เกาะในประเทศไทย
- 9 กรกฎาคม 2556
- 5,293
นิยามและความหมาย
นิยามของเกาะ มีความแตกต่างกัน ดังนั้นเกาะในประเทศไทยในระบบฐานข้อมูลนี้ จึงกำหนดไว้กว้างๆ ว่า
" เกาะ หมายถึง บริเวณที่ดิน หิน หรือทรายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ล้อมรอบด้วยน้ำและอยู่เหนือน้ำตลอดเวลา ทั้งนี้เกาะอาจอยู่ในทะเล แม่น้ำ หรือที่ลุ่มขัง เช่น บึง หรือทะเลสาบก็ได้ "
แต่ในระบบฐานข้อมูลจะจำกัดเฉพาะเกาะในน่านน้ำทะเลไทย ตั้งแต่ริมชายฝั่งทั้งอ่าวไทยและฝั่งทะเล อันดามันออกไปในทะเล 200 ไมล์ทะเล (เขตเศรษฐกิจจำเพาะ) เกาะจะโผล่พ้นน้ำตลอดเวลา และไม่จำกัดว่ามีขนาดพื้นที่เท่าใดหรือมีประชาชนอาศัย อยู่หรือไม่ และไม่คำนึงถึงระยะห่างจากชายฝั่งทะเล ดังนั้นเกาะในฐานข้อมูลนี้จึงอาจรวมถึงหินโสโครกที่โผล่พ้นน้ำตลอดเวลาด้วย (อนุวัฒน์, 2551)
นอกเหนือจากนั้นนิยามของเกาะยังมีการขยายออกไปกว้างขวางกว่าเดิม ทั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป อาทิ
1. การวิเคราะห์ประเมินระบบนิเวศในรอบสหัสวรรษ (the Millennium Ecosystem Assessment – MA) กำหนดนิยามของเกาะให้ชัดเจนขึ้น โดยกำหนดให้ “เกาะ” คือ “แผ่นดินที่แยกออกมาโดยมีน้ำล้อมรอบและมีระยะห่างมากระหว่างชายฝั่งและพื้นแผ่นดินหลังฝั่งทะเล (hinterland)” และกำหนดให้เกาะต้องมีประชากรอาศัยอยู่ โดยเกาะตั้งห่างจากแผ่นดินใหญ่มีระยะทางอย่างน้อย 2 กิโลเมตร และมีพื้นที่เกาะตั้งแต่ 0.15 ตารางกิโลเมตร ไปจนถึงเกาะขนาดใหญ่ขนาดเกาะกรีนแลนด์ที่มีพื้นที่ 2.2 ล้านตารางกิโลเมตร
2. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้นิยาม “เกาะ” ไว้ดังนี้ “ส่วนของแผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบ” และยังมีส่วนของแผ่นดินที่ไม่ได้อยู่เหนือน้ำตลอดเวลา คือส่วนที่เรียกว่า “แก่ง” และ “หินโสโครก” ซึ่งพจนานุกรมฯได้นิยามไว้ว่า “แก่ง” คือ พืดหินหรือโขดหินที่กีดขวางทางน้ำ มักจะมีตามต้นแม่น้ำ และ “หินโสโครก” คือ แนวพืดหินหรือโขดหินใต้น้ำใกล้ๆผิวพื้นน้ำทะเล อาจมีบางส่วนโผล่พ้นน้ำหรือปริ่มน้ำก็ได้ เป็นอันตรายแก่การเดินเรือ
3. กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยทะเล (the United Nation Convention on the Law of the Sea-UNCLOS, 1982) ได้ให้ความหมายของเกาะ (Island) ว่า เกาะ คือบริเวณแผ่นดินที่ก่อตัวขึ้นตามธรรมชาติ ล้อมรอบด้วยน้ำซึ่งอยู่เหนือน้ำขณะน้ำขึ้น (กองทัพเรือ, 2543) โดยมีรายละเอียดดังนี้
(ก) เกาะตามนัยแห่งข้อ 121 แห่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS, 1982) ซึ่งหมายถึงเฉพาะบริเวณหรือแผ่นดินที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและล้อมรอบด้วยน้ำและโผล่พ้นน้ำเมื่อน้ำขึ้นสูงสุดเท่านั้น เกาะแต่ละเกาะจะมีทะเลอาณาเขตของตนเอง หินโสโครก (Rock) เป็นเกาะที่คนไม่สามารถอาศัยหรือยังชีพอยู่ได้ หากหินโสโครกยังคงอยู่เหนือน้ำขณะน้ำขึ้นสูงสุด ก็จะมีทะเลอาณาเขตเช่นเดียวกัน
(ข) พื้นที่ที่อยู่เหนือระดับน้ำขณะน้ำลด ได้แก่ บริเวณที่ดิน หิน หรือทรายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และล้อมรอบด้วยน้ำซึ่งจะโผล่พ้นน้ำขณะน้ำลด แต่จะจมน้ำขณะน้ำขึ้น [UNCLOS, 1982 ข้อ 13(1)]
ในกรณีที่พื้นที่ที่อยู่เหนือระดับน้ำขณะน้ำลด ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนตั้งอยู่ภายในระยะห่างจากผืนแผ่นดินหรือเกาะไม่เกินความกว้างของทะเลอาณาเขต รัฐชายฝั่งอาจใช้เส้นแนวน้ำลดตลอดฝั่งของพื้นที่ที่อยู่เหนือระดับน้ำขณะน้ำลดนั้นเป็นเส้นฐานสำหรับวัดความกว้างของทะเลอาณาเขตก็ได้ [UNCLOS, 1982 ข้อ 13(1)]
แต่ในกรณีที่พื้นที่ที่อยู่เหนือระดับน้ำขณะน้ำลดทั้งหมดตั้งอยู่ในระยะห่างจากแผ่นดินหรือเกาะเกินกว่าความกว้างของทะเลอาณาเขต พื้นที่ที่อยู่เหนือระดับน้ำขณะน้ำลดเช่นว่านั้น ไม่สามารถมีทะเลอาณาเขตของตัวเองได้ [UNCLOS, 1982 ข้อ 13(2)]
การกำหนดพื้นที่ของอนุสัญญาฯดังกล่าว พื้นที่ที่อยู่เหนือระดับน้ำขณะน้ำลด (โผล่พ้นน้ำขณะน้ำลด แต่จมอยู่ใต้น้ำขณะน้ำขึ้น) ทั้งหมดหรือบางส่วนที่อยู่ภายในทะเลอาณาเขต อาจจะถือว่าเป็นเกาะเกาะหนึ่ง (กองทัพเรือ, 2543) ดังนั้นหินโสโครกที่มีลักษณะดังกล่าวจึงถือว่าเป็นเกาะได้
4. สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม (2547) ที่ให้นิยามไว้ดังนี้ “เกาะ หมายถึง ส่วนของแผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบตลอดเวลา โดยตัวเกาะจะต้องมีแผ่นดินที่พ้นผิวน้ำในขณะที่น้ำขึ้นสูงสุด ระบบนิเวศบนเกาะจะไม่สามารถเชื่อมต่อกับระบบนิเวศบนบกของแผ่นดินใหญ่หรือเกาะอื่นได้ เว้นแต่จะอาศัยการเชื่อมต่อทางน้ำ หรือทางอากาศเท่านั้น ทั้งนี้เกาะอาจยู่ในทะเล แม่น้ำ หรือที่ลุ่มขัง เช่น บึง หรือทะเลสาบก็ได้”