ขยะทะเล
- 19 เมษายน 2565
- 3,645
สถานการณ์ขยะทะเลปี 2564
ปัญหาขยะทะเลในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากขยะพลาสติกที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีและไหลลงสู่ทะเล โดยมีแหล่งกำเนิดจากบนบก ร้อยละ 80 และในทะเล ร้อยละ 20 จากข้อมูลระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2562 ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนใน 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลมีปริมาณที่เพิ่มขึ้น แต่การจัดการขยะมูลฝอยอย่างถูกต้องก็มีแนวโน้มดีขึ้นด้วย โดยมีการคัดแยกจากต้นทางและมีการนำกลับมาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น จนทำให้ปริมาณขยะมูลฝอยที่กำจัดไม่ถูกต้องในปี พ.ศ. 2560 – 2562 มีแนวโน้มลดลงจากปี พ.ศ. 2559 อย่างชัดเจน
ประเทศไทยได้กำหนดให้ปัญหาขยะมูลฝอย และขยะทะเลเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีแผนบริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรมทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 – 2564) รวมทั้ง Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561 – 2573) และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ “แผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลปี พ.ศ. 2564 – 2568 (ASEAN Regional Action Plan for Combating Marine Debris, 2021 – 2025)” และเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ ศิลปอาชา) ได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียนในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในทะเล ในงานประชุมเปิดตัวแผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในประเทศสมาชิกอาเซียน (พ.ศ. 2564 – 2568) โดยการสนับสนุนของธนาคารโลกและสำนักงานเลขาธิการอาเซียน นับเป็นแผนปฏิบัติการที่จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้อาเซียนบรรลุการปกป้องสภาพแวดล้อมทางทะเลที่สำคัญ โดยเป้าหมายของแผนปฏิบัติการอาเซียน เพื่อทำให้เกิดการประสานในระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศเพื่อให้ได้รับการจัดการที่ยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งโดยผ่านการตอบสนองต่อมลภาวะพลาสติกในทะเล ซึ่งมียุทธศาสตร์สำหรับจัดการปัญหาขยะพลาสติกในทะเล เป็นการดำเนินการปฏิบัติใน 3 ขั้นตอนหลักในห่วงโซ่คุณค่าของพลาสติก 1) การลดสิ่งป้อนเข้าระบบ 2) เสริมสร้างการเก็บและการลดการรั่วไหลเล็ดลอดของขยะ 3) การเพิ่มคุณค่าให้กับการนำกลับมาใช้ซ้ำ
ในปี พ.ศ. 2563 กรมควบคุมมลพิษได้คาดการณ์ว่า ในพื้นที่ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลมี “ขยะมูลฝอย” เกิดขึ้นปริมาณ 11 ล้านตัน มีขยะที่กำจัดไม่ถูกต้อง 2.86 ล้านตัน โดยเป็น “ขยะพลาสติก” ปริมาณ 343,183 ตัน (0.34 ล้านตัน) และคิดเป็นขยะทะเลปริมาณ 34,318 – 51,477 ตัน (0.03-0.05 ล้านตัน) โดยที่ปริมาณขยะทะเลในปี พ.ศ. 2563 สูงกว่าในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งมีจำนวน 27,334 – 41,000 ตัน
ปัจจุบันขยะทะเลที่ตกค้างในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งกำลังเป็นประเด็นที่ถูกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ในส่วนของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ดำเนินการบริหารจัดการขยะทะเลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 เพื่อช่วยลดปริมาณขยะในทะเลและชายฝั่ง รวมถึงป้องกันการเกิดขึ้นใหม่ของขยะทะเล โดยในปีงบประมาณ 2564 ได้ดำเนินงานโครงการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะทะเล สามารถจัดเก็บขยะที่ตกค้างออกจากระบบนิเวศชายฝั่งทะเลได้รวมทั้งสิ้น 443,987 กิโลกรัม (ประมาณ 444 ตัน) รวมจำนวนขยะ 3,950,904 ชิ้น โดยองค์ประกอบของขยะตกค้างชายฝั่งที่พบมาก 10 อันดับแรก ได้แก่ ขวดเครื่องดื่มพลาสติก (ร้อยละ 13) ถุงพลาสติกอื่น ๆ (ร้อยละ 11) เศษโฟม (ร้อยละ 8) ขวดเครื่องดื่มแก้ว (ร้อยละ 8) ถุงก๊อปแก๊ป (ร้อยละ 8) ห่อ/ถุงอาหาร (ร้อยละ 7) เศษพลาสติก (ร้อยละ 6) เสื้อผ้า/รองเท้า/เครื่องประดับ/แว่นตา/สร้อยคอ (ร้อยละ 4) กล่องอาหาร/โฟม (ร้อยละ 4) และกระป๋องเครื่องดื่ม (ร้อยละ 3) รวมคิดเป็นร้อยละ 73 ส่วนที่เหลือเป็นขยะประเภทอื่น ๆ (ร้อยละ 27) และในจำนวนขยะตกค้างชายฝั่ง ที่เก็บได้ทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก (ร้อยละ 83)
กิจกรรมเก็บขยะ | ปริมาณขยะที่จัดเก็บได้ | |
น้ำหนัก | จำนวนชิ้น | |
1. จัดเก็บขยะตกค้างในระบบนิเวศที่สำคัญแบบมีส่วนร่วม (ชายหาด ปะการัง และป่าชายเลน) ครอบคลุม 48 พื้นที่ของ 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล | 162,069 | 1,662,809 |
2. จัดทำมาตรการลดปริมาณขยะในพื้นที่เป้าหมายตามหลักวิชาการ 7 มาตรการ ใน 10 พื้นที่ (ระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี พังงา กระบี่ และสตูล) | 43,087 | 222,894 |
3. จัดเก็บขยะร่วมกับหน่วยงาน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันการศึกษา | 88,621 | 541,649 |
4. จัดเก็บขยะโดยใช้ทุ่นกักขยะ (Boom) ในพื้นที่ 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล | 83,162 | 634,422 |
5. จัดเก็บขยะโดยใช้ทุ่นกักขยะลอยน้ำ (SCG-DMCR litter trap) | 19,380 | 190,296 |
6. จัดเก็บขยะโดยใช้เรือเก็บขยะ (Garbage Boat) | 30,303 | 490,389 |
7. เก็บขยะชายหาดสากล (International Coastal Cleanup Day) | 17,365 | 208,445 |
รวมปริมาณขยะที่จัดเก็บได้ | 443,987 | 3,950,904 |
ที่มา : สถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งปี 2564