ขนาด
สมุทรศาสตร์
  • 19 กรกฎาคม 2566
  • 297
สมุทรศาสตร์ สารสนเทศ ทช. ศูนย์ข้อมูลกลาง ทช.

สถานภาพคุณภาพน้ำทะเล (2564)

          การติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน รวมทั้งสิ้น 248 สถานี โดยประเมินจากค่าดัชนีคุณภาพน้ำทะเล (Marine Water Quality Index, MWQI) คํานวณจาก 8 ปัจจัย ได้แก่ ความเป็นกรด-ด่าง (pH) ออกซิเจนละลายน้ำ (Dissolved oxygen) อุณหภูมิน้ำ (Temperature) สารแขวนลอยทั้งหมด (Total suspended Solid) แอมโมเนีย (Ammonia) ไนเตรท (Nitrate) ฟอสเฟต (Phosphate) และแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด (Total coliform bacteria) เพื่อบ่งชี้ถึงคุณภาพของน้ำทะเล และเมื่อพิจารณาจากสัดส่วนของคุณภาพน้ำทะเลในแต่ละเกณฑ์ พบว่าในปี พ.ศ. 2564 สถานการณ์คุณภาพน้ำทะเลส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีและดีมาก ร้อยละ 75 เกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 22 และเกณฑ์เสื่อมโทรมร้อยละ 3 เมื่อพิจารณาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ําทะเลชายฝั่ง ปี พ.ศ. 2557 – 2564 พบว่าโดยรวมคุณภาพน้ำทะเลมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคงที่ คือสถานการณ์คุณภาพน้ำทะเลส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี รองลงมาเป็นเกณฑ์พอใช้ ดีมาก และเสื่อมโทรม ตามลําดับ สําหรับรายละเอียดข้อมูลคุณภาพน้ำอื่น ๆ สามารถดูได้จากกรมควบคุมมลพิษ

การเปลี่ยนแปลงสถานภาพน้ำทะเลชายฝั่งรายปีโดยแบ่งระดับคุณภาพน้ำเป็น ดี-ดีมาก พอใช้ และเสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมากค่าเฉลี่ยดัชนีชี้วัดคุณภาพน้ำทะเล (Marine Water Quality Index, MWQI) รายปีประกอบช่วงความเชื่อมั่นที่ 95% และแผนที่การแพร่กระจายของดัชนีคุณภาพน้ำ MWQI และจุดพื้นที่คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม

          จากการติดตามตรวจสอบและประเมินสถานภาพคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งพื้นที่อ่าวไทยฝั่งตะวันออกปีงบประมาณ 2564 คุณภาพน้ำทะเลส่วนใหญ่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ดี รองลงมาอยู่ในเกณฑ์พอใช้ เนื่องจากสถานีตรวจวัดส่วนใหญ่เป็นเกาะที่อยู่ห่างฝั่งได้รับอิทธิพลจากแผ่นดินน้อย ซึ่งถึงแม้ว่าในปัจจุบันคุณภาพน้ำบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออกส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเล แต่ก็ยังพบการเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีบ่อยครั้ง รวมทั้งการเกิดน้ำมันรั่วไหลที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงควรติดตามสภาวะคุณภาพน้ำทะเลบริเวณชายฝั่งตะวันออกอย่างต่อเนื่อง

          คุณภาพน้ำในพื้นที่ติดตามคุณภาพน้ำชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน ซึ่งมีลักษณะเป็นอ่าวกึ่งปิดและได้รับอิทธิพลจากแม่น้ำสายหลัก 4 สาย คือ แม่น้ำแม่กลอง (จังหวัดสมุทรสงคราม) แม่น้ำท่าจีน (จังหวัดสมุทรสาคร) แม่น้ำเจ้าพระยา (จังหวัดสมุทรปราการ) และแม่น้ำบางปะกง (จังหวัดฉะเชิงเทรา) ซึ่งไหลผ่านพื้นที่เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และชุมชนเมืองขนาดใหญ่ก่อนลงสู่ชายฝั่งทะเล จึงเป็นแหล่งรองรับน้ำเสียและมลสารจํานวนมาก คุณภาพน้ำบริเวณอ่าวไทยตอนบนจึงมีลักษณะค่อนข้างเสื่อมโทรม มีความเข้มข้นของธาตุอาหาร (Nutrients) จําพวกไนโตรเจน และฟอสฟอรัสในน้ำทะเลที่สูง และปริมาณแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอรม์ทั้งหมด (Total Coliform bacteria, TCB) ที่ตรวจวัดได้มีค่าสูงเกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทะเล ทั้งนี้ธาตุอาหารกลุ่มไนโตรเจนมีแหล่งกําเนิดได้จากกระบวนการย่อยสลายสารประกอบอินทรีย์ไนโตรเจนในชุมชนเมืองโรงงานอุตสาหกรรม กิจกรรมด้านการเกษตรที่มีการใช้ปุ๋ยเคมี จากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ตลอดจนมาจากตะกอนพื้นท้องน้ำ ธาตุอาหารกลุ่มฟอสฟอรัสมีแหล่งที่มาหลักจากน้ำทิ้งชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมจากกิจกรรมด้านการเกษตร และจากตะกอนเช่นเดียวกับไนโตรเจน ปริมาณแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมดที่ตรวจพบมีค่าสูงแสดงถึงการปนเปื้อนของเสียจากการขับถ่ายทั้งจากคน และสัตว์เลือดอุ่น จึงเป็นปัจจัยบ่งชี้น้ำทิ้งจากครัวเรือน และน้ำระบายจากพื้นที่ปศุสัตว์ เมื่อพิจารณาค่าข้อมูลสอดคล้องกับปริมาณคลอโรฟิลล์ เอ ที่มีค่าค่อนข้างสูงซึ่งเป็นข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นแนวโน้มการเกิดปัญหาการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืชในพื้นที่ได้ โดยการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนพืช และสาหร่ายบริเวณชายฝั่งพื้นที่อ่าวไทยตอนบน พบมีการเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีบางช่วงของรอบปีเสมอ โดยพบบ่อยในช่วงเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี

          คุณภาพน้ำชายฝั่งทะเลพื้นที่อ่าวไทยตอนกลาง สถานะคุณภาพน้ำในพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากสถานีตรวจวัดส่วนใหญ่มีสภาพพื้นที่ชายฝั่งเป็นทะเลเปิดมีการไหลเวียนของกระแสน้ำในพื้นที่ชายฝั่งที่ดี ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากแผ่นดิน ยกเว้นพื้นที่ในอ่าวปากพนังมีสถานะคุณภาพน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ เนื่องจากอิทธิพลจากแม่น้ำปากพนัง และลําน้ำสาขาไหลผ่านแหล่งชุมชนที่หนาแน่นรอบอ่าวปากพนัง สารอาหาร และแร่ธาตุต่าง ๆ ไหลจากคลองลงสู่อ่าวปากพนัง ซึ่งมีลักษณะเป็นคลองที่มีการไหลเวียนของน้ำค่อนข้างจํากัดทําให้เกิดการสะสมของปริมาณสารอาหารสูง

          คุณภาพน้ำชายฝั่งทะเลพื้นที่อ่าวไทยตอนล่าง สถานะคุณภาพน้ำในพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากมีลักษณะชายฝั่งเป็นแนวหาดทรายเรียบตรงไม่เว้าแหว่งมาก และแม้จะเป็นหาดท่องเที่ยวและมีแหล่งชุมชนริมฝั่ง แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่ชายฝั่งเป็นทะเลเปิดการไหลเวียนของกระแสน้ำในพื้นที่ชายฝั่งที่ดีทําให้มีศักยภาพในการเจือจาง และขบวนการย่อยสลายอินทรีย์สารตามธรรมชาติที่ดีซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากแผ่นดิน

          คุณภาพน้ำทะเลพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน พบสถานะเสื่อมโทรมร้อยละ 1 ในจังหวัดภูเก็ต โดยคุณภาพน้ำทะเลในเกณฑ์เสื่อมโทรมที่พบมีสาเหตุมาจากความเข้มข้นของธาตุอาหารในน้ำทะเลที่มีค่าสูง และปริมาณแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมดที่ตรวจวัดได้มีค่าสูงกว่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทะเล เช่นเดียวกัน พื้นที่ที่ควรเฝ้าระวังเนื่องจากสถานะคุณภาพน้ำทะเลอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม ได้แก่ หาดกมลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์เพื่อกิจกรรมการท่องเที่ยว มีสถานประกอบการร้านอาหาร และการขยายตัวของชุมชนชายฝั่งที่หนาแน่นที่ส่งผลกระทบต่อสถานะคุณภาพน้ำในบริเวณนี้

แสดงค่าเฉลี่ยคุณภาพน้ำกับค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทะเล ประเภทที่ 1 คุณภาพน้ำทะเลเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (กรมควบคุมมลพิษ, 2560) พื้นที่คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมบริเวณอ่าวไทยตอนบน

ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2566
องค์ความรู้ที่น่าสนใจ
  • ขยะทะเล
    ขยะทะเล
  • อาณาเขตทางทะเล
    ประเทศไทย มีอาณาเขตทางทะเล (maritime zone) ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 กว่า 350,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมากกว่า 2 ใน 3 ของอาณาเขตทางบก ที่มีอยู่ประมาณ 513,000 ตารางกิโลเมตร โดยมีความยาวของชายฝั่งทะเล ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน รวมถึงช่องแคบมะละกาตอนเหนือ รวมความยาวชายฝั่งทะเลในประเทศไทยทั้งสิ้นกว่า 3,148.23 กิโลเมตร ครอบคลุม 23 จังหวัด
  • ปลาฉลามวาฬ
    ปลาฉลามวาฬ
  • ปะการังเทียม
    ปะการังเทียม
  • พ.ร.บ. ทช.
    พ.ร.บ. ทช.
  • น้ำมันรั่วไหล
    การเกิดน้ำมันรั่วไหล (Oil spill) ในทะเล และชายฝั่งอาจเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การขุดเจาะและขนส่งน้ำมัน การเดินเรือ การล้างถังอับเฉาเรือ ลักลอบทิ้งน้ำที่มีน้ำมันปนเปื้อนหรือน้ำมันที่ใช้แล้ว
  • กัดเซาะชายฝั่ง
    ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 3,151 กิโลเมตร ครอบคลุมจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัดโดยชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย มีความยาว 2,040 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด และชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน มีความยาว 1,111 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลรวม 6 จังหวัด
  • ThaiToxicMarineLife
    ThaiToxicMarineLife
  • วาฬ/โลมา
    วาฬ/โลมา