ขยะทะเล
- 19 เมษายน 2565
- 1,169
ขยะจากแม่น้ำสายสำคัญ 2564
ขยะทะเลที่มีแหล่งกำเนิดจากแม่น้ำสายสำคัญ
ในปีงบประมาณ 2564 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีการศึกษาปริมาณขยะทะเลจากแหล่งกำเนิดบริเวณปากแม่น้ำสายสำคัญๆ ในอ่าวไทยตอนบน และอ่าวไทยตอนล่าง รวม 9 แม่น้ำ ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง (จังหวัดฉะเชิงเทรา) แม่น้ำเจ้าพระยา (กรุงเทพมหานคร) แม่น้ำท่าจีน (จังหวัดสมุทรสาคร) แม่น้ำแม่กลอง (จังหวัดสมุทรสงคราม) แม่น้ำบางตะบูน (จังหวัดเพชรบุรี) ทะเลสาบสงขลา (จังหวัดสงขลา) แม่น้ำปัตตานี (จังหวัดปัตตานี) แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโกลก (จังหวัดนราธิวาส) สามารถสรุปออกได้ ดังนี้
1. ขยะลอยน้ำที่ไหลออกจากแม่น้ำบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีปริมาณ 84,524,933 ชิ้น/ปี (น้ำหนัก 738 ตัน/ปี) โดยผ่านทางแม่น้ำเจ้าพระยามากที่สุด (จำนวนเฉลี่ย 52,649,113 ชิ้น/ปี น้ำหนัก 317 ตัน/ปี) รองลงมาคือ แม่น้ำบางปะกง (จำนวนเฉลี่ย 15,761,431 ชิ้น/ปี น้ำหนัก 143 ตัน/ปี) แม่น้ำแม่กลอง (จำนวนเฉลี่ย 8,150,737 ชิ้น/ปี น้ำหนัก 130 ตัน/ปี) แม่น้ำท่าจีน (จำนวนเฉลี่ย 6,480,663 ชิ้น/ปี น้ำหนัก 125 ตัน/ปี) และแม่น้ำบางตะบูน (จำนวนเฉลี่ย 1,482,988 ชิ้น/ปี น้ำหนัก 23 ตัน/ปี) ประเภทวัสดุที่เป็นขยะมากที่สุด คือ พลาสติกแผ่นบาง คิดเป็นร้อยละ 74.03 ของจำนวนชิ้นขยะทั้งหมดหรือคิดเป็นร้อยละ 61.8 ของน้ำหนักขยะทั้งหมด กิจกรรมที่ก่อให้เกิดขยะมากที่สุด คือกิจกรรมชายฝั่งและการพักผ่อน คิดเป็นร้อยละ 89.87 ของจำนวนชิ้นขยะทั้งหมดหรือคิดเป็นร้อยละ 77.74 ของน้ำหนักขยะทั้งหมด
2. ขยะลอยน้ำที่ไหลออกมาจากปากแม่น้ำบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีปริมาณเฉลี่ย 10,061,877 ชิ้น/ปี (น้ำหนัก 284 ตัน/ปี) โดยผ่านมาทางปากทะเลสาบสงขลามากที่สุด (จำนวนเฉลี่ย 5,517,079 ชิ้น/ปี น้ำหนัก 142 ตัน/ปี) รองลงมาคือ ปากแม่น้ำปัตตานี (จำนวนเฉลี่ย 2,703,986 ชิ้น/ปี น้ำหนัก 84 ตัน/ปี) ปากแม่น้ำโกลก (จำนวนเฉลี่ย 1,307,242 ชิ้น/ปี น้ำหนัก 42 ตัน/ปี) และปากแม่น้ำบางนรา (จำนวนเฉลี่ย 533,570ชิ้น/ปี น้ำหนัก 17 ตัน/ปี) (รูปที่ 1.34) ประเภทวัสดุที่ก่อให้เกิดขยะมากที่สุด คือพลาสติกแผ่นบาง คิดเป็นร้อยละ 42.75 ของจำนวนชิ้นขยะทั้งหมด หรือคิดเป็นร้อยละ 28.57 ของน้ำหนักขยะทั้งหมด กิจกรรมที่ก่อให้เกิดขยะมากที่สุด คือกิจกรรมชายฝั่งและการพักผ่อน คิดเป็นร้อยละ 78.96 ของจำนวนชิ้นขยะทั้งหมด หรือคิดเป็นร้อยละ 48.62 ของน้ำหนักขยะทั้งหมด
3. สถานภาพของปริมาณขยะลอยน้ำที่ไหลลงอ่าวไทยจาก 5 แม่น้ำสายหลัก ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางตะบูน ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งติดตามอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี (2560 – 2564) พบว่ามีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด คือจาก 3,357 ตัน ในปี พ.ศ. 2560 ลดลงเหลือ 738 ตัน ในปี พ.ศ. 2564 ในขณะที่จำนวนชิ้นนั้นมีแนวโน้มลดลงเช่นกันจาก 173 ล้านชิ้น ในปี พ.ศ. 2560 ลดลงเป็น 71 ล้านชิ้น ในปี พ.ศ. 2563 แต่เพิ่มสูงขึ้นในปี พ.ศ. 2564 เป็น 85 ล้านชิ้น โดยเฉพาะปริมาณขยะลอยน้ำที่ไหลผ่านปากแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณลดลงตลอดระยะเวลา 4 ปี เมื่อเทียบกับปากแม่น้ำอื่น ๆ แต่ในช่วงปี พ.ศ. 2564 ปริมาณขยะลอยน้ำที่ไหลผ่านทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา มีปริมาณสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยเพิ่มจาก 168 ตัน ในปี พ.ศ. 2563 เป็น 317 ตัน ในปี พ.ศ. 2564 ทั้งนี้เนื่องด้วยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด - 19) ได้มีการประกาศใช้มาตรการควบคุมและขอความร่วมมือให้ประชาชนจำกัดการเดินทางรวมถึงเน้นการทำงานอยู่กับบ้าน (Work from Home) และมีการใช้บริการสั่งอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการเพิ่มปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกจำนวนมาก ส่งผลให้จำนวนชิ้นขยะลอยน้ำในภาพรวมจากทุกปากแม่น้ำมีปริมาณสูงกว่าในปี พ.ศ. 2563 สำหรับแนวทางในการลดปริมาณขยะที่ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยนั้น ควรมีการรณรงค์การงดใช้พลาสติกอย่างต่อเนื่อง และหน่วยงานในพื้นที่ชุมชนที่ติดกับแม่น้ำและชายฝั่งทะเลต้องเพิ่มจุดการจัดเก็บขยะให้ได้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด เหมือนเช่นในพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีมาตรการจัดเก็บขยะบกของพื้นที่กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการได้ครอบคลุมเกือบทุกแหล่งชุมชน ส่งผลให้ปริมาณขยะที่ไหลลงสู่ทะเลบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ที่มา : สถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งปี 2564