ปะการัง
- 10 สิงหาคม 2556
- 786
สถานภาพแนวปะการัง พ.ศ. 2558
ในช่วงปี พ.ศ.2537-2541 ได้มีการสำรวจแนวปะการังเพื่อจัดทำแผนที่แสดงการแพร่กระจายของ แนวปะการังในประเทศไทย พร้อมกับแสดงสถานภาพความสมบูรณ์และความเสื่อมโทรม ทำให้ทราบว่าในประเทศไทยมีแหล่งแนวปะการังกระจายอยู่ตามชายฝั่งของแผ่นดินใหญ่และตามเกาะต่างๆ เป็นพื้นที่รวมประมาณ 128,256 ไร่ ซึ่งเนื้อที่ประมาณครึ่งหนึ่งอยู่ทางฝั่งทะเลอันดามันและอีกครึ่งหนึ่งอยู่ทางอ่าวไทย ทั้งนี้ เนื้อที่ดังกล่าวยังไม่รวมถึงชายฝั่งโขดหินที่มีปะการังขึ้นประปราย และตามกองหินใต้น้ำซึ่งเป็นแหล่งที่โดดเด่นด้วยปะการังอ่อนและกัลปังหา ปัจจุบันกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งยังคงมีความพยายามที่จะสำรวจแหล่งแนวปะการังซึ่งคาดว่ายังมีอีกไม่ต่ำกว่าสิบเปอร์เซ็นต์ที่ยังตกสำรวจ เช่น ในปี พ.ศ.2552 ได้สำรวจแหล่งแนวปะการังใหม่ในเขตอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา พบว่า มีแนวปะการังก่อตัวห่างไกลออกไปจากฝั่งหลายแห่ง โดยเป็นแนวไม่ต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน แต่แยกเป็นผืนย่อยๆ คาดว่ามีไปถึงหน้าหาดไม้ขาว (เกาะภูเก็ต) ชาวประมงพื้นบ้านเรียกแหล่งแนวปะการังเหล่านี้ว่า “แนวปะการังพันไร่” ในอนาคตบางจุดอาจมีศักยภาพทางการท่องเที่ยวดำน้ำแบบดำน้ำลึก (SCUBA diving) ส่วนการดำน้ำแบบผิวน้ำ (snorkeling) ไม่เหมาะสม เพราะเป็นแหล่งที่อยู่ห่างจากชายฝั่งมาก ทำให้ไม่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวที่ดำน้ำบนผิวน้ำในการสำรวจแนวปะการัง ข้อมูลพื้นฐานที่ได้บันทึกคือ ปริมาณปกคลุมพื้นที่ของปะการังที่มีชีวิต และปริมาณปกคลุมพื้นที่ของปะการังตาย ค่านี้แสดงให้เห็นว่าในแนวปะการังแต่ละแห่งมีปะการังที่มีชีวิตและปะการังตายปกคลุมอยู่หนาแน่นมากน้อยเพียงไร ในการประเมินสถานภาพของแนวปะการังว่ามีสภาพดี หรือเสียหายมากน้อยเพียงไรนั้น ได้ใช้อัตราส่วนของปริมาณปกคลุมพื้นที่ของปะการังที่มีชีวิตต่อปะการังตายในแนวปะการังนั้นๆ มาเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน กล่าวคือ อัตราส่วนมากกว่าหรือเท่ากับ 3:1 ถือว่าเป็นแนวปะการังที่มีสภาพดีมาก อัตราส่วน 2:1 ถือว่าอยู่ในสภาพดี อัตราส่วนเท่ากับ 1:1 ถือว่าอยู่ในสภาพดีปานกลาง อัตราส่วน เท่ากับ 1:2 ถือว่าเสียหาย และ 1:3 (หรือมากกว่า 3) ถือว่าเสียหายมาก ต่อมา ในช่วงปี 2554 ถึง 2558 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้สำรวจแนวปะการังซ้ำทั่วทั้งฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พร้อมกับปรับปรุงเทคนิคการหาขนาดพื้นที่แนวปะการังขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความถูกต้องแม่นยำขึ้น สถานภาพของแนวปะการังในปัจจุบัน ปัญหาที่เกิดขึ้น และแนวทางจัดการแก้ไข แสดงพอสังเขปได้ดังนี้สถานภาพแนวปะการัง แนวปะการังในประเทศไทยทั้งทางฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย มีพื้นที่รวมประมาณ 148,955 ไร่ โดยภาพรวมยังถือว่าอยู่ในระดับเสียหายถึงเสียหายมากประมาณ 80% อยู่ในสภาพสมบูรณ์ปานกลาง 15% และ อยู่ในระดับสมบูรณ์ดีจนถึงดีมาก 5% สาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมอย่างทันทีเป็นบริเวณกว้างทั่วประเทศคือการเกิดปะการังฟอกขาวเนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงผิดปกติในปี 2553
ตารางแสดงสัดส่วนสถานภาพของแนวปะการัง (%) ในสภาพต่างๆ และแผนที่สถานภาพแนวปะการัง ในน่านน้ำไทยรายจังหวัด
เขต | จังหวัด | พื้นที่ (ไร่) | สมบูรณ์ ดีมาก |
สมบูรณ์ มาก |
สมบูรณ์ ปานกลาง |
เสียหาย | เสียหายมาก |
---|---|---|---|---|---|---|---|
ฝั่งอ่าวไทย | |||||||
อ่าวไทย ฝั่งตะวันออก | ตราด | 17,758 | 1.5 | 2.1 | 18.5 | 33.5 | 44.5 |
จันทบุรี | 766 | 0 | 7.4 | 28.8 | 49.1 | 14.7 | |
ระยอง | 3,151 | 5.6 | 17.5 | 37.2 | 28.7 | 11.0 | |
ชลบุรี | 6,472 | 2.7 | 9.3 | 32.0 | 26.3 | 29.7 | |
อ่าวไทยตอนกลาง | ประจวบคีรีขันธ์ | 1,550 | 0.1 | 2.6 | 22.7 | 50.3 | 24.3 |
ชุมพร | 9,165 | 2.9 | 3.5 | 13.1 | 30.0 | 50.5 | |
สุราษฎร์ธานี | 36,169 | 0.5 | 1.0 | 10.4 | 33.3 | 54.9 | |
อ่าวไทยตอนล่าง | นครศรีธรรมราช | 412 | 56.9 | 24.6 | 11.5 | 0.0 | 7.0 |
สงขลา | 167 | 22.4 | 15.2 | 36.7 | 0.0 | 25.6 | |
ปัตตานี | 80 | 66.7 | 33.3 | 0 | 0 | 0 | |
ร่วมฝั่งอ่าวไทย | 75,590 | 1.8 | 3.2 | 16.0 | 32.2 | 46.7 | |
ฝั่งทะเลอันดามัน | |||||||
ทะเลอันดามัน ตอนบน | ระนอง | 2,828 | 0 | 0 | 2.6 | 18.3 | 79.1 |
พังงา | 26,126 | 1.0 | 0.7 | 7.1 | 20.8 | 70.3 | |
ภูเก็ต | 13,932 | 0.3 | 1.2 | 15.6 | 20.6 | 62.3 | |
ทะเลอันดามัน ตอนล่าง | กระบี่ | 14,039 | 0.2 | 0.7 | 13.4 | 37.0 | 48.8 |
ตรัง | 3,013 | 0.6 | 0.4 | 14.7 | 28.1 | 56.3 | |
สตูล | 13,428 | 9.8 | 19.0 | 38.3 | 20.4 | 12.5 | |
รวมฝั่งอันดามัน | 73,365 | 2.3 | 4.1 | 15.8 | 24.0 | 53.8 | |
รวมทั้งประเทศ | 148,955 | 2.0 | 3.7 | 15.9 | 28.3 | 50.1 |
ที่มา : 1. รายงานการสำรวจและประเมินสถานภาพและศักยภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปะการังและหญ้าทะเล ปี 2558
ที่มา : 2. แผนที่สถานภาพแนวปะการังในน่านน้ำไทยรายจังหวัด
ข้อมูลปัจจุบัน ปี 2558 ค่าปกคลุมของปะการังที่มีชีวิต (% live coal cover = เป็นค่าที่บอกถึงความหนาแน่นของปะการังที่มีชีวิตในพื้นที่) โดยภาพรวมของประเทศเท่ากับ 23% ซึ่งถ้าหากเปรียบเทียบกับในภูมิภาคอื่นของโลก เช่น ในเกรท แบริเออรีฟ (ออสเตรเลีย) และในแถบทะเลแคริบเบียน มีค่าปกคลุมของปะการังที่มีชีวิตเพียง 10% จะเห็นแนวปะการังในประเทศไทยยังมีแนวโน้มที่อยู่ในสถานการณ์ที่ดีกว่าข้อมูล : นายนิพนธ์ พงศ์สุวรรณ
ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2559