ขนาด
น้ำทะเลเปลี่ยนสี
  • 19 กรกฎาคม 2566
  • 285
น้ำทะเลเปลี่ยนสี สารสนเทศ ทช. ศูนย์ข้อมูลกลาง ทช.

สถานภาพน้ำทะเลเปลี่ยนสี (2564)

          ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีจากการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืช ในปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม พ.ศ. 2563 – กรกฎาคม พ.ศ. 2564) พบเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทย จํานวน 25 ครั้ง โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรี พบปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี 16 ครั้ง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึง เดือนกรกฎาคม รองลงมา คือ จังหวัดระยอง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่ละ 2 ครั้ง ส่วนในพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน พบการสะพรั่งของสาหร่ายสีแดง สกุล Hypnea ซึ่งมีกลุ่มไดอะตอมเจริญร่วมอยู่ด้วย บริเวณหาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต จํานวน 1 ครั้ง

          สาเหตุที่พบน้ำทะเลเปลี่ยนสีในพื้นที่จังหวัดชลบุรีบ่อยครั้ง และกินระยะเวลานาน โดยเฉพาะในฤดูฝน ปัจจัยที่เป็นต้นเหตุของปรากฏการณ์ดังกล่าวมาจาก น้ำทิ้งที่มีสาเหตุมาจากขยายตัวของชุมชน บ้านเรือน อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม ประกอบกับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทําให้กระแสน้ำในอ่าวตัว ก ในช่วงฤดูฝนมีทิศทางการไหลแบบตามเข็มนาฬิกา ทําให้มวลแพลงก์ตอนเคลื่อนตัวเข้ามายังชายฝั่งด้านตะวันออก จึงเป็นสาเหตุของการเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีบ่อยครั้งโดยเฉพาะบริเวณชายหาดบางแสน เขตอําเภอเมืองชลบุรี และตลอดแนวชายฝั่งของจังหวัดชลบุรี ส่วนจังหวัดภูเก็ตพบน้ำทะเลเปลี่ยนสีในช่วงต้นปี เนื่องจากเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยว มีปริมาณนักท่องเที่ยว และกิจกรรมชายฝั่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามมา ซึ่งทําให้เกิดน้ำทิ้งที่ผ่านการบําบัดไม่ถูกต้องไหลลงสู่ชายฝั่งและเป็นสารอาหารที่เหมาะสม รวมทั้งปริมาณแสงแดดที่เพียงพอแก่ความต้องการในการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนพื้นที่ชายฝั่งตั้งแต่กรุงเทพมหานคร ถึงจังหวัดชุมพร จะพบน้ำทะเลเปลี่ยนสีในช่วงปลายฤดูฝน

          แพลงก์ตอนพืชกลุ่มหลักที่เป็นสาเหตุของปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีในจังหวัดชลบุรี คือ กลุ่มไดโนแฟลกเจลเลต ชนิด Noctiluca scintillans โดยทําให้สีน้ำทะเลเป็นสีเขียว นอกจากนี้ยังพบการสะพรั่งร่วมของกลุ่มไดอะตอม เช่น ชนิด Thalassionema frauenfeldii, Chaetoceros curvisetus, Chaetoceros furcellatus และ Chaetoceros spp. ทําให้สีน้ำทะเลเป็นสีน้ำตาล อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของการสะพรั่ง
ของแพลงก์ตอนพืชของประเทศไทยลดลงจากระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2562 โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดภูเก็ตที่ไม่พบการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืชระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2564 พบเฉพาะสาหร่ายขนาดใหญ่ที่หลุดลอยมาบนหาดป่าตองจํานวนมากในช่วงที่มีคลื่นลมแรงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม พบว่าการเกิดน้ำทะเลเปลี่ยนในปี
พ.ศ. 2564 (มกราคม - กรกฎาคม) พบสูงกว่าปี พ.ศ. 2563 เนื่องจากในจังหวัดชลบุรี มีการรายงานการเกิดปรากฏการณ์กระจายในหลายพื้นที่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน โดยมีรายละเอียดการเกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสีปีงบประมาณ 2564 ดังนี้

          1) จังหวัดตราด พบน้ำทะเลเปลี่ยนสี จํานวน 1 ครั้ง บริเวณเกาะไม้ซี้ใหญ่-เกาะฝาละมีเหนือ มีแพลงก์ตอนพืชที่เป็นสาเหตุ คือ Noctiluca scintillans
          2) จังหวัดจันทบุรี พบน้ำทะเลเปลี่ยนสี จํานวน 1 ครั้ง บริเวณหาดบางกะไชย มีแพลงก์ตอนพืชที่เป็นสาเหตุ คือ Noctiluca scintillans
          3) จังหวัดระยอง พบน้ำทะเลเปลี่ยนสี จํานวน 2 ครั้ง บริเวณหาดพลาและหาดน้ำริน มีแพลงก์ตอนพืชที่เป็นสาเหตุ คือ Leptocylindrus sp. และ Helicotheca tamesis
          4) จังหวัดชลบุรี พบน้ำทะเลเปลี่ยนสี จํานวน 16 ครั้ง บริเวณเกาะสีชัง บางแสนและศรีราชา มีแพลงก์ตอนพืชที่เป็นสาเหตุ คือ Noctiluca scintillans และ Chaetoceros spp.
          5) จังหวัดสมุทรปราการ พบน้ำทะเลเปลี่ยนสี จํานวน 1 ครั้ง บริเวณชายฝั่งทะเลคลองด่าน มีแพลงก์ตอนพืชที่เป็นสาเหตุ คือ Noctiluca scintillans
          6) จังหวัดสมุทรสาคร พบน้ำทะเลเปลี่ยนสีจํานวน จํานวน 1 ครั้ง บริเวณคลองเฉลิมพระเกียรติ บางสีคต ชายทะเลกาหลง จังหวัดสมุทรสาคร มีแพลงก์ตอนพืชที่เป็นสาเหตุ คือ Chaetoceros spp.
          7) จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบน้ำทะเลเปลี่ยนสี 2 ครั้ง บริเวณหาดเฉวง เกาะสมุย และอ่าวโตนด เกาะเต่า แพลงก์ตอนพืชที่เป็นสาเหตุ คือ Trichodesmium erythraeum
          8) จังหวัดสงขลา พบน้ำทะเลเปลี่ยนสี จํานวน 1 ครั้ง บริเวณทะเลสาบสงขลาตอนล่าง (หน้าศูนย์วิจัยฯ) แพลงก์ตอนพืชที่เป็นสาเหตุ คือ กลุ่ม Class Chlorophyceae
          9) จังหวัดภูเก็ต ไม่พบน้ำทะเลเปลี่ยนสีเนื่องจากแพลงก์ตอนพืช แต่พบการสะพรั่งของสาหร่ายขนาดใหญ่ จํานวน 1 ครั้ง บริเวณอ่าวป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 สาหร่ายที่เป็นสาเหตุ คือ สาหร่ายสีแดงสกุล Hypnea ทั้งนี้ พบไดอะตอมเจริญร่วมอยู่ด้วย

กราฟแสดงการเกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสีบริเวณชายฝั่งประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2550 – 2564 และแผนที่แสดงการเกิดน้ำเปลี่ยนสีในปีงบประมาณ 2564

ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2566
องค์ความรู้ที่น่าสนใจ
  • อุทยานใต้ทะเล
    อุทยานใต้ทะเล
  • สมุทรศาสตร์
    สมุทรศาสตร์
  • ปะการัง
    เป็นแนวหินปูนใต้ทะเลในระดับน้ำตื้นที่แสงแดดส่องถึง หินปูนดังกล่าวเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของปะการังหลายๆ ชนิด นอกจากนี้ ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
  • กัดเซาะชายฝั่ง
    ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 3,151 กิโลเมตร ครอบคลุมจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัดโดยชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย มีความยาว 2,040 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด และชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน มีความยาว 1,111 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลรวม 6 จังหวัด
  • ขยะทะเล
    ขยะทะเล
  • ป่าชายหาดและป่าพรุ
    ป่าชายหาดและป่าพรุ
  • พื้นที่อนุรักษ์
    หมายถึง พื้นที่มีคุณค่าทางธรรมชาติ นิเวศ หรือวัฒนธรรมที่ควรจะอนุรักษ์ไว้สำหรับลูกหลานในอนาคต พื้นที่คุ้มครองถูกกำหนดขึ้นตามกฎหมายหรือกฎระเบียบอื่นๆ เพื่อให้เกิดการจัดการในรูปแบบต่างๆ เช่น อุทยานแห่งชาติ ป่าสงวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า การจัดการของพื้นที่คุ้มครองจะมีความหลากหลาย ตั้งแต่พื้นที่ที่มีการจำกัดการเข้าถึงของประชาชนจนถึงพื้นที่ ที่ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ในระดับต่างกัน พื้นที่คุ้มครองครอบคลุมทั้งพื้นที่บนบกและในทะเล
  • เต่ามะเฟือง
    เต่ามะเฟือง
  • คลื่นย้อนกลับ Rip Currents
    กระแสน้ำรูปเห็ด