หญ้าทะเล
- 22 เมษายน 2565
- 940
การประเมินสถานภาพ
การสำรวจสถานภาพแหล่งหญ้าทะเล ดำเนินการโดยเข้าตรวจสอบตามจุดที่มีแนวหญ้าทะเล เพื่อดูขอบเขตพื้นที่ของหญ้าทะเลแต่ละแหล่ง ชนิดของหญ้าทะเล และประเมินร้อยละการปกคลุมพื้นที่ การดำเนินการแยกเป็น 2 ส่วน คือ
(1) การสำรวจในช่วงน้ำลง บันทึกพิกัดตามแนวขอบของพื้นที่ที่พบการปกคลุมของหญ้าทะเล จากนั้นกำหนดแนวสำรวจตั้งฉากกับชายฝั่งไปจนสิ้นสุดแนวหญ้าทะเลอย่างน้อย 3 แนว วางกรอบสุ่มตัวอย่าง (Quadrat) ขนาด 50x50 เซนติเมตร จำนวน 4 กรอบ ทุก ๆ ระยะที่เท่ากันอย่างน้อย 30 จุดสำรวจตลอดเส้นแนวสำรวจ ตามวิธี Line Transect Method ของ UNEP (2547) บันทึกพิกัดจุดสำรวจด้วยเครื่องมือหาพิกัดทางภูมิศาสตร์ (Global Positioning System: GPS) และจดบันทึกค่าตัวแปรต่าง ๆ ได้แก่ ร้อยละการปกคลุมพื้นที่ของหญ้าทะเล และส่วนที่โล่งแจ้ง หรือปกคลุมของสาหร่าย ลักษณะพื้นว่าเป็นทราย กรวด หรือเป็นชนิดของหญ้าทะเลที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จดบันทึกชนิดหญ้าทะเล เก็บตัวอย่างหญ้าทะเลชนิดที่จำแนกชนิดไม่ได้ด้วยตาเปล่า เพื่อจำแนกชนิดในห้องปฏิบัติการ บันทึกข้อมูลคุณภาพน้ำทะเล และข้อมูลสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ
(2) การสำรวจในช่วงน้ำขึ้น ใช้วิธีการดำน้ำเพื่อสำรวจ โดยกำหนดแนวสำรวจที่วางตั้งฉากกับชายฝั่งไปจนสิ้นสุดแนวหญ้าทะเลอย่างน้อย 3 แนว วางกรอบสุ่มตัวอย่าง (Quadrat) ขนาด 50x50 เซนติเมตร จำนวน 4 กรอบ ทุก ๆ ระยะที่เท่ากันอย่างน้อย 30 จุดสำรวจตลอดเส้นแนวสำรวจ กรณีไม่สามารถกำหนดแนวสำรวจได้ ใช้การดำน้ำสำรวจเป็นจุด ๆ (spot check) ให้กระจายตัวครอบคลุมทั้งแหล่งหญ้าทะเลบริเวณนั้น ๆ บันทึกพิกัดจุดสำรวจ และผู้สำรวจจะจดบันทึกค่าตัวแปรต่าง ๆ ได้แก่ ร้อยละการปกคลุมพื้นที่ของหญ้าทะเล และส่วนที่โล่งแจ้ง หรือปกคลุมของสาหร่าย ลักษณะพื้นว่าเป็นทราย กรวด หรือเป็นชนิดของหญ้าทะเลที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จดบันทึกชนิดหญ้าทะเล เก็บตัวอย่างหญ้าทะเลชนิดที่จำแนกชนิดไม่ได้ด้วยตาเปล่า เพื่อจำแนกชนิดในห้องปฏิบัติการ บันทึกข้อมูลคุณภาพน้ำทะเล และข้อมูลสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ
การสำรวจและติดตามสถานภาพแหล่งหญ้าทะเลในประเทศไทยของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน พบว่า ในแต่ละปีสำรวจ พื้นที่การกระจายของหญ้าทะเลแต่ละแหล่ง มีการเคลื่อนย้ายไปมาตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมของพื้นที่ในขณะนั้น เช่น ความรุนแรงของคลื่นลม ลักษณะพื้นทะเล การผึ่งแห้ง และฤดูกาล เป็นต้น ดังนั้น พื้นที่มีรายงานการพบหญ้าทะเล จึงถือว่าเป็นพื้นที่มีศักยภาพที่หญ้าทะเลจะเจริญเติบโตได้ เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม รวมถึงได้เพิ่มเติมพื้นที่หญ้าทะเลแหล่งใหม่ที่ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อน และเนื่องจากหญ้าทะเลเป็นพืชมีดอกสามารถแพร่พันธุ์ได้แบบอาศัยเพศ ทำให้สามารถพบหญ้าทะเลเจริญขึ้นได้ในพื้นที่ห่างไกลจากแหล่งหญ้าทะเลเดิม เช่น เกาะช้าง จังหวัดระนอง อ่าวคั่นกระได จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เกาะหนู จังหวัดสงขลา นอกจากนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ดำเนินการปลูกหญ้าทะเลเพื่อฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลตามโครงการฟื้นฟูหญ้าทะเลบูรณาการทุกภาคส่วนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 – 2563 ทำให้มีพื้นที่หญ้าทะเลเพิ่มขึ้นเป็นพื้นที่ รวม 123 ไร่ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายที่แหล่งหญ้าทะเลบางแห่ง ได้สูญเสียพื้นที่ไปอย่างถาวร ทั้งจากสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติได้เปลี่ยนแปลงไป จนไม่เหมาะต่อการเติบโตของหญ้าทะเล เช่น แหล่งหญ้าทะเลในเขตจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดพัทลุง และจากผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ทำให้สภาพพื้นที่ไม่เหมาะต่อการเติบโตของหญ้าทะเล เช่น แหล่งหญ้าทะเลบริเวณหาดทรายแก้ว จังหวัดสงขลา เป็นต้น
พื้นที่ทรัพยากรแหล่งหญ้าทะเลเหล่านี้ได้รับการสำรวจสถานภาพว่ามีความสมบูรณ์มากน้อยเพียงไร โดยที่ผ่านมา มีการสำรวจซ้ำในพื้นที่เดิมหมุนเวียนในช่วงระยะเวลา 4 ปี (รอบการสำรวจล่าสุด คือ ปี พ.ศ. 2561 –2564) หรืออาจถี่กว่านั้นในบางพื้นที่ที่มีความเปราะบาง หรืออยู่ในภาวะวิกฤต ซึ่งมีโอกาสได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์มาก โดยการศึกษาสถานภาพแหล่งหญ้าทะเล เพื่อสำรวจขอบเขตของแต่ละแหล่งหญ้าทะเล ชนิดของหญ้าทะเล และประเมินระดับความสมบูรณ์จากร้อยละการปกคลุมพื้นที่ของหญ้าทะเล จัดแบ่งระดับความอุดมสมบูรณ์ออกเป็น 4 ระดับ
สมบูรณ์ดีมาก |
หมายถึง |
มีการปกคลุมของหญ้าทะเลมากกว่าร้อยละ 75 |
สมบูรณ์ดี |
หมายถึง |
มีการปกคลุมของหญ้าทะเลร้อยละ 51 – 75 |
สมบูรณ์ปานกลาง |
หมายถึง |
มีการปกคลุมของหญ้าทะเลร้อยละ 25 – 50 |
สมบูรณ์เล็กน้อย |
หมายถึง |
มีการปกคลุมของหญ้าทะเลน้อยกว่าร้อยละ 25 |
การประเมินการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่หญ้าทะเลโดยเปรียบเทียบพื้นที่หญ้าทะเลปีปัจจุบันกับปีที่ผ่านมา โดยกำหนดแนวโน้มเป็น 4 แบบ ดังนี้
1) สมบูรณ์ขึ้น หมายถึง พื้นที่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10
2) คงที่ หมายถึง พื้นที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงน้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 10
3) ลดลงตามฤดูกาล หมายถึง พื้นที่ลดลงมากกว่าร้อยละ 10 จากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ แต่ไม่มีสาเหตุจากกิจกรรมของมนุษย์
4) เสื่อมโทรมลง หมายถึง พื้นที่ลดลงมากกว่าร้อยละ 10 มีสาเหตุจากกิจกรรมของมนุษย์
ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 22 เมษายน 2565