หญ้าทะเล
- 22 เมษายน 2565
- 1,011
สถานภาพแหล่งหญ้าทะเล พ.ศ. 2564
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้สำรวจและติดตามสถานภาพแหล่งหญ้าทะเล ทั้งในพื้นที่ที่เป็นแหล่งหญ้าทะเลในปัจจุบัน แหล่งที่เคยมีรายงานการสำรวจพบ และแหล่งใหม่นอกเหนือจากที่เคยสำรวจพบ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นแหล่งใหญ่ก็ตาม โดยในปี พ.ศ. 2564 รายงานพบหญ้าทะเลมีพื้นที่ รวม 99,325 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 62 ของพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นแหล่งหญ้าทะเลของประเทศ (160,628 ไร่) ครอบคลุม 17 จังหวัดชายฝั่งทะเล ประกอบด้วย ฝั่งอ่าวไทย 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตราด จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส และฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล
แหล่งหญ้าทะเลโดยภาพรวมของประเทศไทย พบว่าแหล่งหญ้าทะเล มีสถานภาพสมบูรณ์ดี – ดีมาก ร้อยละ 28 สถานภาพสมบูรณ์ปานกลาง ร้อยละ 52 และมีสถานภาพสมบูรณ์เล็กน้อย ร้อยละ 20 แหล่งหญ้าทะเลส่วนใหญ่มีขนาดผืนไม่ใหญ่มากนัก โดยสถานภาพของแหล่งหญ้าทะเลรายจังหวัด
กราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ของแหล่งหญ้าทะเลรายปี (รูปบนซ้าย) พื้นที่แหล่งหญ้าทะเลปี พ.ศ. 2564 โดยแบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (รูปบนขวา) สถานภาพหญ้าทะเลในช่วงปี โดยแบ่งระดับเป็น ดี ปานกลาง และเล็กน้อย (รูปกลางซ้าย) ร้อยละการปกคลุมของหญ้าทะเลรายปี ประกอบช่วงความเชื่อมั่นที่ 95% (รูปล่างซ้าย) และแผนที่แสดงการแพร่กระจายของแหล่งหญ้าทะเลในน่านน้ำไทย (รูปขวา)
กราฟแสดงสถานภาพแหล่งหญ้าทะเลปี พ.ศ. 2564 แยกรายจังหวัด โดยแบ่งระดับเป็น ดี-ดีมาก ปานกลาง และเล็กน้อย (รูปบนซ้าย) ร้อยละการปกคลุมของหญ้าทะเลปี พ.ศ. 2564 แยกรายจังหวัด ประกอบช่วงความเชื่อมั่นที่ 95% (รูปล่างซ้าย) และแผนที่แสดงสถานภาพของแหล่งหญ้าทะเลในน่านน้ำไทยปี พ.ศ. 2564 (รูปขวา)
ความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งหญ้าทะเล
การศึกษาประชาคมสัตว์น้ำในแหล่งหญ้าทะเล 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตราด จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดราษฎร์ธานี จังหวัดปัตตานี จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล พบว่า สัตว์น้ำกลุ่มปลาเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายของชนิดสูงที่สุด ส่วนชนิดสัตว์น้ำที่พบสม่ำเสมอและมีชุกชุม ได้แก่ ปลาวัวหางพัด (Monacanthus chinensis) ปลาข้างตะเภาจุด (Pelates quadrilineatus) ปลาสลิดทะเลจุดขาว (Siganus canaliculatus) ปลานกขุนทองสองสี (Halichoeres bicolor) และหอยชักตีน (Strombus canarium) ทั้งนี้สัตว์น้ำที่พบส่วนใหญ่อยู่ในระยะยังไม่โตเต็มวัย ขนาดของสัตว์น้ำที่จับได้มีความแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม ซึ่งสามารถบ่งชี้ถึงความสำคัญของแหล่งหญ้าทะเลในแง่ของการเป็นแหล่งอนุบาล และที่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน และระยะก่อนวัยเจริญพันธุ์