ปลานกแก้ว
- 1 ตุลาคม 2564
- 393
ความสำคัญในระบบนิเวศ
ปลานกแก้วเป็นสัตว์กินพืช ใช้เวลาทั้งวันครูดกินสาหร่ายที่เกาะกับปะการังและโขดหินในแนวปะการังเป็นอาหารโดยใช้ฟันที่มีลักษณะเรียงต่อกันเป็นแผงคล้ายจะงอยปากนกแก้ว ซึ่งลักษณะการกินของปลานกแก้วนั้นนอกจากจะเป็นการช่วยกำจัดสาหร่ายที่จะขึ้นมาปกคลุมปะการังแล้ว ยังช่วยเปิดพื้นที่บนโขดหินให้ตัวอ่อนปะการังสามารถลงเกาะและเจริญต่อไปเป็นปะการังได้ เหตุการณ์นี้พบว่าเมื่อเกิดปรากฏการณ์ฟอกขาว แนวปะการังที่มีปลานกแก้วจะทำให้ปะการังสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าแนวปะการังที่ไม่มีปลานกแก้วกว่า 6 เท่า โดยเป็นงานวิจัยของ P. J. Mumby et al. 2013. เรื่อง "Operationalizing the resilience of coral reefs in an era of climate change." แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์และคณะที่ตีพิมพ์ในวารสาร Conservation Letter 2013
นอกจากนี้ การกัดแทะก้อนปะการังของปลานกแก้วเป็นตัวช่วยทำให้โครงสร้างแข็งถูกทำให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ และถูกแปลงให้อยู่ในรูปของ calcium carbonate หรือหินปูนที่ละลายในน้ำจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งโดยปะการังและหอย และตะกอนทรายเหล่านี้จะก่อเป็นหาดทรายในธรรมชาติอีกด้วย
เราจะช่วยปลานกแก้ว....ให้อยู่คู่แนวปะการัง ได้อย่างไร
ปลานกแก้วไม่ใช่สัตว์คุ้มครอง แต่ก็มีความพยายามในการอนุรักษ์ปลานกแก้วจากทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ การออกประกาศคุ้มครองแหล่งที่อยู่อาศัยในแนวปะการัง การรณรงค์ให้ห้างร้านขนาดใหญ่หยุดขายปลานกแก้ว เป็นต้น นอกจากนี้ พวกเราทุกคนก็สามารถช่วยเหลือปะการังให้คงอยู่คู่ท้องทะเลต่อไป โดยการหยุดซื้อ หยุดขาย หยุดจับปลานกแก้ว เพื่อให้ปลานกแก้วได้ทำหน้าที่ฟื้นฟูแนวปะการังและรักษาความสมดุลระบบนิเวศแนวปะการังต่อไป
ข้อมูล : สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
วันที่ : 1 ตุลาคม 2564