สมุทรศาสตร์
- 25 สิงหาคม 2556
- 724
ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง
ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำทะเล ส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ประกอบด้วย
1. การปล่อยน้ำเสียลงทะเล
เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เป็นชุมชนขนาดใหญ่ริมชายฝั่งหลายพื้นที่ ที่มีชุมชนขนาดใหญ่และขยายตัวอย่างรวดเร็ว น้ำเสียที่ถูกปล่อยลงมาจะทำให้ระดับออกซิเจนละลายในน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์และความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยว
2. ขยะและน้ำชะมูลฝอย (Leachate)
ขยะที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำทะเล ส่วนใหญ่เป็นขยะที่อยู่บนแผ่นดินเกิดการชะล้างปนเปื้อนมากับปริมาณน้ำฝนและไหลลงสู่ทะเล ซึ่งเป็นน้ำเสียที่มีความสกปรกสูงมาก ซึ่งมีทั้งสารอินทรีย์ สารอนินทรีย์ เชื้อโรค และสารพิษต่างๆ เจือปนอยู่ ในกรณีที่น้ำเสียจากกองขยะมูลฝอยไหลลงสู่ทะเลก็จะทำให้คุณภาพน้ำเสียไป ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเล
3. คราบน้ำมันและการปนเปื้อนของสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน
ทำให้คุณภาพน้ำเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสื่อมโทรมลง น้ำมันที่รั่วไหลมีผลกระทบอย่างทันทีต่อสัตว์ซึ่งอาศัยบริเวณผิวน้ำทะเล เช่น นก และโลมา คราบน้ำมันที่รั่วไหลจะปิดกั้นแสงสว่างที่สองลงมาสู่พื้นท้องน้ำมีผลต่อขบวนการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืช สาหร่าย และพืชน้ำ ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำต่ำลง น้ำมันที่มีความหนาแน่นสูง เมื่อจมลงสู่พื้นท้องทะเลมีผลต่อสัตว์หน้าดิน เมื่อคราบน้ำมันถูกซัดขึ้นบนฝั่งทำให้บริเวณชายฝั่งสกปรก ทำให้ความงามของแหล่งท่องเที่ยวหมดไป ยิ่งไปกว่านั้นคราบน้ำมันยังเป็นพิษต่อสัตว์ทะเลที่อาศัยบริเวณชายฝั่งอีกด้วย
4. การเกษตรกรรม
ในบางพื้นที่ที่มีกิจกรรมด้านการเกษตรกรรม น้ำเสียการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด และการเพาะปลูก เมื่อไหลสู่ทะเลจะทำให้คุณภาพน้ำทะเลเสื่อมโทรม สารเคมีและยาปราบศัตรูพืชสามารถสะสมในสิ่งแวดล้อม เกิดความเป็นพิษต่อสัตว์น้ำ และสามารถสะสมในสายใยอาหาร น้ำทิ้งจากการเกษตรมักมีปริมาณธาตุอาหารละลายอยู่มาก เนื่องจากการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกร ทำให้น้ำทะเลมีปริมาณสารอาหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดสภาพยูโทรฟิเคชั่น (Eutrophication) จากการเจริญเติบโตของสาหร่ายและพืชน้ำอย่างรวดเร็ว
5. น้ำทะเลเปลี่ยนสี (Red Tides)
เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของแพลงก์ตอนบางชนิดในทะเล อาจมีทั้งที่เป็นประโยชน์และมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำรวมถึงมนุษย์ เนื่องจาก ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำลดลงต่ำมาก หรือ แพลงก์สามารถสร้างสารพิษ (Biotoxin) ที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำออกมาปริมาณมาก การเพิ่มปริมาณสารอาหารบริเวณชายฝั่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนอย่างรวดเร็ว ซึ่งปริมาณสารอาหารที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่นั้นมักเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์
6. น้ำจืดไหลลงสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว
ปริมาณน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเลแบบฉบับพลันและมีปริมาณมากจะทำให้ความเค็มลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อสัตว์การดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ทะเลหน้าดินที่เคลื่อนไหวได้ช้าหรือไม่เคลื่อนไหว สร้างความเสียหายต่อพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งทะเล เช่น หอยแครง หอยแมลงภู่ ปลาในกระชัง เป็นต้น
7. ความเป็นกรดของน้ำทะเล
การเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์กังวลว่าน้ำทะเลอาจมีสภาพเป็นกรดมากขึ้น เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ละลายลงไปในน้ำทำให้ค่าความเป็นกรดด่างเปลี่ยนไปซึ่งส่งผลให้คุณภาพน้ำทะเลมีสภาพเปลี่ยนเป็นกรดมากขึ้น ส่งผลกระทบสิ่งมีชีวิตในทะเลโดยเฉพาะเพาะอย่างยิ่งสิ่งมีชีวิตที่สร้างแคลเซียมหรือหินปูน เช่น หอยเม่น สาหร่าย แพลงก์ตอนพืช-สัตว์ ห่วงเปลือกหอย ปะการัง เป็นต้น