ขนาด
น้ำมันรั่วไหล
  • 13 มิถุนายน 2560
  • 1,541

น้ำมันรั่วไหลในทะเล

          การเกิดน้ำมันรั่วไหลในน่านน้ำทะเลไทยแต่ละครั้งเกิดความเสียหายแตกต่างกันไปตามปริมาณและประเภทของน้ำมัน สถานที่เกิด สภาพภูมิประเทศ ระยะห่างจากชายฝั่ง สภาพแวดล้อม ความลึก คลื่นลม น้ำขึ้นน้ำลง ความเร็วและทิศทางของลม อุณหภูมิ ระยะเวลา ปริมาณวัตถุที่ลอยน้ำ (เช่น เชือก ขยะ สาหร่าย ฯลฯ) ความสำเร็จในการจัดการน้ำมันรั่วขึ้นกับเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เหมาะสมและเพียงพอ รวมถึงกำลังคนและทักษะความชำนาญของผู้ปฏิบัติการ การจัดลำดับความสำคัญ การสื่อสาร การมีข้อมูลสนับสนุนที่ครบสมบูรณ์เพื่อคาดการณ์การเคลื่อนตัวของคราบน้ำมัน ความรวดเร็วในการประสานงานและการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การสั่งการที่มีประสิทธิภาพ และการวางแผนที่ดี จะส่งผลต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นแบบเฉียบพลันหรือระยะยาว ทั้งนี้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญ ได้แก่ สัตว์น้ำ ปะการัง หญ้าทะเล ป่าชายเลน แหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมทั้งการก่อให้เกิดความสกปรกและทำลายทัศนียภาพของแหล่งท่องเที่ยว

          สถานภาพการรั่วไหลของน้ำมันและการเกิดคราบน้ำมันตามชายฝั่ง
          จากสถิติการเกิดน้ำมันรั่วไหลในประเทศไทยได้มีการบันทึกโดยกรมเจ้าท่า ในระหว่างปี พ.ศ. 2516-2558 เกิดขึ้นทั้งหมดจำนวน 247 ครั้ง ทั้งชายฝั่งทะเล แม่น้ำและคลอง ในเขตพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา นราธิวาส พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล โดยพบสูงสุดที่กรุงเทพมหานครจำนวน 89 ครั้ง และรองลงมาที่มีการรั่วไหลของน้ำมันมากกว่า 10 ครั้ง ได้แก่ จังหวัดชลบุรี (53 ครั้ง) สมุทรปราการ (38 ครั้ง) ระยอง (23 ครั้ง) และชุมพร (12 ครั้ง) ตามลำดับ โดยมีเหตุการณ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการรั่วไหลของน้ำมันในปริมาณมากตั้งแต่ 20 ตันขึ้นไป จำนวน 12 ครั้ง (ตารางที่ 1) แต่เหตุการณ์ที่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างเห็นได้ชัดเจน มีจำนวน 4 ครั้ง ด้วยกัน ได้แก่
          1) วันที่ 15 มกราคม 2545 เกิดอุบัติเหตุเรือ “EASTERN FORTITUDE” ชนกองหินฉลาม บริเวณเกาะจวง นอกฝั่งตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นเหตุให้มีน้ำมันเชื้อเพลิงรั่วไหลลงสู่ทะเลชายฝั่งจังหวัดระยองจำนวน 234 ตัน ถึงแม้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเขตจังหวัดชลบุรีแต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ของจังหวัดระยอง
          2) วันที่ 26 ธันวาคม 2547 เกิดอุบัติเหตุเรือบรรทุกน้ำมันชื่อ “DRAGON 1” อับปางและเกยตื้นบริเวณเกาะครก เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นเหตุให้มีน้ำมันดิบรั่วไหลลงสู่ทะเลจังหวัดชลบุรี จำนวน 150 ตัน
          3) วันที่ 20 พฤศจิกายน 2548 เกิดอุบัติเหตุข้อต่อทุ่นขนถ่ายน้ำมันกลางทะเล (Single Buoy Mooring: SBM) ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี หลุดออกจากกัน เป็นเหตุให้มีน้ำมันดิบไหลลงสู่ทะเลจังหวัดชลบุรี จำนวน 20 ตัน โดยส่งผลกระทบต่อปะการังและชายหาดของเกาะค้างคาว ทางทิศใต้ของเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี
          4) วันที่ 27 กรกฎาคม 2556 เกิดอุบัติเหตุท่อต่อจากทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล (Single Point Mooring: SPM) ของบริษัท PTTGC จำกัด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ชำรุดเสียหาย เป็นเหตุให้มีน้ำมันดิบรั่วไหลลงสู่ชายฝั่งทะเลจังหวัดระยอง จำนวน 50 ตัน ซึ่งได้เคลื่อนตัวเข้าสู่ชายหาดอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง

ตารางที่ 1 อุบัติเหตุการรั่วไหลของน้ำมันบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลในประเทศไทยที่มีปริมาณมากกว่า 20 ตันขึ้นไป ตั้งแต่ปี 2544 ถึงปัจจุบัน (ที่มา : กรมเจ้าท่า)

          ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2547 – 2556 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ได้ติดตามตรวจสอบการปนเปื้อนของน้ำมัน (สารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนรวม) ในน้ำทะเลตลอดแนวชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน เมื่อเกิดเหตุการณ์รั่วไหลหรือการพบคราบน้ำมันที่ไม่ทราบสาเหตุ รวมทั้งสิ้น 13 ครั้ง โดยพื้นที่อ่าวไทยฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชลบุรีถึงตราด พบมากที่สุดถึง 9 ครั้ง คือ ปี 2547 จำนวน 1 ครั้ง ปี 2548 จำนวน 2 ครั้ง  ปี 2549 จำนวน 4 ครั้ง ปี2550 จำนวน 1 ครั้ง และ ปี 2554 จำนวน 1 ครั้ง ส่วนพื้นที่อ่าวไทยตอนบนตั้งแต่จังหวัดฉะเชิงเทราถึงเพชรบุรี พบเพียง 3 ครั้ง คือ ปี 2551 จำนวน 1 ครั้ง ปี 2553 จำนวน 2 ครั้ง ในขณะที่พื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันตั้งแต่จังหวัดระนองถึงสตูล พบจำนวน 1 ครั้ง ในปี 2553 โดยพบปริมาณสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในน้ำทะเลมีค่าอยู่ในช่วงระหว่าง 0.01-48.07 ไมโครกรัมของไครซีนต่อลิตร ส่วนใหญ่จะมีควาสูงเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลที่กำหนดโดยกรมควบคุมมลพิษ (2549) จากการติดตามตรวจสอบในปี 2558 ในพื้นที่อ่าวไทยฝั่งตะวันออกพบคราบน้ำมันจำนวน 8 ครั้ง (จังหวัดระยอง จำนวน 6 ครั้ง และจังหวัดชลบุรี จำนวน 2 ครั้ง) มีเพียง 2 ครั้ง ที่ทราบสาเหตุ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 75 ที่ยังไม่ทราบสาเหตุ และ 1 ครั้งที่มีการบันทึกสถิติของกรมเจ้าท่า คิดเป็นเพียงร้อยละ 12.5 เท่านั้น (ตารางที่ 2)

ตารางที่ 2 ผลการตรวจสอบและประเมินสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง กรณีน้ำมันรั่วไหลบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ในปี 2558

          ในปี 2559 ได้ดำเนินการตรวจสอบและประเมินสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งกรณีการเกิดน้ำมันรั่วไหล คราบน้ำมันและก้อนน้ำมัน บริเวณชายฝั่งของอ่าวไทยและชายฝั่งทะเลอันดามัน สรุปได้ดังนี้
          บริเวณชายฝั่งอ่าวไทย
          อ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้ดำเนินการตรวจสอบและประเมินสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งกรณีการเกิดน้ำมันรั่วไหล คราบน้ำมันและก้อนน้ำมันบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก จำนวน 5 ครั้ง โดยตรวจสอบพบบริเวณชายฝั่งจังหวัดชลบุรี จำนวน 3 ครั้ง และชายฝั่งจังหวัดระยอง จำนวน 2 ครั้ง สรุปได้ดังตารางที่ 2
          อ่าวไทยตอนบน ได้ดำเนินการตรวจสอบและประเมินสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งกรณีการเกิดน้ำมันรั่วไหล คราบน้ำมันและก้อนน้ำมันบริเวณอ่าวไทยตอนบน จำนวน 1 ครั้ง โดยตรวจสอบพบบริเวณชายฝั่งสมุทรสาคร สรุปได้ดังตารางที่ 3
          อ่าวไทยตอนกลาง ไม่มีการเกิดน้ำมันรั่วไหล คราบน้ำมันและก้อนน้ำมันบริเวณอ่าวไทยตอนกลาง
          อ่าวไทยตอนล่าง ได้ดำเนินการตรวจสอบและประเมินสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งกรณีการเกิดน้ำมันรั่วไหล คราบน้ำมันและก้อนน้ำมันบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง จำนวน 2 ครั้ง โดยตรวจสอบพบบริเวณชายฝั่งจังหวัดสงขลา สรุปได้ดังตารางที่ 4

ตารางที่ 3 ผลการตรวจสอบและประเมินสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง กรณีน้ำมันรั่วไหลบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ในปี 2559

ตารางที่ 4 ผลการตรวจสอบและประเมินสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง กรณีน้ำมันรั่วไหลบริเวณอ่าวไทยตอนบน ในปี 2559

ตารางที่ 5 ผลการตรวจสอบและประเมินสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง กรณีน้ำมันรั่วไหลบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ในปี 2559

ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน 2560
องค์ความรู้ที่น่าสนใจ
  • PMBC Research Bulletin
    PMBC Research Bulletin
  • วาฬ/โลมา
    วาฬ/โลมา
  • นกในเขตชายฝั่งทะเล
    นกในระบบนิเวศชายฝั่งทะเล
  • เกาะในประเทศไทย
    เกาะ หมายถึง บริเวณที่ดิน หิน หรือทรายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ล้อมรอบด้วยน้ำและอยู่เหนือน้ำตลอดเวลา ทั้งนี้เกาะอาจอยู่ในทะเล แม่น้ำ หรือที่ลุ่มขัง เช่น บึง หรือทะเลสาบก็ได้
  • เต่ามะเฟือง
    เต่ามะเฟือง
  • ปลานกแก้ว
    ปลานกแก้ว
  • PMBC Special Publication
    PMBC Special Publication
  • พะยูน : มาเรียม
    พะยูน : มาเรียม
  • ที่ดินชายฝั่ง
    ที่ดินชายฝั่ง