ขนาด
สมุทรศาสตร์
  • 1 สิงหาคม 2556
  • 852
สมุทรศาสตร์ สารสนเทศ ทช. ศูนย์ข้อมูลกลาง ทช.

ข้อมูลสมุทรศาสตร์ฝั่งอันดามัน

ลักษณะชายฝั่งทะเลของพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน
          มีลักษณะเป็นชายฝั่งทะเลยุบตัวลงหรือจมตัว ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงของลักษณะสัณฐานชายฝั่งครั้งใหญ่ เมื่อประมาณ 65 ล้านปีมาแล้ว ในยุคเทอร์เชียร์รี่ การจมตัวของชายฝั่งทำให้ชายฝั่งทะเลของพื้นที่มีความลาดชันและเกิดเป็นแนวไม่ราบเรียบ เว้าแหว่ง มีอ่าวและเกาะแก่งมากมาย ที่เห็นได้ชัดเจน คือ บริเวณปากแม่น้ำกระบุรี จังหวัดระนอง เกาะสำคัญ ได้แก่ เกาะภูเก็ต เกาะตะรุเตา เกาะลันตา เกาะลิบง เกาะพระทอง และเกาะยาวใหญ่ บริเวณชายฝั่งทะเลบางแห่ง น้ำทะเลท่วมถึง มีป่าชายเลนขึ้นอยู่ ตั้งแต่อ่าวพังงาลงไปถึงจังหวัดตรัง และพบร่องรอยการกัดเซาะแนวชายฝั่งตามอ่าวต่างๆ บ้าง เช่น บริเวณอ่าวฉลอง อ่าวภูเก็ต อ่าวราไวย์ และอ่าวมะพร้าว เป็นต้น รายละเอียดข้อมูลสมุทรศาสตร์ชายฝั่งทะเลอันดามัน (สำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน, 2555) มีดังนี้

1. ความลึกของพื้นผิวทะเล
          บริเวณชายฝั่งทะเลของพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน แบ่งได้ 2 พื้นที่ตามเส้นชั้นความลึกของน้ำทะเล ซึ่งก่อให้เกิดความหลากหลายของแนวปะการังทั้งชนิดและปริมาณ คือ  ผิวพื้นทะเลบริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดระนอง พังงาฝั่งตะวันตกและภูเก็ตฝั่งตะวันตก ทรวดทรงของพื้นทะเลมีความลาดชันสูง มีความลึกน้ำเฉลี่ยประมาณ 1,000 เมตร โดยเฉพาะบริเวณแอ่งอันดามันซึ่งเป็นบริเวณที่ทะเลไทยมีความลึกมากที่สุด ประมาณ 3,000 เมตร ลักษณะพื้นทะเลเป็นทรายและทรายปนโคลน ในขณะที่พื้นผิวทะเลบริเวณชายฝั่งทะเลบริเวณจังหวัดพังงาฝั่งใต้ ภูเก็ตฝั่งตะวันออก กระบี่ และตรัง มีความลาดเทน้อย ส่วนของไหล่ทวีปมีความลึกไม่เกิน 300 เมตร

2. กระแสน้ำ 
          กระแสน้ำในทะเลอันดามันบริเวณพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม ก่อให้เกิดการไหลเวียนของน้ำในทิศทางต่างๆ ซึ่งอาจแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ กระแสน้ำที่มีทิศทางไม่แน่นอน (Turbulence) บริเวณชายฝั่งทะเลด้านใต้จังหวัดระนอง และภูเก็ตฝั่งตะวันตก และกระแสน้ำที่มีทิศทางแน่นอน พบบริเวณชายฝั่งทะเลด้านเหนือของจังหวัดระนอง ด้านใต้และด้านตะวันออกของจังหวัดภูเก็ต สรุปได้ดังนี้
          2.1 กระแสน้ำบริเวณชายฝั่งทะเลด้านใต้จังหวัดระนอง และภูเก็ตฝั่งตะวันตก มีลักษณะทิศทางไหลไม่แน่นอน รูปแบบจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อาจเนื่องมาจากลักษณะชายฝั่ง สภาพภูมิประเทศ หรือเกิดจากการผสมผสานของลักษณะการเกิดของกระแสน้ำแต่ละประเภท ที่ไม่มีประเภทหนึ่งประเภทใดแสดงลักษณะเด่นมาเป็นอิทธิพลต่อกัน โดยปกติแล้วถ้าเป็นทะเลเปิดกระแสน้ำมักจะมีรูปแบบเป็น Turbulence มากกว่าทะเลปิด
          2.2 กระแสน้ำบริเวณชายฝั่งทะเลด้านเหนือของจังหวัดระนอง ด้านใต้และด้านตะวันออกของจังหวัดภูเก็ต มีลักษณะแบบ Tidal current เป็นไปตามรูปแบบอิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลง โดยช่วงน้ำขึ้นกระแสน้ำจะไหลจากด้านใต้ของเกาะแมทธิวไปยังด้านตะวันออกสู่ปากน้ำระนอง และไหลจากด้านใต้ของเกาะภูเก็ตไปยังด้านตะวันออกของเกาะบริเวณอ่าวพังงาและไหลในทิศทางตรงกันข้ามในช่วงน้ำลง

          โดยกระแสน้ำลักษณะต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อสภาพสิ่งแวดล้อมหลายประการ เช่น ความขุ่นของน้ำ ที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เป็นต้น และยังเกิดอิทธิพลต่างๆ ในแต่ละฝั่งของของพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันไม่เหมือนกัน นอกจากนั้น รูปแบบของกระแสน้ำบริเวณจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดระนองดังกล่าว ส่งผลให้บริเวณด้านใต้และด้านตะวันออกของเกาะภูเก็ตและบริเวณปากแม่น้ำระนอง ซึ่งกระแสน้ำมีทิศทางแน่นอนเป็นบางช่วง ทำให้การตกตะกอนและการพัดพาตะกอนค่อนข้างดีกว่า เอื้ออำนวยต่อการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของป่าชายเลนในด้านนี้ดีกว่าด้านตะวันตก ซึ่งมีกระแสน้ำที่ไม่แน่นอนจะทำให้การตกตะกอนล่าช้าและช่วยในการพัดพาตะกอนน้อย

3. การขึ้นลงของน้ำทะเล 
          บริเวณชายฝั่งทะเลของพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน มีลักษณะเป็นแบบน้ำคู่หรือน้ำขึ้นลงวันละ 2 ครั้ง (Semidiurnal tide) โดยมีระดับการขึ้นลงของน้ำ ณ สถานีตรวจวัดของกรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือที่เกาะตะเภาน้อย จังหวัดภูเก็ต มีระดับน้ำขึ้นสูงสุดและน้ำลงต่ำสุด เท่ากับ 3.60 และ 0.38 เมตร ตามลำดับ ช่วงความแตกต่างของน้ำทะเล (Tidal range) เท่ากับ 3.22 เมตร (กรมอุทกศาสตร์, 2556)

4. คลื่นและลมมรสุม 
          บริเวณชายฝั่งทะเลของพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันด้านทิศตะวันตก จะพบคลื่นผิวน้ำ ในระยะเวลานาน คือ ในรอบ 1 ปี จะมีระยะเวลาถึง 6 เดือน ที่มีลมและคลื่นเคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันตกของพื้นที่ โดยมีความเร็วปานกลางเฉลี่ยประมาณ 7.20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและความเร็วสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 69 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และก่อให้เกิดคลื่นสูง 0.43 เมตร และ 4.15 เมตร ตามลำดับ ซึ่งมักจะเป็นคลื่นที่มีอิทธิพลต่อการกัดเซาะพังทลายของชายฝั่งได้ ส่วนบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกของจังหวัดภูเก็ต จะพบว่า คลื่นมีอิทธิพลต่อบริเวณนี้น้อยมาก ซึ่งทำให้บริเวณส่วนใหญ่ โดยเฉพาะบริเวณอ่าวภูเก็ตจะมีอัตราการตกตะกอนค่อนข้างสูง อันจะเห็นได้จากตะกอนเลนบริเวณสะพานหินที่ขยายออกไปจากชายฝั่งจนทำให้พื้นท้องทะเลบริเวณนี้มีลักษณะตื้นเขิน

องค์ความรู้ที่น่าสนใจ
  • นกในเขตชายฝั่งทะเล
    นกในระบบนิเวศชายฝั่งทะเล
  • ปลานกแก้ว
    ปลานกแก้ว
  • ปะการังฟอกขาว
    ปะการังฟอกขาว เป็นสภาวะที่ปะการังสูญเสียสาหร่ายเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ภายในเนื้อเยื่อ ทำให้ปะการังอ่อนแอเพราะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอแลปะการังอาจตายไปในที่สุดถ้าหากไม่สามารถทนต่อสภาวะนี้ได้
  • วาฬบรูด้า
    วาฬบรูด้า
  • ThaiToxicMarineLife
    ThaiToxicMarineLife
  • อุทยานใต้ทะเล
    อุทยานใต้ทะเล
  • พื้นที่อนุรักษ์
    หมายถึง พื้นที่มีคุณค่าทางธรรมชาติ นิเวศ หรือวัฒนธรรมที่ควรจะอนุรักษ์ไว้สำหรับลูกหลานในอนาคต พื้นที่คุ้มครองถูกกำหนดขึ้นตามกฎหมายหรือกฎระเบียบอื่นๆ เพื่อให้เกิดการจัดการในรูปแบบต่างๆ เช่น อุทยานแห่งชาติ ป่าสงวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า การจัดการของพื้นที่คุ้มครองจะมีความหลากหลาย ตั้งแต่พื้นที่ที่มีการจำกัดการเข้าถึงของประชาชนจนถึงพื้นที่ ที่ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ในระดับต่างกัน พื้นที่คุ้มครองครอบคลุมทั้งพื้นที่บนบกและในทะเล
  • เกาะในประเทศไทย
    เกาะ หมายถึง บริเวณที่ดิน หิน หรือทรายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ล้อมรอบด้วยน้ำและอยู่เหนือน้ำตลอดเวลา ทั้งนี้เกาะอาจอยู่ในทะเล แม่น้ำ หรือที่ลุ่มขัง เช่น บึง หรือทะเลสาบก็ได้
  • ปฏิทินทะเล
    ปฏิทินทะเล