เกาะในประเทศไทย
- 1 สิงหาคม 2556
- 925
ความหลากหลายทางชีวภาพของเกาะ
เกาะเป็นแหล่งรวมของความหลากหลาย
แห่งชีวิตแบบพิเศษอย่างแท้จริง ชนิดพันธุ์ที่เข้ามาอยู่อาศัยในเกาะมีที่มาหลายวิธี เช่น ล่องลอยมากับกระแสน้ำ การแยกตัวของเกาะกับแผ่นดินใหญ่ (ในกรณีเป็นเกาะใกล้ทวีป) หรือโดยการแพร่กระจายข้ามมหาสมุทรเข้ามาอยู่บนเกาะที่โผล่ขึ้นใหม่จากพื้นท้องมหาสมุทร (เกาะกลางมหาสมุทร) ดังนั้นชีวิตพันธุ์ถูกจำกัดอยู่บนพื้นที่เล็กๆที่อยู่ห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่ ในช่วงเวลาที่เนิ่นนานผ่านไป การแบ่งแยกนี้ก่อให้เกิดแรงผลักดันการวิวัฒนาการเป็นพิเศษ มีการพัฒนาแหล่งพันธุกรรมที่โดดเด่นและแตกแขนงขยายเป็นชนิดพันธุ์พิเศษขึ้นจำนวนมาก โดยเป็นชนิดพันธุ์ที่มีลักษณะใหม่ทั้งหมดและมีการปรับตัวต่างไปจากปกติ เช่น มีขนาดยักษ์, แคระแกรน, ไม่สามารถบินได้, สูญเสียกลไกการป้องกันตัวและการแพร่กระจาย ความหลากหลายทางพันธุกรรมและขนาดประชากรมักมีแนวโน้มถูกจำกัด ให้ชนิดพันธุ์อยู่กันแน่นหนาในพื้นที่จำกัดขนาดเล็กอยู่เสมอ
ชนิดพันธุ์บนเกาะ
หลายเกาะจึงเป็นชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น (endemic) ที่ไม่พบ ณ ที่ใดในโลก เกาะเป็นที่ชุมนุมของชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นมากกว่าบนพื้นทวีป จำนวนและสัดส่วนของชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นยิ่งสูงขึ้นเมื่อเกาะตั้งอยู่ห่างไกลโดดเดี่ยว ขนาดและลักษณะภูมิประเทศมีความแตกต่างเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ชนิดพันธุ์มากกว่า 90% ในเกาะฮาวายเป็นชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น ในเกาะมอริเชียส 50% ของพืชชั้นสูง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเป็นชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น หมู่เกาะซีเชลล์มีสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่เป็นชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นมากที่สุดในโลก เกาะในคิวบามีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น 18 ชนิด ในขณะที่กัวเตมาลาและฮอนดูรัสบนแผ่นดินใหญ่ที่อยู่ใกล้กัน แต่ละประเทศมีเพียง 3 ชนิด เกาะมาดากัสการ์เป็นบ้านของชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นมากกว่า 8,000 ชนิด นับเป็นชาติที่มีชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นมากที่สุดในแถบแอฟริกาตอนใต้ (sub- Saharan Africa) มักมีการกล่าวย้ำกันอยู่เสมอว่าเกาะเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพในระดับโลกเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าในแผ่นดิน ด้วยเหตุนี้ เกาะซึ่งเป็นแหล่งสะสมพืชและสัตว์บางชนิดมากที่สุดบนพื้นพิภพ จึงถูกจัดให้เป็นพื้นที่วิกฤติทางความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity hotspots)
ลักษณะเฉพาะของเกาะ
ที่ทำให้เกาะมีความหลากหลายทางชีวภาพพิเศษต่างจากที่อื่นนั้นทำให้เกิดความเปราะบางและอ่อนแอ ทั้งที่เกาะมีความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ในระดับสูงและมีชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นที่โดดเด่น แต่ชนิดพันธุ์ที่มีอยู่ค่อนข้างมีปริมาณน้อย ทำให้ชนิดพันธุ์อยู่ในภาวะที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (vulnerable)ไปจนถึงการสูญพันธุ์ (extinct) ยิ่งกว่านั้นเพราะชนิดพันธุ์เกาะมีความสามารถในการแพร่กระจายน้อยลงและวิวัฒนาการมาจากการต่อสู้แก่งแย่งกับชนิดพันธุ์อื่นเพียงไม่กี่ชนิด มีการพัฒนายุทธศาสตร์การมีชีวิตอยู่รอด ขึ้นอยู่กับการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตสองสามชนิด มีวิวัฒนาการร่วมกัน และอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (mutualism) มากกว่าใช้กลไกการป้องกันต่อสู้กับคู่แข่งและผู้ล่าจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ชนิดพันธุ์เกาะหลายชนิดจึงกลายเป็นชนิดพันธุ์ที่หายาก (rare) หรือชนิดพันธุ์ถูกคุกคาม (threatened species) ชนิดที่สูญพันธุ์บนเกาะที่บันทึกไว้อยู่ในสัดส่วนที่สูงอย่างเทียบไม่ได้กับที่เกิดขึ้นบนแผ่นทวีป ในจำนวนสัตว์ที่สูญพันธุ์ไป 724 ชนิดในรอบ 400 ปีที่ผ่านมา ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นชนิดพันธุ์เกาะ อย่างน้อยที่สุด 90% ของนกที่สูญพันธุ์ในช่วงเวลานี้เป็นชนิดพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนเกาะ
เกาะเป็นที่อยู่อาศัย
ของมนุษย์กว่า 500-600 ล้านคน คิดเป็นหนึ่งในหกของประชากรโลก ชาวเกาะส่วนมากมีคุณลักษณะทางวัฒนธรรมพิเศษที่เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมที่ได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อมจากทรัพยากรธรรมชาติรอบข้างที่มีจำนวนมาก เกาะประกอบด้วยระบบนิเวศที่แตกต่างและแยกจากกัน มีตั้งแต่ป่ายอดเขาลงไปจนถึงพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นพื้นที่ที่ตอบสนองอาหาร น้ำจืด ไม้ เส้นใย ยา เชื้อเพลิง เครื่องใช้และวัตถุดิบที่สำคัญ รวมทั้งคุณค่าในด้านความงดงาม ศาสนา การศึกษาและนันทนาการสนับสนุนให้กับวิถีชีวิต เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของชาวเกาะ ระบบนิเวศยังมีส่วนในการคงสถานะบทบาทของระบบนิเวศไว้ อาทิ เพื่อช่วยป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติ สนับสนุนวงจรสารอาหาร การก่อเกิดทรายและดิน และมีส่วนในการควบคุมสภาพภูมิอากาศและเชื้อโรค ในรอบกว่าศตวรรษที่ผ่านมา ความหลากหลายทางชีวภาพของเกาะได้รับแรงกดดันอย่างมากจากสาเหตุหลักหลายประการ เช่น การบุกรุกของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว การเปลี่ยนแปลงและผันแปรของสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การใช้ประโยชน์มากเกินควรและไม่ยั่งยืน
มีเกาะเพียงไม่กี่แห่งที่มีข้อมูลพื้นฐานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเห็นได้จากการรวบรวมงานวิจัยทางชีวภาพและนิเวศวิทยาที่พบว่า มีจำนวน 134 งานวิจัยใน 217 เกาะ งานศึกษาวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพมักเน้นการวิจัย เฉพาะสิ่งมีชีวิตกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น
- การวิจัยความหลากหลายของชนิดปลิงทะเล บริเวณเกาะลันตาใหญ่ จ. กระบี่ (จริยา และคณะ, 2549)
- ความหลากหลายชนิดของปู บริเวณเกาะช้าง จังหวัดตราด (ณัฐธิดา และคณะ, 2549)
- ไลเคนบนเกาะครามและเกาะแสมสาร (กวินนาถ, 2548)
แต่ถึงอย่างไรก็ตามก็ยังมีการศึกษาวิจัยในภาพรวมของเกาะ ทั้งในรูปของโครงการเฉพาะทาง เช่น โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ที่ได้ดำเนินการในหลายเกาะ อาทิ เกาะแสมสาร เกาะพระทอง เกาะยาว ซึ่งสนองพระราชดำริโดยกองทัพเรือ หรือโครงการที่ดำเนินการศึกษาวิจัยสั่งสมในองค์รวมทั้งเกาะ ซึ่งข้อมูลสามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรมในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม พื้นที่อุทยาน พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติและนานาชาติ เป็นต้น เช่น เกาะแตน จ.สุราษฎร์ธานี (สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, 2543) เกาะพระทอง จ. พังงา (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2547; สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2547; มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, 2548; สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน, 2551) และเกาะกระ จ. นครศรีธรรมราช (ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง, 2551)
ประเทศไทยเป็นรัฐชายฝั่งที่มีเกาะอยู่จำนวนมากทั้งสองฝั่งมหาสมุทร รวมทั้งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันและเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งแต่ปี 2004 ( อนุวัฒน์ และพวงทอง, 2548) ดังนั้นประเทศไทยจึงมีพันธกรณีที่จะต้องมีการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของเกาะด้วยเช่นกัน ประกอบกับหลังจากที่มีมติรับรองโปรแกรมงานว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของเกาะในปี 2006 แล้ว กิจกรรมแรกที่ประเทศไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมดำเนินการ ได้แก่ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “Workshop on the Ecosystem Approach and Customary Practice in Protected areas in Small Islands” ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 12-16 ธันวาคม ค.ศ. 2006 โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพ