ขนาด
ปะการัง
  • 6 กรกฎาคม 2556
  • 594
ปะการัง สารสนเทศ ทช. ศูนย์ข้อมูลกลาง ทช.

การแพร่กระจายของแนวปะการัง

          หากเรานั่งเรือแล่นไปตามคลองในป่าโกงกาง เราจะไม่พบแนวปะการังใต้ท้องน้ำเลย นั่นเป็นเพราะว่าสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีพของปะการัง กล่าวคือน้ำไม่เค็มมากพอ และน้ำในป่าชายเลนมีตะกอนมากเกินไป แต่ถ้าหากแล่นเรือออกมาถึงปากคลองป่าโกงกาง เราอาจพบปะการังขึ้นอยู่เป็นกอเล็กๆ ตามฝั่งที่เป็นโขดหิน บริเวณนี้ความเค็มของน้ำทะเลเพิ่มมากขึ้น และน้ำอาจใสมากขึ้น แต่ก็มีปะการังเพียงไม่กี่ชนิดที่ปรับตัวอยู่ได้ และขึ้นกระจายอยู่เป็นหย่อมๆ เมื่อแล่นเรือพ้นปากคลองออกไป เราอาจพบแนวปะการังที่แท้จริงได้ ซึ่งบริเวณนั้นต้องมีปัจจัยสิ่งแวดล้อมหลายอย่างเป็นองค์ประกอบอย่างเหมาะเจาะ เช่น น้ำใสมากพอจนแสงแดดส่องถึงพื้น มีพื้นหินบริเวณชายฝั่งให้ตัวอ่อนปะการังได้ยึดเกาะ ไม่มีคลองน้ำจืดขนาดใหญ่ไหลลงทะเล และเป็นชายฝั่งที่ไม่ปะทะคลื่นทะเลรุนแรงเกินไป

          เป็นที่ทราบดีว่า ลมมรสุมก่อให้เกิดคลื่นในทะเล ซึ่งคลื่นทะเลนี้เองที่เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางการแพร่กระจายของแนวปะการังตามเกาะกลางทะเล ในอ่าวไทยทางภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากคลื่นลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้แนวปะการังในอ่าวไทยทางภาคใต้ก่อตัวตามริมฝั่งทางด้านตะวันตกและทิศใต้ของเกาะต่างๆ ส่วนชายฝั่งที่รับแรงปะทะจากคลื่นลมเต็มที่ คือ ด้านทิศเหนือและด้านตะวันออกของเกาะมักเป็นชายฝั่งโขดหินที่ไม่มีแนวปะการัง แต่ก็อาจมีแนวปะการังก่อตัวขึ้นได้ตามปีกอ่าวที่สามารถกำบังคลื่นได้ ในทางกลับกันทางฝั่งทะเลอันดามันมีอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้แนวปะการังก่อตัวได้ดีเฉพาะทางชายฝั่งด้านตะวันออกและด้านเหนือของเกาะต่างๆ ส่วนด้านตะวันตกและทิศใต้มักเป็นโขดหินที่มีปะการังขึ้นประปราย

การแพร่กระจายของแนวปะการัง

          ฝั่งตะวันตกของเกาะต่างๆ ทางฝั่งทะเลอันดามัน เป็นด้านที่เปิดรับคลื่นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ชายฝั่งเป็นโขดหินที่มีปะการังขึ้นอยู่อย่างประปราย

          สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รายงานว่าประเทศไทยมีแนวปะการังกระจายอยู่ตามจังหวัดชายทะเลต่างๆ ยกเว้นบางจังหวัดในอ่าวไทยได้แก่ ฉะเชิงเทรา กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี พัทลุง โดยการแพร่กระจายของแนวปะการังในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 เขตใหญ่ๆ คือ

          ฝั่งอ่าวไทย แนวปะการังแถบอ่าวไทยตอนบน ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด แถบอ่าวไทยตอนกลาง ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ส่วนอ่าวไทยตอนล่างจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปทางใต้พบแนวปะการังน้อยลง มีแหล่งแนวปะการังเพียงเล็กน้อยตามเกาะในเขตจังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช และปัตตานี

          ฝั่งทะเลอันดามัน พบว่ามีแนวปะการังกระจายอยู่ทุกจังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และ สตูล

ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 19 เมษายน 2565
องค์ความรู้ที่น่าสนใจ
  • กัดเซาะชายฝั่ง
    ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 3,151 กิโลเมตร ครอบคลุมจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัดโดยชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย มีความยาว 2,040 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด และชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน มีความยาว 1,111 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลรวม 6 จังหวัด
  • อุทยานใต้ทะเล
    อุทยานใต้ทะเล
  • PMBC Research Bulletin
    PMBC Research Bulletin
  • ป่าชายเลน
    ป่าชายเลน
  • น้ำมันรั่วไหล
    การเกิดน้ำมันรั่วไหล (Oil spill) ในทะเล และชายฝั่งอาจเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การขุดเจาะและขนส่งน้ำมัน การเดินเรือ การล้างถังอับเฉาเรือ ลักลอบทิ้งน้ำที่มีน้ำมันปนเปื้อนหรือน้ำมันที่ใช้แล้ว
  • ปูเสฉวนบก
    ปูเสฉวนบก
  • ปลานกแก้ว
    ปลานกแก้ว
  • สมุทรศาสตร์
    สมุทรศาสตร์
  • วาฬบรูด้า
    วาฬบรูด้า