เต่ามะเฟือง
แนวทางปฏิบัติเมื่อไข่เต่ามะเฟืองฟักออกเป็นตัวและคลานกลับลงสู่ทะเลอย่างปลอดภัย
1. การเตรียมและซ้อมแผนปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน และสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 (พังงา)
1.1 จัดการประชุมคณะเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย นักวิชาการประมง นักวิชาการป่าไม้ สัตวแพทย์ เจ้าพนักงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อ
- การกำหนดแนวทางการปฏิบัติตามหลักวิชาการ
- การกำหนดแผนผังการปฏิบัติงาน
- การมอบหมายงานให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ
- การซักซ้อมการปฏิบัติเสมือนจริง ให้สอดคล้องกับแผนผังการปฏิบัติงาน
- การจัดเวรยามเฝ้าการฟักออกมาเป็นตัวของลูกเต่า
1.2 การเตรียมอุปกรณ์กั้นหรือป้องกันไม่ให้รบกวนการคลานกลับของลูกเต่าลงสู่ทะเล ได้แก่
- เทปกั้นบุคล เพื่อป้องกันมิให้บุคคลเข้าไปกีดขวางการคลานกลับลงสู่ท้องทะเล
- พลั่วขุดทางลาดจากหลุมลูกเต่า โดยให้เต่าคลานขึ้นมาได้ง่ายและทางทรายเรียบจนถึงบริเวณน้ำทะเลขึ้นสูงสุด เพื่อให้ลูกเต่าคลานกลับลงสู่หาดอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการย้ายหลุมฟักอยู่ห่างจากหลุมธรรมชาติเดิม 20 เมตร จึงจำเป็นต้องทำทางลาดทำมุมไม่เกิน 45 องศาจากก้นหลุมถึงปากหลุม เพื่อลดการใช้พลังงาน และสร้างทางเรียบกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร ลึกไม่เกิน 7 เซนติเมตร (ปกติเต่ามะเฟืองจะวางไข่ใกล้หาดหรือแนวระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุด จึงทำให้พื้นทรายเรียบ ทำให้ง่ายสำหรับเต่ามะเฟืองเท่านั้น ในการคลานกลับลงสู่ท้องทะเล ส่วนเต่าทะเลอื่นมีความคล่องตัวกว่าจึงคลานลงสู่ทะเลได้ง่ายในบริเวณที่ผิวทรายไม่เรียบ)
- หากมีการฟักในระยะเวลากลางคืนสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ได้สะดวกและเหมาะสมให้ใช้แสงไฟที่มีสีแดงเท่านั้น
1.3 การจัดเตรียมเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตามจุดสำคัญต่างๆ
- เฝ้าระวังความปลอดภัย
- เฝ้าระวังประจำตำแหน่งที่ได้รับมอบหมาย
- คอยให้คำแนะแนวทางการปฏิบัติ
ข้อห้ามในวันที่ลูกเต่ามะเฟืองฟักออกจากไข่
1. ห้ามส่งเสียงดังรบกวน
2. ห้ามมิให้ใช้แสงไฟ ไฟฉาย และแสงแฟลตจากกล้องถ่ายภาพหรือกล้องมือถือ ยกเว้นแสงไฟสีแดง
3. ห้ามเข้าไปในเขตพื้นที่หวงห้ามโดยเด็ดขาด
4. ห้ามจับหรือสัมผัสตัวลูกเต่ามะเฟือง
5. ไม่ยืนบังกล้องวงจรปิด เนื่องจากมีผู้รอชมผ่านการถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์กรมด้วย
ข้อมูล : สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน
วันที่ : 14 มกราคม 2562