ปลานกแก้ว
- 1 ตุลาคม 2564
- 632
ลักษณะเฉพาะของปลานกแก้ว
ปลานกแก้ว เป็นปลาที่มีสีสันสวยงาม โดยปลาตัวผู้จะมีสีสันสวยงามกว่าปลาตัวเมีย ลำตัวรียาว ส่วนใหญ่มีครีบหางแบบเว้าโดยขอบบนและขอบล่างของครีบหางมักยื่นยาวออกมา
มีฟันคล้าย ๆ จะงอยปากนกแก้วเพื่อนำมาใช้ขูดกินปะการัง และมีฟันอีกชุดในคอหอยด้วย ซึ่งเมื่อกัดแทะนั้นจะเกิดเป็นเสียง และขับถ่ายออกมาเป็นผงตะกอนซึ่งมีประโยชน์ต่อแนวปะการัง ฟันของปลานกแก้วประกอบไปด้วยสารประกอบของฟอสเฟต จึงทำให้มีความแข็งมาก
ออกหากินในเวลากลางวัน นอนหลับในเวลากลางคืน โดยจะนอนตามซอกหินก่อนนอนจะปล่อยเมือกออกมาห่อหุ้มร่างกายคล้ายกับดักแด้ (Cocoon) เพื่อป้องกันอันตรายจากพวกสัตว์ทะเลต่าง ๆ เช่น พวกหนอนพยาธิ หรือปรสิตที่จะมาทำร้าย หรือมารบกวน
ปลานกแก้ว มีชีวิตโดยเฉลี่ยประมาณ 7 ปี สามารถเปลี่ยนสีและเพศตลอดช่วงชีวิต (polychromatism) ขึ้นอยู่กับขั้นตอนการพัฒนา ปลานกแก้วอาศัยเป็นฝูงขนาดใหญ่ มีตัวผู้ที่โดดเด่นเป็นจ่าฝูง ถ้าจ่าฝูงตายลง หนึ่งในตัวเมียจะเปลี่ยนเพศเป็นตัวผู้และรับบทบาทเป็นจ่าฝูงต่อไป
อาหารและนิสัยการกิน
ปลานกแก้วชนิดต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นสัตว์กินพืช ยกเว้นในปลานกแก้วหัวโหนก (Bumphead parrotfish) ที่กินปะการังมีชีวิตเป็นอาหาร ปลานกแก้วใช้เวลาในแต่ละวันกัดแทะกินสาหร่ายบนปะการัง มีฟันชนิดพิเศษที่อยู่ในลำคอของปลาทำหน้าที่หน้าที่บดปะการังเพื่อสกัดสาหร่ายที่ติดกับปะการังให้เป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ เศษปะการังจะถูกขับออกมาเป็นทราย ซึ่งกระบวนการนี้เองที่ถือได้ว่าปลานกแก้วเป็นผู้สร้างหาดทรายด้วยเช่นกัน โดยประมาณการได้ว่าปลานกแก้ว 1 ตัว สามารถผลิตทรายได้เกือบร้อยกิโลกรัมต่อปีเลยทีเดียว
การสืบพันธุ์และเติบโต
ปลานกแก้วมีวิธีการสืบพันธุ์ที่น่าสนใจมาก ด้วยเหตุผลที่ไม่ทราบสาเหตุ ปลานกแก้วสามารถเปลี่ยนเพศได้หลายต่อหลายครั้งตลอดชีวิต (sequential hermaphroditism) ตัวเมียปล่อยไข่ขนาดเล็กที่ได้รับการผสมแล้วหลายร้อยใบซึ่งลอยตัวได้อย่างอิสระ และฝังตัวอยู่ในปะการังจนกว่าจะฟักออกมา
การจำแนกปลานกแก้ว
ปลานกแก้ว เป็นปลาที่จำแนกและวิเคราะห์ชนิดให้ถูกต้องได้ยาก เนื่องจากมีสีบนลำตัวที่หลากหลาย และสีบนลำตัวจะหายไปเมื่อตายลง อีกทั้งตัวผู้และตัวเมียยังมีสีที่ไม่เหมือนกัน และสามารถเปลี่ยนสลับเพศกันไปมาได้
การแพร่กระจาย
ปลานกแก้วพบในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก โดยอาศัยตามแนวปะการัง ชายฝั่งหิน แนวหญ้าทะเล นั่นเป็นเพราะที่อยู่อาศัยเหล่านี้ให้ปริมาณอาหารที่คงที่ และอุดมสมบูรณ์
ภัยคุกคามของปลานกแก้ว
ถึงแม้ว่าเราจะไม่ค่อยพบเห็นปลานกแก้วในซุปเปอร์มาร์เก็ตเท่าไหร่นัก แต่ปลานกแก้วถือเป็นอาหารชั้นเลิศของคนท้องถิ่นทั่วโลกทีเดียว ปัจจุบันมีการจับปลานกแก้วในแนวปะการังธรรมชาติมาเลี้ยงในตู้ปลา และนำมาทำอาหารมากขึ้น ทำให้จำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เนื่องจากปลานกแก้วเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการสร้างสมดุลของระบบนิเวศแนวปะการัง
ข้อมูล : สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
วันที่ : 1 ตุลาคม 2564