ขนาด
เต่ามะเฟือง
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

กฏหมายที่ให้ความคุ้มครองและอนุรักษ์เต่าทะเลที่มีในประเทศไทย
     1. พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490

​     2. พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522

     3. พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
             มาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง
             มาตรา 17 ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากสัตว์ป่าดังกล่าว เว้นแต่
                             (1) เป็นการครอบครองโดยผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งและประกอบกิจการสวนสัตว์ตามมาตรา 33 หรือสวนสัตว์ที่หน่วยงานของรัฐจัดตั้งตามหน้าที่
                             (2) เป็นการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ของผู้รับใบอนุญาตดำเนินกิจการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าตามมาตรา 28 ที่มีไว้เพื่อการเพาะพันธุ์หรือได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือซากสัตว์ป่าดังกล่าว
                             (3) เป็นกรณีตามมาตรา 10 หรือมาตรา 11
             มาตรา 23 ผู้ใดจะนำเข้าหรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ สัตว์ป่าควบคุม ซากสัตว์ป่าดังกล่าว หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าดังกล่าวต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี
             มาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ใดค้าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากสัตว์ป่าดังกล่าว หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าดังกล่าว
             มาตรา 54 ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่า เก็บหรือทำอันตรายแก่รังของสัตว์ป่า หรือล่อหรือนำสัตว์ป่าออกไป เว้นแต่จะกระทำเพื่อการสำรวจ การศึกษา การวิจัย หรือการทดลองทางวิชาการ และได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
             มาตรา 89 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 12 หรือมาตรา 29 ถ้ากระทำต่อสัตว์ป่าคุ้มครอง ซากสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                            ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 12 มาตรา 22 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 29 ถ้ากระทำต่อสัตว์ป่าสงวน ซากสัตว์ป่าสงวน หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าสงวน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

​     4. พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาตินี้เป็นกฏหมายที่มุ่งคุ้มครองแหล่งที่อยู่อาศัย และหาดวางไข่ของเต่าทะเล ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทางทะเลหลายแห่ง

ประกาศที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเต่าทะเล
​     1. ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2490 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 (7) แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ห้ามมิให้บุคคลใด จับ ดัก ล่อ ทำอันตราย หรือ ฆ่าเต่าทะเล และกระ-ทะเลทุกชนิดโดจะติดหรือถูกจับขึ้นมาด้วยเครื่องมือใดๆ ก็ตามให้ปล่อยลงทะเลไปทันที่รวมทั้งห้ามมิให้บุคคลใด เก็บ หรือ ทำอันตรายไข่เต่าทะเล และ ไข่กระทะเล ทุกชนิดในหาดทุกแห่ง เว้นแต่ผู้ที่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

​     2. กฎกระทรวงฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 กำหนดให้เต่ากระเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภท 1 ดังนั้นจึงห้ามฆ่าหรือมีไว้ครอบครอง ซากของเต่ากระ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

​     3. พระราชกฤษฎีการะบุสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำบางชนิดห้ามมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้า พ.ศ. 2535 ซึ่งเนื้อหาของพระราชกฤษฎีกาครอบคลุมรวมทั้งเต่าและกระทะเล ตลอดจนผลิตภัณฑ์ของเต่า และกระทะเลด้วย

​     4. ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรฉบับที่ 58 ปี พ.ศ. 2534 ข้อความในประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับนี้ครอบคลุมถึงการห้ามส่งออกเต่าและกระทะเล ตลอดจนผลิตภัณฑ์ของเต่าและกระทะเลด้วย

​     5. ประกาศกรมประมง เรื่องการใช้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ข้อความในประกาศกรมประมงฉบับนี้ ได้รวมเต่าทะเลและกระทะเลเป็นสัตว์สงวนเช่นเดียวกันกับสัตว์อื่นๆ อีกหลายชนิด นอกจากกฎหมายในประเทศหลายข้อที่มุ่งอนุรักษ์เต่าทะเลของไทยแล้ว

กฎหมายระหว่างประเทศ
          
ที่ได้เห็นพ้องต้องกันให้มีการเข้มงวดในการอนุรักษ์เต่าทะเลของโลกไว้ด้วย ซึ่งมาตรการที่สำคัญได้แก่ อนุสัญญา CITES ห้ามประเทศสมาชิกนำเข้าและส่งออก เต่า กระ ซากเต่าหรือส่วนหนึ่งส่วนใด ของเต่าและกระเพื่อการค้า ซึ่งนับว่าเป็นการร่วมมือกันอนุรักษ์เต่าทะเลในระดับประเทศ รวมถึงการรณรงค์ให้ใช้เครื่องมือแยกเต่าออกจากอวนลาก Turtle Exclusive Device (TED)

ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566