เต่ามะเฟือง
- 25 ธันวาคม 2561
- 1,063
มาตรการในการอนุรักษ์
1. มาตรการในปัจจุบัน
1. มาตรการทางการประมง
- ประกาศกระทรวงเกษตราธิการ เรื่อง ห้ามมิให้ทำการประมงเต่าทะเล และกระทะเลทุกชนิดรวมทั้งไข่ของสัตว์น้ำดังกล่าว ลงวันที่ 14 เมษายน 2490
- ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดให้ติดเครื่องมือแยกเต่าทะเลในเครื่องมืออวนลากกุ้งทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ ลงวันที่ 16 กันยายน 2539
- ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเขตห้ามใช้เครื่องมืออวนลากอวนรุนที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมง ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2515 กำหนดห้ามทำการประมงในเขต 3000 เมตรนับจากขอบน้ำตามชายฝั่งทะเล `ปัจจุบันขยายเขตห้ามทำการประมงออกไปเป็น 5400 เมตรนับจากขอบน้ำตามชายฝั่งทะเล ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล 10 จังหวัด
พื้นที่ห้ามทำการประมงพาณิชย์ในเขต 3,000 เมตร หรือ 5,400 เมตรในบางจังหวัด มีส่วนช่วยไม่ให้เต่ามะเฟืองติดเครื่องมือประมงโดยเฉพาะเครื่องมืออวนลาก อย่างไรก็ตามพบว่าเต่ามะเฟืองจำนวนมากยังมีการติดเครื่องมือชนิดอื่นโดยเฉพาะเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เช่น อวนลอย ลอบ เป็นต้น
2. มาตรการเชิงพื้นที่
การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งและการเก็บไข่เต่ามะเฟืองเพื่อการบริโภคในอดีตเป็นสาเหตุของการลดลงของสถิติการวางไข่ พื้นที่วางไข่เต่ามะเฟืองบางส่วนได้รับการคุ้มครองเนื่องจากเป็นพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติหาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา อย่างไรก็ตามพื้นที่อุทยานฯ ดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงพื้นที่ทางทะเลซึ่งเต่ามะเฟืองใช้เป็นแหล่งอาศัยระหว่างการวางไข่และผสมพันธุ์ พื้นที่คุ้มครองตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของจังหวัดภูเก็ตและพังงามีส่วนช่วยให้มีการคุ้มครองแหล่งวางไข่เต่ามะเฟือง แต่ก็มีข้อจำกัดในด้านระยะเวลาของประกาศ
3. มาตรการอื่นๆ
แม้ว่าเต่ามะเฟืองได้รับการคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่ก็ยังมีแนวโน้มการลดลงของประชากรโดยเฉพาะจำนวนการวางไข่ของแม่เต่ามะเฟือง ทั้งนี้เป็นผลจากการขาดมาตรการจัดการที่มีประสิทธิภาพและการบังคับใช้ของมาตรการที่มีอยู่อย่างจริงจัง
2. มาตรการหลังการประกาศ
1. ยกระดับความสำคัญให้เต่ามะเฟืองเป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 18
ยกระดับให้เต่ามะเฟืองเป็นสัตว์สงวนในลำดับที่ 18 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เพื่อสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้สังคมได้รับรู้ถึงความสำคัญของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
2. ลดปัญหาจากการติดเครื่องมือประมง
ออกมาตรการห้ามเครื่องมือประมงที่เป็นภัยต่อเต่าทะเลในบริเวณทะเลรัศมี 3 ไมล์ทะเลจากแหล่งวางไข่; เพิ่มประสิทธิภาพการกวดขันให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย; สร้างเครือข่ายชาวประมงเพื่อป้องกันการเครื่องมือประมงผิดกฎหมายและช่วยแจ้งการพบเต่าขึ้นวางไข่แก่เจ้าหน้าที่; วางปะการังเทียมเพื่อป้องกันอวนลากในพื้นที่แหล่งวางไข่เต่าทะเล; ชี้แจงแนวเขตอนุรักษ์แหล่งวางไข่เต่าทะเลให้กับกลุ่มประมงพาณิชย์; ให้ความรู้อบรมแก่ชาวประมง เน้นเรื่องการปฐมพยาบาล ช่วยชีวิต และแจ้งข้อมูลในการติดเครื่องมือประมงให้กับหน่วยงาน; ฟื้นฟูแนวปะการัง พื้นที่เสื่อมโทรมเนื่องจากการทำประมง เช่น เก็บเศษอวนคลุมแนวปะการัง
3. ควบคุมกิจกรรมในทะเลที่รบกวนการวางไข่ของเต่าทะเล
เสนอมาตรการที่เหมาะสมในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล เช่น ปิดแหล่งท่องเที่ยวช่วงฤดู วางไข่ หรือจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้มีปริมาณที่เหมาะสม; ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยว กรณีพบเต่าทะเลอย่าทำให้เต่าตกใจหรือตื่นกลัว หรือให้อาหารเต่า; ควบคุมน้ำเสีย คราบน้ำมัน และขยะที่เกิดจากเรือท่องเที่ยว; จัดเก็บรายได้จากการท่องเที่ยวในแหล่งเต่าวางไข่ โดยให้นำมาจัดตั้งเป็นกองทุนอนุรักษ์เต่าทะเล; ทำทุ่นจอดเรือ หาที่จอดเรือให้ห่างจากบริเวณแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล; ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เน้นความสำคัญของเต่าทะเล การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ; จัดทำมาตรการควบคุมกีฬาทางน้ำ เช่น สกู๊ตเตอร์ ในช่วงฤดูเต่าวางไข่; ควบคุมการใช้แสงสว่าง เสียงของเรือท่องเที่ยวในเวลากลางคืน
4. ควบคุมกิจกรรมที่ทำลายสภาพธรรมชาติชายหาด
เสนอให้ชายหาดที่เต่าทะเลขึ้นมาวางไข่เป็นพื้นที่เปราะบางทางนิเวศวิทยา ต้องได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ; ส่งเสริมให้มีการจัดการดูแลและมีมาตรการที่ชัดเจนในการคุ้มครองสภาพชายหาดโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น; ห้ามเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาดให้ผิดจากธรรมชาติในบริเวณแหล่งวางไข่เต่า; ควบคุมการใช้แสง สี เสียง บริเวณชายหาด; กำหนดเวลาห้ามทำกิจกรรมบนหาดทรายในช่วงฤดูวางไข่ของเต่าทะเลสำหรับนักท่องเที่ยว; ปลูกป่าชายหาดเพื่อพรางแสงจากชายฝั่งที่รบกวนการขึ้นมาวางไข่ของแม่เต่าทะเล; การควบคุมการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาด เช่น เก้าอี้ชายหาด ร่ม ให้กำหนดเวลาตั้งเฉพาะเวลากลางวัน; ติดป้ายประชาสัมพันธ์พื้นที่แหล่งวางไข่ให้ชัดเจนในบริเวณชายหาด; ห้ามทิ้งขยะและมีมาตรการกำจัดขยะ รวมทั้งให้มีกลไกที่ชัดเจนในการดูแลสภาพชายหาด
5. ควบคุมกิจกรรมบนชายฝั่งที่รบกวนการวางไข่ของเต่าทะเล
มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก่อนมีการก่อสร้างหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ในบริเวณแหล่งวางไข่เต่าทะเล; ควบคุมการปล่อยน้ำเสีย ขยะ โดยใช้มาตรการที่เหมาะสม; ควบคุมกิจกรรมที่ใช้แสง เสียง ของโรงแรม ร้านอาหาร บ้านเรือนบริเวณชายฝั่งในช่วงฤดูเต่าวางไข่; ควบคุมกิจกรรมในช่วงฤดูการวางไข่ของเต่า เช่น การจัดงานมหรสพ; กำหนดระยะถอยร่นเพื่อควบคุมสิ่งก่อสร้างบริเวณชายฝั่ง; จัดกิจกรรมทำความสะอาดอย่างต่อเนื่อง
6. พัฒนาประสิทธิภาพขององค์กร หน่วยงาน และกลุ่มอนุรักษ์ในการดูแลแหล่งวางไข่เต่า
พัฒนานโยบาย กฎ ระเบียบ ในการจัดการแหล่งวางไข่เต่าทะเลให้มีความชัดเจน, ส่งเสริมการบูรณการการจัดการแหล่งวางไข่เต่าทะเล โดยให้มีเจ้าภาพหลัก และหน่วยงานท้องถิ่น ประชาชนในชุมชน เข้ามามีส่วนร่วม; ส่งเสริมให้หน่วยงานท้องถิ่น องค์กรเอกชน และภาคท้องถิ่น สนับสนุนในด้านงบประมาณเพื่อดำเนินการด้านอนุรักษ์แหล่งวางไข่เต่าทะเล; ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์เต่าทะเลในพื้นที่; ฝึกอบรมผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการอนุรักษ์แหล่งวางไข่เต่าทะเลในบริเวณแหล่งวางไข่
7. ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อการจัดการมีประสิทธิภาพ
จัดตั้งเครือข่ายการอนุรักษ์และเฝ้าระวังแหล่งวางไข่ของเต่าทะเลในพื้นที่; สร้างจิตสำนึกให้กับชุมชน นักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ให้เกิดความรักและหวงแหนเต่าทะเล; ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างชุมชน หน่วยงานรัฐ และองค์กรอนุรักษ์ที่ทำงานอนุรักษ์แหล่งวางไข่เต่าทะเล; ส่งเสริมการบรรจุการอนุรักษ์เต่าทะเลลงในหลักสูตรท้องถิ่น
8. เพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวัง และจัดการรังไข่เต่า
เพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังให้กับหน่วยงานองค์กรที่รับผิดชอบในพื้นที่แหล่งวางไข่เต่าทะเล; จัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครเพื่อตรวจสอบ ลาดตระเวนนอกเขตพื้นที่อนุรักษ์; การวางแผนในการเฝ้าระวัง โดยการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านและวิชาการมารวมกัน; จัดเรือตรวจลาดตระเวนชายฝั่งให้ชุมชนในช่วงเต่าขึ้นมาวางไข่ สำรวจก่อนน้ำขึ้นสูงสุด 1 ชั่วโมง หรือเวลาที่คาดว่าเต่าจะขึ้นมาวางไข่ เพื่อดูร่องรอยการวางไข่ของเต่าโดยใช้รถเอทีวี หรือเดินเท้าอย่างสม่ำเสมอ; เปลี่ยนแปลงทัศนคติ ในการบริโภคไข่เต่า; มีการจดบันทึกสถิติการวางไข่ ตำแหน่ง ชนิด วัน เดือน ปี แล้วแจ้งต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ; ส่งเสริมให้มีการฟักไข่เต่าทะเลตามธรรมชาติ; กำหนดสัดส่วนไข่เต่าที่ฟักตามธรรมชาติและส่วนที่นำมาเพาะฟักในบริเวณที่เพาะ โดยคำนึงถึงปัจจัยทางวิชาการและระดับของภัยคุกคาม; ย้ายไข่เต่าทะเลมาฟักในกรณีที่รังเต่าทะเลไม่ปลอดภัยโดยใช้หลักวิชาการที่ถูกต้อง; ให้ความรู้และการจัดการที่ถูกต้องให้แก่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการเคลื่อนย้ายไข่เต่า; จัดเวรยาม อาสาสมัครเฝ้าหลุมไข่เต่า; จัดอุปกรณ์ป้องกันหลุมไข่เต่าจากสัตว์; ลบร่องรอยของเต่าที่ขึ้นมาวางไข่ ในกรณีไม่ทราบระยะเวลาในการวางไข่; ต้องมีการระมัดระวังเรื่องน้ำฝนที่อาจจะขังหลุมไข่เต่าได้
9. ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง
ประชาสัมพันธ์การอนุรักษ์แหล่งวางไข่เต่าทะเลต่อสื่อด้านต่างๆ ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ และให้ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน; จัดทำหลักสูตร ให้ความรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการอนุรักษ์เต่าทะเล และแหล่งวางไข่เต่าทะเลให้มีทิศทางและแนวทางเดียวกัน; จัดตั้งศูนย์เผยแพร่ความรู้งานอนุรักษ์เต่าทะเลและข้อมูลด้านวิชาการ; ให้ความรู้ และสร้างจิตสำนึก ถึงความสำคัญของแหล่งวางไข่แก่ชาวประมง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น; ขอความร่วมมือกับภาคเอกชนในงานเผยแพร่อนุรักษ์เต่าทะเลตามศักยภาพของแต่ละหน่วย เช่น พิมพ์ข้อความการอนุรักษ์เต่าทะเลในสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น บัตรเติมเงิน แสตมป์ สลากกินแบ่ง ห้องสมุดโรงเรียน; จัดเว็บไซด์และระบบฐานข้อมูลการอนุรักษ์เต่าทะเล; ผลักดันให้มีการให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์เต่าทะเลให้กับโรงเรียนท้องถิ่นที่เป็นแหล่งวางไข่; ส่งเสริมให้เต่าทะเลเป็นสัญลักษณ์ หรือเอกลักษณ์ประจำถิ่น ในพื้นที่แหล่งวางไข่เต่าทะเล เช่น เพลง คำขวัญ ป้ายถนน ถังขยะ ของที่ระลึก
10. ส่งเสริมการศึกษาวิจัยและการเก็บรวบรวมข้อมูล
ศึกษาเก็บข้อมูลการวางไข่ของแม่พันธุ์ต่อเนื่องทุกปี เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูล; จัดตั้งหน่วยงานกลางสำหรับเก็บรวบรวมข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และเป็นศูนย์กลางรวบรวมผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง; จัดอบรมเจ้าหน้าที่ระดับผู้ปฏิบัติเพื่อปรับวิธีการเก็บข้อมูลให้ทันสมัยและเป็นมาตรฐานเดียวกัน; จัดอบรมชาวบ้านในพื้นที่ให้สามารถเก็บข้อมูลพื้นฐานได้ และสามารถศึกษาวิจัยด้วยตนเองได้; ศึกษาแหล่งวางไข่ที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมต่างๆ เช่น เครื่องมือประมง การท่องเที่ยว การพัฒนาชายฝั่ง; ศึกษาจัดทำแผนที่การใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเล ของอาชีพกลุ่มประมงต่างๆ ให้ชัดเจนเพื่อกำหนดมาตรการอนุรักษ์; ศึกษาความสำคัญของการอนุรักษ์เต่าทะเล และเผยแพร่ให้ประชาชน เจ้าหน้าที่ เข้าใจอย่างถูกต้อง; ติดตามประเมินผลลูกเต่าที่ปล่อยจากการเพาะเลี้ยง โดยอาศัยเทคโนโลยีเพื่อให้ทราบอัตรารอด และการเดินทาง; สนับสนุนให้ชุมชนเข้าถึงเทคโนโลยี และอุปกรณ์ที่ทันสมัย เช่น การได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ไมโครชิพ GPS เครื่องติดตามเต่าผ่านดาวเทียม; ศึกษาระบบนิเวศของแหล่งวางไข่ เช่น การเปลี่ยนแปลงของชายหาด คลื่น; เพิ่มการศึกษาเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงโดยเฉพาะเรื่องโรค; ศึกษาวงจรชีวิต รวมถึงการกินอาหารของเต่าทะเลแต่ละชนิดในแหล่งวางไข่นั้น