ขนาด
เกาะในประเทศไทย
  • 24 ตุลาคม 2556
  • 3,215

รูปแบบและประเภทของเกาะ

          รูปแบบเกาะประเภทต่างๆมีกำเนิดมาจากกระบวนการทางธรณีวิทยา โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์และมีกำเนิดมาหลายพันล้านปี ใจกลางโลกยังคงเป็นหินเหลวร้อนละลายอยู่แม้ว่าผิวโลกจะเย็นลงจนเกิดมหาสมุทรและสิ่งมีชีวิตขึ้นแล้วก็ตาม แผ่นเปลือกโลกที่เย็นลงนี้ไม่ได้ยึดติดกับสิ่งใด ยังคงมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะเป็นการเคลื่อนตัวในอัตราที่น้อยมากในแง่คิดของมนุษย์ แต่มีผลอย่างมหาศาลในกระบวนการและระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงทางธรณี การเคลื่อนตัวของแผ่นทวีปและการปะทุของหินหลอมละลายใต้ผิวโลก (ลาวา)ที่เกิดเป็นภูเขาไฟเป็นที่มาของเกาะประเภทต่างๆ ดังนี้

          1. เกาะใกล้ทวีป (Continental islands)
          เป็นส่วนของเปลือกโลกที่แยกมาจากทวีปใหญ่และล่องลอยออกมาอยู่ในมหาสมุทร เนื่องจากเป็นเกาะที่แยกตัวออกมาจึงมีหินหลายชนิดที่มีอายุแตกต่างกันรวมทั้งมีโครงสร้างที่ซับซ้อน ดินที่เกิดจากหินเหล่านี้จึงมีความหลากหลายสูงและมีแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์ สัตว์และพืชที่อาศัยอยู่บนเกาะเป็นชนิดเดียวกับที่อาศัยอยู่บนทวีปในช่วงที่แยกตัวออกมา เกาะคิวบาและนิว คาเลโดเนีย (New Caledonia) เป็นตัวอย่างของเกาะประเภทนี้ เกาะที่อยู่ใกล้ทวีปอาจจะเกิดมาจากเกาะเตี้ยแบนราบใกล้ระดับน้ำทะเล และมีการก่อตัวของแนวปะการัง จึงอาจจัดเข้าอยู่ในลักษณะเกาะปะการังได้

          2. เกาะภูเขาไฟ (Volcanic islands)
          เป็นเกาะประเภทที่เกิดจากพื้นท้องมหาสมุทร โดยไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของทวีป เกาะเหล่านี้แรกเริ่มมีกำเนิดจากการปะทุของหินหลอมละลายกลายเป็นภูเขาไฟใต้น้ำ เมื่อหินลาวาถูกพ่นสูงพ้นระดับน้ำทะเลกลายเป็นเกาะภูเขาไฟ เกาะภูเขาไฟมีรูปร่างหลายแบบขึ้นอยู่กับช่วงอายุ ภูเขาไฟเกิดใหม่ที่กำลังปะทุอยู่จะมีรูปร่างเหมือนกรวยกว้าง และเป็นหินลาวาสีดำ ซึ่งปราศจากปะการังและทะเลสาบ เมื่อภูเขาไฟมีอายุมากขึ้น การปะทุลดลงและหยุดไปในที่สุด กระแสลม คลื่นและฝนจะเริ่มต้นกัดเซาะเกาะ เศษหินและเถ้าถ่านจะถูกพักพาไปทับถมตามชายหาดและที่ห่างออกไป เกาะภูเขาไฟที่มีอายุมากขึ้นจะมีรอยขรุขระเว้าแหว่ง ในขณะเดียวกันแนวปะการังเกิดขึ้นรอบเกาะและบางแห่งเกิดลากูน (Lagoon)ขึ้น เกาะอาจมีการจมตัวลงอย่างช้าๆ เกาะภูเขาไฟที่เก่าแก่ก็จะมีขนาดเล็กลงๆในที่สุดก็หายไป

          3. เกาะปะการัง (Coral island)
          ในภูมิภาคเขตร้อนเกาะภูเขาไฟเก่าแก่ไม่หายไปเสียทีเดียว เพราะในขณะที่จมตัวลง แนวปะการังเจริญเติบโตขึ้นแทนที่กลายเป็นเกาะปะการัง แนวปะการังรูปเกือบจะเป็นวงกลมที่มีลากูนอยู่ตรงกลางที่เหลือจากการจมตัวลงของภูเขาไฟเรียกว่า atoll แนวปะการังจะสะสมสิ่งต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกองโตกลายเป็นเกาะที่มีพื้นที่ดิน เกาะปะการังประกอบด้วยหินปะการังและทรายที่มาจากซากปะการัง เปลือกหอย และพืชสาหร่ายทะเล เกาะเกือบทั้งหมดเป็นหินปูนหรือแคลเซียมคาร์บอเนต หินประเภทนี้มีแร่ธาตุน้อย และถ้าเกิดปรากฎการณ์ที่น้ำทะเลขึ้นสูงกว่าเดิม แนวปะการังนี้ก็จะยกตัวสูงขึ้นเหนือน้ำ กลายเป็นเกาะปะการังที่ยกสูงขึ้นมาโดยมีซากปะการังเก่าและลากูน เป็นฐานรองรับ บางแห่งมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลหลายสิบเมตร

          4. เกาะกลางสมุทร (Oceanic islands)
          เกาะเหล่านี้นอกจากเกิดจากภูเขาไฟใต้น้ำแล้ว มีเป็นจำนวนมากที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลและการขยับขึ้นลงของพื้นมหาสมุทร ทำให้ บางครั้งเกาะจมอยู่ใต้น้ำและบางครั้งโผล่พ้นน้ำสลับกันในช่วงยุคน้ำแข็งที่ผ่านมา เกาะจึงมีรูปร่างต่างๆกันจากการกัดเซาะในแต่ละยุค

          ทั้งนี้ ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างและประวัติทางธรณีของเกาะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เข้าใจถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเกาะ นอกจากจะมีการแบ่งประเภทของเกาะตามลักษณะประวัติทางธรณีวิทยาดังกล่าวแล้ว เกาะยังมีการจัดแบ่งออกเป็นประเภทตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น จัดโดย
          (1) ขนาดพื้นที่ (area)
          (2) ระดับความสูงต่ำ (altitude) เป็นเกาะสูงหรือเกาะแบนราบ
          (3) ผสมผสานระหว่างขนาดพื้นที่แผ่นดิน การเมืองและเกณฑ์ของประชากรที่กำหนดให้เป็นรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
          (4) กำหนดระยะห่างจากฝั่งทวีปที่ใกล้ที่สุด
          (5) ไม่คำนึงถึงว่ามีประชากรอาศัยอยู่บนเกาะหรือไม่
          (6) จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่
          (7) ไม่คำนึงว่าเป็นเกาะใกล้ทวีป (Continental islands) ซึ่งเป็นเกาะที่แผ่นดินเคยเชื่อมต่อกับแผ่นทวีป และเกาะกลางมหาสมุทร (Oceanic islands) ซึ่งเป็นเกาะที่เกิดขึ้นจากการทับถมของปะการัง การระเบิดของภูเขาไฟ และการเลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก

องค์ความรู้ที่น่าสนใจ
  • ThaiToxicMarineLife
    ThaiToxicMarineLife
  • หญ้าทะเล
    หญ้าทะเล
  • น้ำมันรั่วไหล
    การเกิดน้ำมันรั่วไหล (Oil spill) ในทะเล และชายฝั่งอาจเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การขุดเจาะและขนส่งน้ำมัน การเดินเรือ การล้างถังอับเฉาเรือ ลักลอบทิ้งน้ำที่มีน้ำมันปนเปื้อนหรือน้ำมันที่ใช้แล้ว
  • พื้นที่อนุรักษ์
    หมายถึง พื้นที่มีคุณค่าทางธรรมชาติ นิเวศ หรือวัฒนธรรมที่ควรจะอนุรักษ์ไว้สำหรับลูกหลานในอนาคต พื้นที่คุ้มครองถูกกำหนดขึ้นตามกฎหมายหรือกฎระเบียบอื่นๆ เพื่อให้เกิดการจัดการในรูปแบบต่างๆ เช่น อุทยานแห่งชาติ ป่าสงวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า การจัดการของพื้นที่คุ้มครองจะมีความหลากหลาย ตั้งแต่พื้นที่ที่มีการจำกัดการเข้าถึงของประชาชนจนถึงพื้นที่ ที่ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ในระดับต่างกัน พื้นที่คุ้มครองครอบคลุมทั้งพื้นที่บนบกและในทะเล
  • อุทยานใต้ทะเล
    อุทยานใต้ทะเล
  • ป่าชายหาดและป่าพรุ
    ป่าชายหาดและป่าพรุ
  • น้ำทะเลเปลี่ยนสี
    ปรากฎการณ์น้ำเปลี่ยนสีเกิดจากการเพิ่มปริมาณสารอาหารบริเวณชายฝั่ง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แพลงก์ตอนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ปริมาณสารอาหารที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่นั้นมักเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์
  • วาฬบรูด้า
    วาฬบรูด้า
  • พ.ร.บ. ทช.
    พ.ร.บ. ทช.