น้ำมันรั่วไหล
การเกิดน้ำมันรั่วไหล (Oil spill) ในทะเล และชายฝั่งอาจเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การขุดเจาะและขนส่งน้ำมัน การเดินเรือ การล้างถังอับเฉาเรือ ลักลอบทิ้งน้ำที่มีน้ำมันปนเปื้อนหรือน้ำมันที่ใช้แล้ว รวมทั้งอุบัติเหตุต่าง ๆ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเป็นคราบน้ำมันหรือก้อนน้ำมันดิน (Tar balls) อยู่ในทะเล และจะพัดพาเข้าสู่ชายฝั่งในที่สุด เมื่อน้ำมันรั่วไหลในทะเลจะเกิดกระบวนการต่าง ๆ เกิดขึ้น ซึ่งกระบวนการที่เกิดขึ้นจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ โดยกระบวนการต่าง ๆ (Weathering processes) ที่เกิดขึ้นอยู่กับชนิดหรือประเภทของน้ำมันและสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ขณะเกิดการรั่วไหล ได้แก่ สภาพของทะเล ความแรงของคลื่น ความเร็วลม ความเข้มของแสงแดด อุณหภูมิของอากาศและน้ำทะเล เป็นต้น โดยกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นที่สำคัญ ได้แก่ การแผ่กระจายตัวของน้ำมัน (Spreading) การระเหย (Evaporation) การกระจาย (Dispersion) การละลายของน้ำมัน (Dissolution) การเกิดอิมัลชั่น (Emulsification) การเกิดปฏิกิริยาโฟโตออกซิเดชั่น (Photo-oxidation) การจมตัวและการตกตะกอน (Sedimentation and sinking) และการย่อยสลายทางชีวภาพ (Biodegradation) (ITOPF, 2011)
นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน (Petroleum hydrocarbons) บางกลุ่มที่ตกค้าง มีความเป็นพิษเฉียบพลัน หรือเรื้อรังต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในระบบนิเวศทางทะเล เช่น ระบบนิเวศปะการัง และหญ้าทะเลได้ โดยสามารถสะสมในดินตะกอน สัตว์น้ำ และถ่ายทอดในห่วงโซ่อาหารได้อีกด้วย ในช่วงปีงบประมาณ 2559 – 2563 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ติดตามสถานภาพน้ำมันรั่วไหลบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน รวม 23 จังหวัด พบน้ำมันรั่วไหลจำนวน 101 ครั้ง เป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล 28 ครั้ง และจากการติดตามตรวจสอบพบก้อนน้ำมันดิน 73 ครั้ง ดังนี้
- สถานการณ์น้ำมันรั่วไหลในปีงบประมาณ 2559 (1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 – 30 กันยายน พ.ศ. 2559) พบน้ำมันรั่วไหลรวม 15 ครั้ง ตลอดแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน เป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล 6 ครั้ง และการติดตามตรวจสอบพบก้อนน้ำมันดิน 9 ครั้ง
- สถานการณ์น้ำมันรั่วไหลในปีงบประมาณ 2560 (1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 – 30 กันยายน พ.ศ. 2560) พบน้ำมันรั่วไหลรวม 10 ครั้ง ตลอดแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน เป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล 2 ครั้ง และการติดตามตรวจสอบพบก้อนน้ำมันดิน 8 ครั้ง
- สถานการณ์น้ำมันรั่วไหลในปีงบประมาณ 2561 (1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 – 30 กันยายน พ.ศ. 2561) พบน้ำมันรั่วไหลรวม 14 ครั้ง ตลอดแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน เป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล 5 ครั้ง และการติดตามตรวจสอบพบก้อนน้ำมันดิน 9 ครั้ง
- สถานการณ์น้ำมันรั่วไหลในปีงบประมาณ 2562 (1 ตุลาคม พ.ศ. 2561 – 30 กันยายน พ.ศ. 2562) พบน้ำมันรั่วไหลรวม 15 ครั้ง ตลอดแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน เป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล 3 ครั้ง และการติดตามตรวจสอบพบก้อนน้ำมันดิน 12 ครั้ง
- สถานการณ์น้ำมันรั่วไหลในปีงบประมาณ 2563 (1 ตุลาคม พ.ศ. 2562 – 30 กันยายน พ.ศ. 2563) พบน้ำมันรั่วไหลรวม 47 ครั้ง ตลอดแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน เป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล 12 ครั้ง และการติดตามตรวจสอบพบก้อนน้ำมันดิน 35 ครั้ง
สำหรับสถานการณ์น้ำมันรั่วไหลในปีงบประมาณ 2564 (1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 – 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564) พบน้ำมันรั่วไหลรวม 44 ครั้ง ตลอดแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน เป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล 17 ครั้ง และการติดตามตรวจสอบพบก้อนน้ำมันดิน 27 ครั้ง (รูปที่ 1.27)
เหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล จากการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังน้ำมันรั่วไหล พบเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน รวมทั้งสิ้น 17 ครั้ง (ไม่ทราบสาเหตุ) ประกอบด้วย
บริเวณอ่าวไทย พบน้ำมันรั่วไหล 13 ครั้ง แบ่งเป็นบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้แก่ จังหวัดระยอง 10 ครั้ง (ปากแม่น้ำประแส ปากคลองแกลง ปากแม่น้ำระยอง หาดทรายแก้ว หาดสวนสน หาดแหลมรุ่งเรือง และหาดแม่รำพึง) อ่าวไทยตอนใน ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา 1 ครั้ง (ปากแม่น้ำบางปะกง) และจังหวัดสมุทรสงคราม 1 ครั้ง (ชายฝั่งตำบลแหลมใหญ่) และอ่าวไทยตอนกลาง ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 1 ครั้ง (บริเวณชายฝั่งคลองบางนางรม ถึงหาดบ้านกรูด)
บริเวณทะเลอันดามัน พบน้ำมันรั่วไหล 4 ครั้ง แบ่งเป็นบริเวณจังหวัดภูเก็ต 2 ครั้ง (หาดไม้ขาว-หาดลากูน่า และหาดในยาง) จังหวัดพังงา 1 ครั้ง (หาดท้ายเหมือง) และจังหวัดระนอง 1 ครั้ง (อ่าวเขาควาย เกาะพยาม)
การติดตามตรวจสอบพบก้อนน้ำมันดิน จากการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังก้อนน้ำมันดินบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันรวม 58 สถานี พบก้อนน้ำมันดินจำนวน 27 ครั้ง (ไม่ทราบสาเหตุ) ประกอบด้วย
บริเวณอ่าวไทย พบก้อนน้ำมันดิน 24 ครั้ง แบ่งเป็นบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้แก่ จังหวัดระยอง 14 ครั้ง จังหวัดจันทบุรี 4 ครั้ง อ่าวไทยตอนกลาง ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 1 ครั้ง จังหวัดชุมพร 2 ครั้ง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี 1 ครั้ง และอ่าวไทยตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช 2 ครั้ง
บริเวณทะเลอันดามัน พบก้อนน้ำมันดิน 3 ครั้ง แบ่งเป็น บริเวณจังหวัดภูเก็ต 2 ครั้ง และจังหวัดพังงา 1 ครั้ง
การติดตามการปนเปื้อนสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนรวมในน้ำทะเล จากการติดตาม และเฝ้าระวังสถานการณ์การปนเปื้อนของน้ำมันที่รั่วไหลบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามันครอบคลุมพื้นที่ 23 จังหวัด รวม 135 สถานี ปีละ 2 ครั้ง ในฤดูแล้ง (ธันวาคม พ.ศ. 2563 – เมษายน พ.ศ. 2564) และฤดูฝน (มิถุนายน – กันยายน พ.ศ. 2564) จากปริมาณสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนรวมในน้ำทะเล ซึ่งจะแสดงถึงแนวโน้ม และระดับการปนเปื้อนของน้ำมันในสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง โดยในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ถึง กรกฎาคม พ.ศ. 2564 พบว่า
บริเวณอ่าวไทย การปนเปื้อนสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนรวมในน้ำทะเลระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ถึง กรกฎาคม พ.ศ. 2564 มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.21 ไมโครกรัมต่อลิตร โดยชายฝั่งทะเลอ่าวไทย มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.21 ไมโครกรัมต่อลิตร
บริเวณทะเลอันดามัน การปนเปื้อนสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนรวมในน้ำทะเลระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ถึง กรกฎาคม พ.ศ. 2564 มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.23 ไมโครกรัมต่อลิตร
ผลจากการติดตามตรวจสอบ และเฝ้าระวังสถานภาพของน้ำมันรั่วไหลในช่วงที่ผ่านมาเห็นได้ว่า จังหวัดระยอง และชลบุรีเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงของการเกิดน้ำมันรั่วไหลในทะเลซึ่งเกิดเหตุการณ์บ่อยครั้ง เนื่องจากมีกิจกรรมชายฝั่งหลากหลายประเภท ได้แก่ การเดินเรือเข้าออก เรือขนส่งสินค้า เรือประมง และเรือท่องเที่ยว ตลอดจนบริเวณชายฝั่งจังหวัดระยองเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง เช่น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งมีโรงกลั่นน้ำมันทำให้มีการเดินเรือเข้าออกเพื่อขนส่งน้ำมัน รวมทั้งมีระบบท่อขนส่งน้ำมันในทะเล สำหรับบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง และตอนกลาง ได้แก่ บริเวณชายฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร จังหวัดสงขลา และจังหวัดนครศรีธรรมราช ในช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2564 พบน้ำมันรั่วไหลบ่อยครั้งมากกว่าอดีตที่ผ่านมามีสาเหตุมาจากทั้งเรือประมง เรือท่องเที่ยว การแอบล้างถังบรรจุน้ำมันและทิ้งน้ำมันที่ปนเปื้อนน้ำลงสู่ทะเล การเดินเรือขนส่งในทะเล รวมทั้งอาจเกิดจากการรั่วไหลของน้ำมันจากแท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเล ทำให้เกิดก้อนน้ำมันพัดพาเข้าสู่ชายหาด ทั้งนี้คลื่นลม และกระแสน้ำในแต่ละฤดูกาลก็เป็นปัจจัยสำคัญที่พัดพาน้ำมันที่รั่วไหลในทะเลเข้าสู่ฝั่งได้อีกด้วย
ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 19 เมษายน 2566