ขนาด
ปะการัง
  • 1 กรกฎาคม 2556
  • 9,489
ปะการัง สารสนเทศ ทช. ศูนย์ข้อมูลกลาง ทช.

มารู้จักปะการัง

แนวปะการัง
          เป็นแนวหินปูนใต้ทะเลในระดับน้ำตื้นที่แสงแดดส่องถึง หินปูนดังกล่าวเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของปะการังหลายๆ ชนิด นอกจากนี้ ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกหลายชนิดที่มีส่วนเสริมสร้างหินปูนพอกพูนสะสมในแนวปะการัง เช่น สาหร่ายหินปูน หอยที่มีเปลือกแข็ง ฯลฯ ทั้งปะการังเองและสิ่งมีชีวิตที่สร้างหินปูนได้ เมื่อตายไปแล้วจะยังคงเหลือซากหินปูนทับถมพอกพูนต่อไป เนื่องจากแนวปะการังประกอบด้วยปะการังหลายชนิดและปะการังแต่ละชนิดมีลักษณะโครงสร้างแตกต่างกันไป ทำให้โครงสร้างของแนวปะการังมีลักษณะซับซ้อน เต็มไปด้วยซอกหลืบเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่น ปลาชนิดต่าง ๆ กุ้ง หอย ดาวทะเล ปลิงทะเล ฟองน้ำ ปะการังอ่อน กัลปังหา หนอนทะเล สาหร่ายทะเล เป็นต้น ทำให้แนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่มีความซับซ้อน และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในทะเล ความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังดึงดูดให้มีการใช้ประโยชน์จากแนวปะการังมากขึ้นทั้งโดยตรงและโดยทางอ้อม ทรัพยากรสัตว์น้ำนานาชนิดจากแนวปะการังถูกนำขึ้นมาใช้ประโยชน์และการท่องเที่ยวในแนวปะการังเป็นที่นิยมมากขึ้น

 

 

          แนวปะการังเป็นระบบนิเวศและเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญทั้งในแง่การเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งหลบภัยให้กับสัตว์นานาชนิดตั้งแต่ช่วงวัยอ่อนจนถึงตัวเต็มวัย เป็นแหล่งอาหารและแหล่งทำการประมง เป็นแนวป้องกันชายฝั่งจากการกัดเซาะของคลื่นและและกระแสน้ำ เป็นแหล่งของสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญทางด้านเภสัช เป็นแหล่งกำเนิดเม็ดทราย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศอย่างมหาศาล อย่างไรก็ตาม แนวปะการังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากกิจกรรมการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ทำให้แนวปะการังเกิดความเสื่อมโทรมลง

          ประเทศไทยมีพื้นที่แนวปะการังทั้งสิ้น 149,182 ไร่ กระจายอยู่ในพื้นที่ชายฝั่ง 17 จังหวัด จากการสำรวจแนวปะการังในประเทศไทยของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบปะการัง 273 ชนิด จาก 18 วงศ์ 71 สกุล (ชนิดพันธุ์ปะการังที่พบได้ทั่วโลกประมาณ 800 ชนิด) โดยปะการังชนิดเด่น ได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea) ปะการังเขากวาง (Acropora spp.) ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นแนวปะการังที่ก่อตัวริมชายฝั่งของเกาะหรือตามชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ (fringing reef) นอกจากนี้ยังมีแนวปะการังชายฝั่งบางส่วน และแนวปะการังบริเวณกองหินใต้น้ำโดยเฉพาะบริเวณที่อยู่ห่างไกลจากฝั่งและน้ำลึก ๆ ที่ยังไม่ได้ทำการสำรวจ ดังนั้นแนวปะการังที่ดำเนินการสำรวจส่วนใหญ่จึงเป็นแนวปะการังใกล้ฝั่ง ที่พบตามชายฝั่งของแผ่นดินใหญ่หรือตามเกาะแก่งต่าง ๆ โดยมีการแพร่กระจายอยู่ใน 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ แนวปะการังฝั่งอ่าวไทยทั้งหมด 75,426 ไร่ ประกอบด้วย อ่าวไทยฝั่งตะวันออก มีแนวปะการังกระจายอยู่ตามรอบเกาะต่าง ๆ รวมประมาณ 100 เกาะ ตั้งแต่จังหวัดตราด จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี อ่าวไทยตอนกลาง ซึ่งส่วนใหญ่พบแนวปะการังอยู่บริเวณรอบเกาะต่าง ๆ ประมาณ 150 เกาะ ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี และอ่าวไทยตอนล่าง มีแนวปะการังกระจายอยู่เล็กน้อยตามเกาะซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกาะขนาดเล็กและกองหินต่าง ๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส ส่วนแนวปะการังฝั่งทะเลอันดามันทั้งหมด 73,756 ไร่ ประกอบด้วย แนวปะการังที่อยู่บริเวณชายฝั่งและเกาะต่าง ๆ ตั้งแต่จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล

ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 19 เมษายน 2565
องค์ความรู้ที่น่าสนใจ
  • ThaiToxicMarineLife
    ThaiToxicMarineLife
  • PMBC Special Publication
    PMBC Special Publication
  • อุทยานใต้ทะเล
    อุทยานใต้ทะเล
  • หญ้าทะเล
    หญ้าทะเล
  • วาฬ/โลมา
    วาฬ/โลมา
  • กัดเซาะชายฝั่ง
    ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 3,151 กิโลเมตร ครอบคลุมจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัดโดยชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย มีความยาว 2,040 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด และชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน มีความยาว 1,111 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลรวม 6 จังหวัด
  • นกในเขตชายฝั่งทะเล
    นกในระบบนิเวศชายฝั่งทะเล
  • ความหลากหลายชีวภาพ
    ความหลากหลายชีวภาพ
  • เต่าทะเล
    เต่าทะเล