ขนาด
ปะการัง
  • 19 เมษายน 2565
  • 1,712
ปะการัง สารสนเทศ ทช. ศูนย์ข้อมูลกลาง ทช.

สถานภาพแนวปะการัง พ.ศ. 2564

          สถานภาพแนวปะการังในน่านน้ำไทย 17 จังหวัด ในปี พ.ศ. 2564 พบว่าแนวปะการังฝั่งทะเลอันดามัน อยู่ในสภาพสภาพสมบูรณ์ดี ร้อยละ 54.8 สมบูรณ์ปานกลาง ร้อยละ 26.3 และเสียหายร้อยละ 18.9 ส่วนฝั่งอ่าวไทยแนวปะการังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดี ร้อยละ 49.7 สมบูรณ์ปานกลาง ร้อยละ 21.3 เสียหาย ร้อยละ 29.0 โดยจังหวัดที่มีพื้นที่แนวปะการังสถานภาพสมบูรณ์ดีสูงที่สุด คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี รองลงมา คือ จังหวัดพังงา ส่วนจังหวัดที่มีพื้นที่แนวปะการังสถานภาพเสียหายสูงที่สุด คือ จังหวัดตราด ทั้งนี้ภาพรวมแนวปะการังฝั่งทะเลอันดามันมีสถานภาพสมบูรณ์มากกว่าฝั่งอ่าวไทย

          เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลสถานภาพแนวปะการังระหว่างฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2564 พบว่าสถานภาพแนวปะการังโดยภาพรวมของประเทศมีแนวโน้มสมบูรณ์ขึ้น โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นทั้งฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ซึ่งในปี พ.ศ. 2564 มีแนวปะการังที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดีร้อยละ 52.3 (พื้นที่ 77,961 ไร่) มากกว่าปี พ.ศ. 2563 ซึ่งมีร้อยละ 39.2 (พื้นที่ 49,055 ไร่) แนวปะการังในฝั่งทะเลอันดามันที่มีสถานภาพสมบูรณ์ดี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 33.5 เป็นร้อยละ 54.9 ส่วนฝั่งอ่าวไทย แนวปะการังสถานภาพสมบูรณ์ดี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 32.4 เป็นร้อยละ 49.7

          แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวของสถานภาพแนวปะการัง ภาพรวมอยู่ในระดับคงที่ ทั้งฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งอ่าวไทย โดยฝั่งทะเลอันดามันแนวปะการังในหลายจังหวัดมีแนวโน้มคงที่ ยกเว้นจังหวัดกระบี่ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เช่นเดียวกันกับฝั่งอ่าวไทย ส่วนใหญ่สถานภาพไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยกเว้นบริเวณจังหวัดชลบุรีที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ในขณะที่บริเวณอ่าวไทยตอนล่าง มีความเสียหายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาส ขณะที่แนวปะการังจังหวัดนครศรีธรรมราช มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ส่วนการครอบคลุมพื้นที่ของปะการังมีชีวิตของแนวปะการังในน่านน้ำไทย ปี พ.ศ. 2564 (รูปที่ 1.2) พบว่าแนวปะการังในอ่าวไทยตอนกลางบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดชุมพร รวมถึงแนวปะการังในทะเลอันดามัน มีการครอบคลุมพื้นที่ของปะการังมีชีวิตอยู่ในระดับร้อยละ 40 – 80 ซึ่งสูงกว่าแนวปะการังในอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ซึ่งมีการครอบคลุมพื้นที่ของปะการังมีชีวิตอยู่ในระดับร้อยละ 21 – 40 

รูปแสดงสัดส่วนของแนวปะการังสถานภาพต่าง ๆ และขนาดพื้นที่ (ไร่) ของแนวปะการังแต่ละจังหวัด จากการสำรวจในปีพ.ศ. 2564

รูปแสดงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสถานภาพแนวปะการังปี พ.ศ. 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับสถานภาพจากการสำรวจในปี พ.ศ. 2563

          สถานภาพแนวปะการังหลายพื้นที่มีแนวโน้มดีขึ้น เช่น แนวปะการังหลายบริเวณของเกาะกูด จังหวัดตราด หมู่เกาะไข่ จังหวัดพังงา และเกาะราชาใหญ่ แหลมพันวา เกาะไม้ท่อน จังหวัดภูเก็ต ทั้งจากการฟื้นตัวของแนวปะการังเองตามธรรมชาติและการฟื้นฟูแนวปะการัง รวมถึงพื้นที่แนวปะการังมีชีวิตที่เพิ่มขึ้นจากการปลูกเสริมปะการัง อย่างไรก็ตาม กระบวนการดำเนินโครงการฟื้นฟูปะการังโดยการปลูกเสริมแบบบูรณาการทุกภาคส่วน ยังมีปัญหาในการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง การควบคุมและกวดขันการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิด

รูปแสดงพื้นที่แนวปะการังที่เพิ่มขึ้นจากการดำเนินโครงการฟื้นฟูแนวปะการังโดยการปลูกเสริม (บนพื้นทรายนอกแนวปะการัง)

          นอกจากการฟื้นตัวที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติแล้ว แนวปะการังหลายบริเวณได้รับการบริหารจัดการและการควบคุมพื้นที่อย่างเป็นระบบทำให้แนวปะการังสามารถฟื้นตัวได้แม้จะมีการท่องเที่ยวอย่างหนาแน่น เช่น แนวปะการังบริเวณกลุ่มเกาะไข่ จังหวัดพังงา ซึ่งพบว่าแนวปะการังเริ่มมีการฟื้นตัวตามธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง หลังจากการบริหารจัดการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการวางทุ่นสำหรับจอดเรือเพื่อลดการทิ้งสมอในแนวปะการัง การควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการัง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ทั้งนี้ การฟื้นตัวของปะการังในหลายบริเวณยังอยู่ในระดับเริ่มต้น ซึ่งอาจยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงสถานภาพที่ชัดเจนนัก จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การฟื้นตัวเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม พบว่าแนวปะการังบางพื้นที่ยังมีสถานภาพเสื่อมโทรม หรือมีแนวโน้มที่จะเสื่อมโทรมมากขึ้น เช่น แนวปะการังบริเวณหน้าหาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา และอ่าวบางเทา อ่าวกมลา เกาะบอน จังหวัดภูเก็ต ซึ่งสาเหตุของความเสื่อมโทรมส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น น้ำทิ้งจากเขตชุมชน ตะกอนจากชายฝั่ง ขยะตกค้างในแนวปะการัง เช่น ผืนอวนที่ปกคลุมแนวปะการังที่เกาะโลซิน ความเสียหายของปะการังจากการเคลื่อนย้ายปะการังในกิจกรรมดำน้ำแบบ Sea walker เช่น บริเวณเกาะล้านและเกาะสาก จังหวัดชลบุรี การทำประมงตกปลาที่ทำให้เกิดการเหยียบย่ำปะการังบริเวณน้ำตื้น และการทิ้งสมอในแนวปะการัง การท่องเที่ยวหนาแน่นที่ขาดการบริหารจัดการตามหลักวิชาการที่เหมาะสม ทำให้สภาพแวดล้อมในพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของแนวปะการัง

รูปแสดงเครื่องมือประมงที่ตกค้างในแนวปะการัง (รูปบนซ้าย-ขวา) ความเสียหายของปะการังจากการการเคลื่อนย้ายปะการังในกิจกรรมดำน้ำแบบ Sea walker (รูปล่างซ้าย) และการทิ้งสมอในแนวปะการัง (รูปล่างขวา)

รูปแสดงผลการติดตามการฟื้นตัวปะการังจากการเก็บกู้อวนที่เกาะโลซิน จังหวัดปัตตานี (รูปซ้าย) แนวปะการังบริเวณที่ถูกอวนปกคลุมมีการฟื้นตัวได้เป็นปกติ (รูปล่างซ้าย) และวิธีการติดตามการฟื้นตัวของแนวปะการัง (รูปขวา)

          ภาพรวมของประเทศไทยมีแนวปะการังทั้งหมดประมาณ 149,182 ไร่ แบ่งเป็นฝั่งอันดามัน 73,756 ไร่ และฝั่งอ่าวไทย 75,426ไร่ จังหวัดที่มีแนวปะการังมากที่สุด คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี 35,982 ไร่ รองลงมา คือ จังหวัดพังงา 26,691 ไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลที่สำรวจระหว่างปี พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2564 พบว่าสถานภาพแนวปะการังในปี พ.ศ. 2564 มีแนวโน้มสมบูรณ์ขึ้น โดยแนวปะการังที่มีสถานภาพสมบูรณ์ดี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 32.9 มาเป็นร้อยละ 52.3 ซึ่งแหล่งที่มีแนวปะการังขนาดใหญ่ที่ถือว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดของประเทศ คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนแนวปะการังที่อยู่ในสภาพเสียหาย อยู่ในจังหวัดตราด และจังหวัดพังงา

          การศึกษาสถานภาพปะการังในบริเวณทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามันทั้งหมด 357 สถานี พบว่าในหลายพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของแนวปะการังมีแนวโน้มสมบูรณ์ขึ้น เช่น บริเวณจังหวัดกระบี่ จังหวัดชลบุรี และจังหวัดนครศรีธรรมราช ปัญหาหลักที่ยังคงเกิดขึ้นกับแนวปะการังในประเทศไทย นอกเหนือจากปัญหาที่เกิดจากปัจจัยตามธรรมชาติ อันได้แก่ ปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว ซึ่งล่าสุดเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2564 และมีแนวโน้มว่ามีความถี่เพิ่มขึ้นจากในอดีต หรืออาจจะเกิดขึ้นทุกปี และผลกระทบจากพายุปาบึกที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปี พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ในปัจจุบันยังคงมีปัญหาภัยคุกคามที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ โดยปัญหาที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างชัดเจน ได้แก่ ขยะในแนวปะการัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะจำพวกเศษอวน การลักลอบทำการประมงใกล้แนวปะการัง หรือในแนวปะการังตามเกาะที่อยู่ห่างไกล ตะกอนจากการพัฒนาชายฝั่ง เช่น การก่อสร้างที่มีการเปิดหน้าดิน การขุดลอกพื้นที่ชายฝั่งเพื่อกิจการต่าง ๆ การลักลอบปล่อยน้ำเสียลงทะเล การทิ้งขยะลงทะเล การลักลอบเก็บปะการังและจับปลาสวยงามเพื่อการค้า การลักลอบรื้อปะการังที่อยู่ติดหาดเพื่อให้เป็นพื้นทรายสำหรับให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำ หรือการขุดลอกแนวปะการังให้เป็นร่องน้ำ การท่องเที่ยวในแนวปะการัง หรือผลกระทบที่ก่อให้เกิดความเสียหายจากนักท่องเที่ยวประเภทดำผิวน้ำ (skin diving) การทอดสมอเรือในแนวปะการัง ปัญหาที่เกิดจากการดำน้ำท่องเที่ยว Sea walker และ Try dive การยืนเหยียบปะการัง การเดินเหยียบย่ำและพลิกปะการังเพื่อหาสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เช่น หอย หมึกยักษ์ ปลิงทะเล การรั่วไหลของน้ำมันลงทะเล การชะล้างน้ำมันจากเรือประมง การปล่อยน้ำทิ้งจากเรือนำเที่ยว น้ำทิ้งจากชายฝั่ง เช่น บริเวณเกาะเต่า เกาะพะงัน เกาะสมุย เป็นต้น อย่างไรก็ตามผลกระทบที่ก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างรุนแรงเป็นพื้นที่กว้างครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ คือ ผลกระทบจากการเกิดปะการังฟอกขาวในปี พ.ศ. 2553

ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 19 เมษายน 2565
องค์ความรู้ที่น่าสนใจ
  • ปฏิทินทะเล
    ปฏิทินทะเล
  • วาฬ/โลมา
    วาฬ/โลมา
  • ที่ดินชายฝั่ง
    ที่ดินชายฝั่ง
  • ปลานกแก้ว
    ปลานกแก้ว
  • อุทยานใต้ทะเล
    อุทยานใต้ทะเล
  • เกาะในประเทศไทย
    เกาะ หมายถึง บริเวณที่ดิน หิน หรือทรายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ล้อมรอบด้วยน้ำและอยู่เหนือน้ำตลอดเวลา ทั้งนี้เกาะอาจอยู่ในทะเล แม่น้ำ หรือที่ลุ่มขัง เช่น บึง หรือทะเลสาบก็ได้
  • คลื่นย้อนกลับ Rip Currents
    กระแสน้ำรูปเห็ด
  • ป่าชายหาดและป่าพรุ
    ป่าชายหาดและป่าพรุ
  • พื้นที่อนุรักษ์
    หมายถึง พื้นที่มีคุณค่าทางธรรมชาติ นิเวศ หรือวัฒนธรรมที่ควรจะอนุรักษ์ไว้สำหรับลูกหลานในอนาคต พื้นที่คุ้มครองถูกกำหนดขึ้นตามกฎหมายหรือกฎระเบียบอื่นๆ เพื่อให้เกิดการจัดการในรูปแบบต่างๆ เช่น อุทยานแห่งชาติ ป่าสงวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า การจัดการของพื้นที่คุ้มครองจะมีความหลากหลาย ตั้งแต่พื้นที่ที่มีการจำกัดการเข้าถึงของประชาชนจนถึงพื้นที่ ที่ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ในระดับต่างกัน พื้นที่คุ้มครองครอบคลุมทั้งพื้นที่บนบกและในทะเล