ปะการัง
- 5 กรกฎาคม 2556
- 2,764
ลักษณะแนวปะการังของไทย
แนวปะการัง ปะการังหลายๆ กลุ่มก้อนก่อตัวรวมกันเป็นแนวปะการัง ในที่นี้ให้คำจำกัดความของคำว่า “แนวปะการัง” ว่าแนวหินปูนใต้ทะเลในระดับน้ำตื้นที่แสงแดดส่องถึงหินปูนดังกล่าว เป็นผลมาจากการเจริญเติบ โตของปะการังหลายๆ ชนิด แนวปะการังในประเทศไทยทั้งหมดเป็นประเภทที่ก่อตัวริมฝั่ง (fringing reef) นี้ แบ่งตามลักษณะสภาพ แวดล้อมที่แตกต่างกันเป็น 4 รูปแบบด้วยกัน คือ
แนวปะการังริมฝั่ง เป็นแนวปะการังที่แท้จริง เพราะเป็นการสะสมตัวจนกลายเป็นแนวปะการัง พบได้ทั่วไปในแหล่งดำน้ำดูปะการังน้ำตื้นตามชายฝั่งและหมู่เกาะต่างๆ เป็นแนวปะการังชนิดที่ทรงคุณค่าที่สุด เพราะเป็นที่ที่สัตว์ทะเลจะใช้เวลาช่วงหนึ่งของชีวิตเข้ามาอาศัยเติบโตอยู่ในบริเวณนี้ ปะการังชนิดนี้ ในปัจจุบันจัดเป็นปะการังที่มีความเสียหายมากที่สุด
กลุ่มปะการังบนพื้นทราย เป็นกลุ่มปะการังเล็กๆ ที่เกิดขึ้นบนพื้นทราย ยังมีการสะสมตัวกันไม่มากนัก ส่วนมากเป็นปะการังสมองและเขากวาง
ปะการังบนโขดหิน อยู่ในแนวน้ำลึก พบได้ในแหล่งดำน้ำทั่วไปในหมู่เกาะสิมิลัน เช่น เกาะเจ็ด (หินหัวกะโหลก) หรือ แฟนตาซี รีฟ เป็นต้น แนวปะการังชนิดนี้เปรียบดังโอเอซีสกลางทะเลทราย จึงเป็นที่รวมตัวของสัตว์ทะเลหลากหลาย โดยเฉพาะฝูงปลาต่างๆ ที่แวะเวียนเข้ามาหาอาหารอย่างสม่ำเสมอ
แหล่งกัลปังหาและปะการังอ่อน ไม่เชิงเป็นแนวปะการัง แต่มีศักยภาพในการเป็นที่หลบภัยและที่อยู่อาศัยของปลาเล็กปลาน้อยไม่มากนัก จึงไม่ค่อยมีคุณค่าเท่าใดนักในระบบนิเวศ แต่กลับทรงคุณค่าอย่างยิ่งในแง่การท่องเที่ยว เพราะปะการังอ่อนและกัลปังหามีความสวยงามมาก และเป็นจุดสนใจอย่างยิ่งของบรรดานักดำน้ำและช่างภาพใต้ทะเล
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกหลายชนิดที่มีส่วนเสริมสร้างหินปูนพอกพูนสะสมในแนวปะการัง เช่น สาหร่ายหินปูน หอยที่มีเปลือกแข็ง ฯลฯ ทั้งปะการังเองและสิ่งมีชีวิตที่สร้างหินปูนได้ เมื่อตายไปแล้วจะยังคงเหลือซากหินปูนทับถมพอกพูนในแนวปะการัง ซึ่งก็ถือว่าเป็นขบวนการสร้างแนวปะการัง ซากหินปูนเหล่านั้นค่อยๆ ผุกร่อนเป็นผงตะกอน ซึ่งส่วนหนึ่งก็ยังคงสะสมพอกพูนในแนวปะการัง แต่อีกส่วนหนึ่งอาจถูกพัดพาล่องลอยไปตามกระแสน้ำไปทับถมพอกพูนเป็นชายหาด
แนวปะการังที่พบในประเทศไทยเป็นประเภทที่ก่อตัวริมฝั่ง (fringing reef) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นริมฝั่งของเกาะที่กระจายอยู่ตามนอกชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ออกไป ส่วนตามริมฝั่งแผ่นดินใหญ่นั้น มีแนวปะการังไม่มากนักและมักเป็นแนวปะการังน้ำตื้น เพราะชายฝั่งแผ่นดินใหญ่มักได้รับอิทธิพลสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของปะการัง เช่น น้ำขุ่น มีคลองเปิดสู่ทะเลทำให้ความเค็มบริเวณนั้นไม่สูงพอ ฯลฯ
ปะการังจะค่อยๆ เจริญเติบโตมีขนาดใหญ่ขึ้นบางส่วนจากขบวนการต่างๆ เช่น ถูกหอยหรือสัตว์อื่นเจาะไชแตกหัก
แนวปะการังก่อตัวขึ้นมาได้จากการเจริญเติบโตของปะการังหลายๆ ชนิด โดยธรรมชาติแล้ว ตัวอ่อนปะการังในระยะแรกล่องลอยอยู่ในมวลน้ำ ต่อมาจะลงยึดเกาะบนพื้นแข็ง เช่นตามพื้นหินติดชายฝั่งและบนซากหินปะการัง ปะการังวัยอ่อนนั้นจะค่อยๆ เจริญเติบโตมีขนาดใหญ่ขึ้น บอกจากนี้ปะการังบางส่วนที่แตกหักจากขบวนการต่างๆ เช่น ถูกหอยหรือสัตว์อื่นๆ เจาะไช หรือถูกคลื่นซัด ปะการังส่วนที่แตกหักนั้นก็จะค่อยๆ กระจายขยายออกไปในทะเล และยังคงเจริญเติบโตต่อไปได้หาก ไม่ถูกทรายกลบ แต่บางส่วนอาจจะตายไปได้ อย่างไรก็ตามซากหินปูนที่เหลือก็ยังคงเป็นฐานแข็งสำหรับให้ตัวอ่อนปะการังตัวใหม่เข้ามายึดเกาะเพื่อเจริญเติบโตต่อไป
ในประเทศไทยได้มีนักวิทยาศาสตร์ศึกษาวิวัฒนาการการก่อตัวของแนวปะการังน้ำตื้นที่อ่าวตังเข็นจังหวัดภูเก็ต (Tudhope and Scoffin, 1994) พบว่า แนวปะการังที่นั่นเริ่มก่อตัวที่ปีกอ่าวที่เป็นโขดหินตั้งแต่ประมาณ 6,000 ปีที่แล้ว โดยแนวปะการังค่อยๆ ก่อตัวยื่นขยายออกไปในทะเลเรื่อยๆ
แนวปะการังค่อยๆ ยื่นออกไปในทะเล
ซึ่งในปัจจุบันแนวปะการังแห่งนี้ลึกสุดประมาณ 5 เมตร แนวปะการังที่นับว่ามีวิวัฒนาการมาช้านานของประเทศไทย ได้แก่ แนวปะการังตามหมู่เกาะสุรินทร์ และหมู่เกาะสิมิลัน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดพังงา แนวปะการังทั้งสองแห่งนี้ก่อตัวเป็นแนวขนาดใหญ่และในหลายจุดก่อตัวลึกถึงพื้นระดับประมาณ 30 เมตร
ปะการังที่นับว่าเป็นชนิดเด่น (dominant species) ทั้งในแง่จำนวนและปริมาตรที่ปกคลุมพื้นที่ หรืออาจเรียกอีกนัยหนึ่งว่าเป็นชนิดที่เป็นตัวหลักในการก่อตัวของแนวปะการังในประเทศไทย ได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea) ปะการังผิวย่น (Porites Synaraea rus) ปะการังเขากวาง (Acropora formosa) (นิพนธ์, 2533)
ปะการังเขากวาง (Acropora formosa)
ปะการังโขด (Porites lutea) ปะการังผิวยู่ยี่ (Porites Synaraea rus)
ชนิดปะการังที่เป็นตัวหลักในการก่อตัวของแนวปะการังในประเทศไทย