ขนาด
ขยะทะเล
  • 17 กรกฎาคม 2566
  • 2,252
ขยะทะเล สารสนเทศ ทช. ศูนย์ข้อมูลกลาง ทช.

สถานภาพขยะทะเล (2564)

          ในปัจจุบันปัญหาขยะทะเลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากขยะพลาสติกที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีและไหลลงสู่ทะเล โดยมีแหล่งกําเนิดจากบนบก ร้อยละ 80 และในทะเล ร้อยละ 20 จากข้อมูลระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2562 ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนใน 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลมีปริมาณที่เพิ่มขึ้น แต่การจัดการขยะมูลฝอยอย่างถูกต้องก็มีแนวโน้มดีขึ้นด้วย โดยมีการคัดแยกจากต้นทางและมีการนํากลับมาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น จนทําให้ปริมาณขยะมูลฝอยที่กําจัดไม่ถูกต้องในปี พ.ศ. 2560 – 2562 มีแนวโน้มลดลงจากปี พ.ศ. 2559 อย่างชัดเจน

          ประเทศไทยได้กําหนดให้ปัญหาขยะมูลฝอย และขยะทะเลเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีแผนบริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรมทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 – 2564) รวมทั้ง Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561 – 2573) และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ “แผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลปี พ.ศ. 2564 – 2568 (ASEAN Regional Action Plan for Combating Marine Debris, 2021 – 2025)” และเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ ศิลปอาชา) ได้เน้นย้ําถึงความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียนในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในทะเล ในงานประชุมเปิดตัวแผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในประเทศสมาชิกอาเซียน (พ.ศ. 2564 – 2568) โดยการสนับสนุนของธนาคารโลกและสํานักงานเลขาธิการอาเซียน นับเป็นแผนปฏิบัติการที่จะมีบทบาทสําคัญในการช่วยให้อาเซียนบรรลุการปกป้องสภาพแวดล้อมทางทะเลที่สําคัญ โดยเป้าหมายของแผนปฏิบัติการอาเซียน เพื่อทําให้เกิดการประสานในระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศเพื่อให้ได้รับการจัดการที่ยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งโดยผ่านการตอบสนองต่อมลภาวะพลาสติกในทะเล ซึ่งมียุทธศาสตร์สําหรับจัดการปัญหาขยะพลาสติกในทะเล เป็นการดําเนินการปฏิบัติใน 3 ขั้นตอนหลักในห่วงโซ่คุณค่าของพลาสติก 1) การลดสิ่งป้อนเข้าระบบ 2) เสริมสร้างการเก็บและการลดการรั่วไหลเล็ดลอดของขยะ 3) การเพิ่มคุณค่าให้กับการนํากลับมาใช้ซ้ำ

          ในปี พ.ศ. 2563 กรมควบคุมมลพิษได้คาดการณ์ว่า ในพื้นที่ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลมี “ขยะมูลฝอย” เกิดขึ้นปริมาณ 11 ล้านตัน มีขยะที่กําจัดไม่ถูกต้อง 2.86 ล้านตัน โดยเป็น “ขยะพลาสติก” ปริมาณ 343,183 ตัน (0.34 ล้านตัน) และคิดเป็นขยะทะเลปริมาณ 34,318 – 51,477 ตัน (0.03-0.05 ล้านตัน) โดยที่ปริมาณขยะทะเลในปี พ.ศ. 2563 สูงกว่าในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งมีจํานวน 27,334 – 41,000 ตัน

          ปัจจุบันขยะทะเลที่ตกค้างในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งกําลังเป็นประเด็นที่ถูกให้ความสําคัญเป็นอย่างมาก ในส่วนของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ดําเนินการบริหารจัดการขยะทะเลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 เพื่อช่วยลดปริมาณขยะในทะเลและชายฝั่ง รวมถึงป้องกันการเกิดขึ้นใหม่ของขยะทะเล โดยในปีงบประมาณ 2564 ได้ดําเนินงานโครงการสําคัญที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะทะเลซึ่งสามารถจัดเก็บขยะที่ตกค้างออกจากระบบนิเวศชายฝั่งทะเลได้รวมทั้งสิ้น 443,987 กิโลกรัม (ประมาณ 444 ตัน) รวมจํานวนขยะ 3,950,904 ชิ้น โดยองค์ประกอบของขยะตกค้างชายฝั่งที่พบมาก 10 อันดับแรก ได้แก่ ขวดเครื่องดื่มพลาสติก (ร้อยละ 13) ถุงพลาสติกอื่น ๆ (ร้อยละ 11) เศษโฟม (ร้อยละ 8) ขวดเครื่องดื่มแก้ว (ร้อยละ 8) ถุงก๊อปแก๊ป (ร้อยละ 8) ห่อ/ถุงอาหาร (ร้อยละ 7) เศษพลาสติก (ร้อยละ 6) เสื้อผ้า/รองเท้า/เครื่องประดับ/แว่นตา/สร้อยคอ (ร้อยละ 4) กล่องอาหาร/โฟม (ร้อยละ 4) และกระป๋องเครื่องดื่ม (ร้อยละ 3) รวมคิดเป็นร้อยละ 73 ส่วนที่เหลือเป็นขยะประเภทอื่น ๆ (ร้อยละ 27) และในจํานวนขยะตกค้างชายฝั่งที่เก็บได้ทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก (ร้อยละ 83)

ปริมาณขยะที่จัดได้จากกิจกรรมของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปีงบประมาณ 2564

 

ปริมาณขยะมูลฝอยรายปีในพื้นที่ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล ที่ได้รับการกําจัดถูกต้องกําจัดไม่ถูกต้อง และนํากลับมาใช้ประโยชน์และแผนที่แสดงปริมาณขยะมูลฝอยที่ไม่ได้รับการจัดการที่ถูกวิธีในปี พ.ศ. 2563 (ตัน/วัน) ในพื้นที่ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล

 

ผลกระทบที่เกิดจากขยะทะเล ต่อทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ในปีงบประมาณ 2564 สามารถสรุปออกได้ ดังนี้
          1) ผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายาก จากการสํารวจพบสัตว์ทะเลหายากได้รับผลกระทบจากขยะทะเลทั้งสิ้น 155 ตัว (คิดเป็นร้อยละ 19.8 ของจํานวนสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นทั้งหมด 783 ตัว) แบ่งเป็นเต่าทะเล 149 ตัว โลมาและวาฬ 2 ตัว พะยูน 3 ตัว และฉลามวาฬ 1 ตัว โดยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการกินขยะทะเลเข้าไป 101 ตัว (ร้อยละ74) การถูกพันยึดภายนอก 38 ตัว (ร้อยละ 24) และจากทั้งสองสาเหตุรวมกันคือ การกินและถูกพันยึด จํานวน 16 ตัว (ร้อยละ 2) ซึ่งประเภทขยะที่ก่อให้เกิดผลกระทบส่วนใหญ่เป็นเศษเชือกหรือวัสดุที่เป็นเส้นยาวที่ไม่ใช่เอ็น (ร้อยละ 24) เศษอวน (ร้อยละ 14) และถุงพลาสติก (ร้อยละ 13) 
          2) ผลกระทบขยะทะเลต่อระบบนิเวศแนวปะการัง ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ได้แก่ บริเวณพื้นที่จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดปัตตานี จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต โดยกิจกรรมที่ก่อให้เกิดขยะตกค้างในแนวปะการังมากที่สุด คือ กิจกรรมชายฝั่งและนันทนาการ (ร้อยละ 57) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะที่เกิดจากการอุปโภค บริโภค และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ขยะพลาสติก โลหะ แก้ว และผ้า รองลงมาคือ กิจกรรมทางน้ําและการประมง (ร้อยละ 38) ได้แก่ ขยะที่มาจากการทําประมง เช่น เชือก เอ็นตกปลา อวน และเหยื่อล่อ ส่วนประเภทขยะที่เกิดจากกิจกรรมการทิ้ง ได้แก่ ขยะประเภทยางรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และวัสดุก่อสร้าง ขยะจากกิจกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ขยะประเภทท่อพีวีซี ไม้ไผ่ สายยาง รองเท้าแตะ รวมถึงขยะที่เกิดจากกิจกรรมวัสดุการแพทย์และสุขอนามัย เมื่อพิจารณาตามพื้นที่ พบว่าบริเวณหมู่เกาะสีชังและหมู่เกาะล้านเป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมการใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวมาก ขยะที่พบในแนวปะการังส่วนใหญ่จึงเป็นขยะที่เกิดจากกิจกรรมชายฝั่งและนันทนาการ ส่วนแนวปะการังในพื้นที่อื่น ๆ ได้แก่ จังหวัดระยอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดปัตตานี จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต ขยะที่พบส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมทางน้ำและการประมง ทั้งนี้พบว่าในภาพรวมทุกพื้นที่ ประเภทวัสดุที่ก่อให้เกิดขยะตกค้างในแนวปะการังส่วนใหญ่เป็นพวกขวดแก้ว จํานวน 167 ชิ้น (ร้อยละ 22.5) และเชือก จํานวน 125 ชิ้น (ร้อยละ 16.9)

องค์ประกอบขยะทะเล (ประเภทและสัดส่วน) ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายากและกราฟแสดงจํานวนสัตว์ทะเลหายากที่ได้รับผลกระทบจากขยะทะเลในรูปแบบต่าง ๆ ปีงบประมาณ 2564 (ข้อมูล ณ วันที่ 31สิงหาคม พ.ศ. 2564)

 

กราฟแสดงองค์ประกอบขยะทะเล (ประเภทและสัดส่วน) ที่พบในแนวปะการังจําแนกตามประเภทวัสดุและกราฟแสดงประเภทกิจกรรมที่ก่อให้เกิดขยะในแนวปะการัง

          3) ปริมาณขยะทะเลที่มีแหล่งกําเนิดจากแม่น้ำสายสําคัญ ๆ บริเวณอ่าวไทยตอนบนและอ่าวไทยตอนล่าง ในปีงบประมาณ 2564 รวม 9 แม่น้ำ ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง (จังหวัดฉะเชิงเทรา) แม่น้ำเจ้าพระยา (กรุงเทพมหานคร) แม่น้ำท่าจีน (จังหวัดสมุทรสาคร) แม่น้ำแม่กลอง (จังหวัดสมุทรสงคราม) แม่น้ำบางตะบูน (จังหวัดเพชรบุรี) ทะเลสาบสงขลา (จังหวัดสงขลา) แม่น้ำปัตตานี (จังหวัดปัตตานี) แม่น้ำบางนราและแม่น้ำโกลก (จังหวัดนราธิวาส) สามารถสรุปออกได้ ดังนี้
          − ขยะลอยน้ำที่ไหลออกจากแม่น้ำบริเวณอ่าวไทยตอนบน มีปริมาณ 84,524,933 ชิ้น/ปี (น้ำหนัก 738 ตัน/ปี) โดยผ่านทางแม่น้ำเจ้าพระยามากที่สุด (จํานวนเฉลี่ย 52,649,113 ชิ้น/ปี น้ำหนัก 317 ตัน/ปี) รองลงมาคือ แม่น้ำบางปะกง (จํานวนเฉลี่ย 15,761,431 ชิ้น/ปี น้ำหนัก 143 ตัน/ปี) แม่น้ำแม่กลอง (จํานวนเฉลี่ย 8,150,737 ชิ้น/ปี น้ำหนัก 130 ตัน/ปี) แม่น้ำท่าจีน (จํานวนเฉลี่ย 6,480,663 ชิ้น/ปี น้ำหนัก 125 ตัน/ปี) และแม่น้ําบางตะบูน (จํานวนเฉลี่ย 1,482,988 ชิ้น/ปี น้ําหนัก 23 ตัน/ปี) ประเภทวัสดุที่เป็นขยะมากที่สุด คือ พลาสติกแผ่นบาง คิดเป็นร้อยละ 74.03 ของจํานวนชิ้นขยะทั้งหมดหรือคิดเป็นร้อยละ 61.8 ของน้ำหนักขยะทั้งหมด กิจกรรมที่ก่อให้เกิดขยะมากที่สุด คือกิจกรรมชายฝั่งและการพักผ่อน คิดเป็นร้อยละ 89.87 ของจํานวนชิ้นขยะทั้งหมดหรือคิดเป็นร้อยละ 77.74 ของน้ำหนักขยะทั้งหมด
          − ขยะลอยน้ำที่ไหลออกมาจากปากแม่น้ำบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง มีปริมาณเฉลี่ย 10,061,877 ชิ้น/ปี (น้ำหนัก 284 ตัน/ปี) โดยผ่านมาทางปากทะเลสาบสงขลามากที่สุด (จํานวนเฉลี่ย 5,517,079 ชิ้น/ปี น้ำหนัก 142 ตัน/ปี) รองลงมาคือ ปากแม่น้ำปัตตานี (จํานวนเฉลี่ย 2,703,986 ชิ้น/ปี น้ำหนัก 84 ตัน/ปี) ปากแม่น้ำโกลก (จํานวนเฉลี่ย 1,307,242 ชิ้น/ปี น้ำหนัก 42 ตัน/ปี) และปากแม่น้ำบางนรา (จํานวนเฉลี่ย 533,570 ชิ้น/ปี น้ำหนัก 17 ตัน/ปี) ประเภทวัสดุที่ก่อให้เกิดขยะมากที่สุด คือพลาสติกแผ่นบาง คิดเป็นร้อยละ 42.75 ของจํานวนชิ้นขยะทั้งหมด หรือคิดเป็นร้อยละ 28.57 ของน้ำหนักขยะทั้งหมด กิจกรรมที่ก่อให้เกิดขยะมากที่สุด คือกิจกรรมชายฝั่งและการพักผ่อน คิดเป็นร้อยละ 78.96 ของจํานวนชิ้นขยะทั้งหมดหรือคิดเป็นร้อยละ 48.62 ของน้ําหนักขยะทั้งหมด

          สถานภาพของปริมาณขยะลอยน้ำที่ไหลลงอ่าวไทยจาก 5 แม่น้ำสายหลัก ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางตะบูน จากการติดตามอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี (2560 – 2564) โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่ามีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด คือจาก 3,357 ตัน ในปี พ.ศ. 2560 ลดลงเหลือ 738 ตัน ในปี พ.ศ. 2564 ในขณะที่จำนวนชิ้นนั้นมีแนวโน้มลดลงเช่นกันจาก 173 ล้านชิ้น ในปี พ.ศ. 2560 ลดลงเป็น 71 ล้านชิ้น ในปี พ.ศ. 2563 แต่เพิ่มสูงขึ้นในปี พ.ศ. 2564 เป็น 85 ล้านชิ้น โดยเฉพาะปริมาณขยะลอยน้ำที่ไหลผ่านปากแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณลดลงตลอดระยะเวลา 4 ปี เมื่อเทียบกับปากแม่น้ำอื่น ๆ แต่ในช่วงปี พ.ศ. 2564 ปริมาณขยะลอยน้ำที่ไหลผ่านทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา มีปริมาณสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยเพิ่มจาก 168 ตัน ในปี พ.ศ. 2563 เป็น 317 ตัน ในปี พ.ศ. 2564 ทั้งนี้เนื่องด้วยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด - 19) ได้มีการประกาศใช้มาตรการควบคุมและขอความร่วมมือให้ประชาชนจำกัดการเดินทางรวมถึงเน้นการทำงานอยู่กับบ้าน (Work from Home) และมีการใช้บริการสั่งอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการเพิ่มปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกจํานวนมาก ส่งผลให้จํานวนชิ้นขยะลอยน้ำในภาพรวมจากทุกปากแม่น้ำมีปริมาณสูงกว่าในปีพ.ศ. 2563 สําหรับแนวทางในการลดปริมาณขยะที่ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยนั้น ควรมีการรณรงค์การงดใช้พลาสติกอย่างต่อเนื่อง และหน่วยงานในพื้นที่ชุมชนที่ติดกับแม่น้ำและชายฝั่งทะเลต้องเพิ่มจุดการจัดเก็บขยะหให้ได้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด เหมือนเช่นในพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีมาตรการจัดเก็บขยะบกของพื้นที่กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการได้ครอบคลุมเกือบทุกแหล่งชุมชน ส่งผลให้ปริมาณขยะที่ไหลลงสู่ทะเลบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

กราฟแสดงน้ำหนักเฉลี่ยรวมขยะลอยน้ำ (ตัน/ปี) ที่ไหลออกจากปากแม่น้ำอ่าวไทยตอนบน และค่าเฉลี่ยรายปีตั้งแต่ 2560-2564 บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางตะบูนพร้อมแสดงจํานวนชิ้น (ล้านชิ้น) และน้ำหนัก (ตัน) ของขยะลอยน้ำในแต่ละปากแม่น้ำ และกราฟแสดงองค์ประกอบ (ประเภทและสัดส่วน) ของขยะฝั่ง ปีงบประมาณ 2564

ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2566
องค์ความรู้ที่น่าสนใจ
  • พื้นที่อนุรักษ์
    หมายถึง พื้นที่มีคุณค่าทางธรรมชาติ นิเวศ หรือวัฒนธรรมที่ควรจะอนุรักษ์ไว้สำหรับลูกหลานในอนาคต พื้นที่คุ้มครองถูกกำหนดขึ้นตามกฎหมายหรือกฎระเบียบอื่นๆ เพื่อให้เกิดการจัดการในรูปแบบต่างๆ เช่น อุทยานแห่งชาติ ป่าสงวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า การจัดการของพื้นที่คุ้มครองจะมีความหลากหลาย ตั้งแต่พื้นที่ที่มีการจำกัดการเข้าถึงของประชาชนจนถึงพื้นที่ ที่ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ในระดับต่างกัน พื้นที่คุ้มครองครอบคลุมทั้งพื้นที่บนบกและในทะเล
  • แมงกะพรุนพิษ
    เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จัดอยู่ในไฟลัมไนดาเรีย (Cnidaria) เช่นเดียวกันกับดอกไม้ทะเล (sea anemones) และปะการัง แมงกะพรุนที่พบได้บ่อยที่สุดจัดอยู่ในกลุ่ม Scyphozoa
  • ป่าชายหาดและป่าพรุ
    ป่าชายหาดและป่าพรุ
  • ที่ดินชายฝั่ง
    ที่ดินชายฝั่ง
  • ความหลากหลายชีวภาพ
    ความหลากหลายชีวภาพ
  • หญ้าทะเล
    หญ้าทะเล
  • อุทยานใต้ทะเล
    อุทยานใต้ทะเล
  • PMBC Special Publication
    PMBC Special Publication
  • นกในเขตชายฝั่งทะเล
    นกในระบบนิเวศชายฝั่งทะเล