็พัดขึ้นไปเป็นเนินทรายลูกอ่อน (embryo dune) อยู่ด้านหน้า ซ่อมแซมเนินทรายเดิมที่ถูกกัดเซาะไปในช่วงฤดูมรสุม และวนเวียนไปแบบนี้เรื่อยๆ เนินทรายลูกอ่อนค่อยๆ พัฒนาเป็นเนินทรายหน้า (front dune) หรือยังไม่ทันโตก็ตายเสียก่อนหากฤดูมรสุมถัดมาแรงเกินไป
การพอกพูนของเนินทรายอาจไม่เกิดขึ้นได้จากเม็ดทรายล้วนๆ แรกเริ่มจะต้องมี “ขยะทะเล” ที่คลื่นซัดมากองตามแนวบนสุดของน้ำขึ้น ขยะทะเลนี้นอกจากเป็นกับดักทรายที่ถูกพัดตกลงมาแล้ว ที่เป็นซากพืชซากสัตว์ก็กลายเป็นปุ๋ยให้หญ้าชายหาดงอกงามขึ้นปกคลุมและตรึงทรายเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง หญ้าชายหาดเหล่านี้นอกจากต้องทนทานแดด ลม ไอน้ำเค็ม และแรงเสียดสีของเม็ดทรายแล้ว ยังโตเร็วเพื่องอกให้พ้นทรายตลอดเวลา มีรากยาวลึกและเหง้าที่แผ่ออกไปข้างๆ ทำให้เนินทรายสูงขึ้นและแผ่กว้างออกไป

นินทรายลูกอ่อนที่ Great Par. St Martins Scilly

ร่องรอยเนินทรายชายฝั่งสะกอมที่ถูกกัดเซาะ
ที่มา : หาดทราย คุณค่า...ชีวิตที่ถูกลืม, 2554, โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ กรณีการใช้ประโยชน์หาดทรายและการอนุรักษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์