เต่ามะเฟือง
- 25 ธันวาคม 2561
- 729
ภัยอันตรายต่อเต่ามะเฟือง
ภัยคุกคาม
1. ติดเครื่องมือประมง
ระหว่างการเดินทางมาวางไข่และระหว่างพักช่วงการวางไข่ของแม่เต่ามะเฟือง มีโอกาสที่จะติดเครื่องมือประมง ทั้งเครื่องมือประมงพาณิชย์ เช่น อวนลาก และเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เช่น อวนลอย เบ็ดราวปลากระเบน และโป๊ะน้ำตื้น
2. ถูกรบกวนจากกิจกรรมในทะเล
การรบกวน เช่น จากแสงไฟของเรือที่จอดบริเวณชายหาด ขยะ และน้ำเสียจากเรือ การท่องเที่ยวทางทะเล เช่น สกู๊ตเตอร์ รบกวนการขึ้นมาวางไข่ของเต่าทะเล นอกจากนั้นความสนใจของนักดำน้ำต่อเต่าทะเลยังรบกวนการพักผ่อน หากินของมันอีกด้วย
3. การสูญเสียสภาพชายหาดที่เหมาะสมต่อการวางไข่
การสูญเสียสภาพชายหาดเกิดขึ้นได้ทั้งในเชิงของปริมาณ คือการสูญเสียบริเวณหาดทรายที่เหมาะสมต่อการวางไข่ของเต่าทะเลจากการก่อสร้างสิ่งลุกล้ำลงไป หรือในเชิงคุณภาพ เช่น มีกิจกรรม แสง สี เสียง รบกวนการขึ้นมาวางไข่ของแม่เต่า ความสกปรก และขยะบริเวณชายหาด
สถิติการวางไข่ของเต่าทะเลในประเทศไทย
4. ถูกรบกวนจากกิจกรรมบนชายฝั่ง
การพัฒนาบนฝั่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพของชายหาดที่เต่าทะเลจะเลือกขึ้นมาวางไข่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของแสง การขาดการจัดการที่ดีของการพัฒนาชายฝั่ง ส่งผลต่อปริมาณขยะ และน้ำเสียที่ไหลลงมาสู่ชายหาด
5. ขยะทะเล
ปัญหาของขยะทะเลมีแนวโน้มสูงขึ้นมาก เนื่องจากการเพิ่มของประชากรของมนุษย์และการขาดจิตสำนึกในการใช้สิ่งของและการทิ้งขยะ ผลการผ่าชันสูตรซากเต่าทะเลที่เกยตื้นเสียชีวิตบางตัวพบขยะพลาสติกจำนวนมากในระบบทางเดินอาหารอันเป็นสาเหตุของการตาย เต่ามะเฟืองซึ่งกินแมงกะพรุนเป็นอาหารหลักเมื่อเห็นพวกเศษถุงพลาสติกใสอาจหลงเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแมงกะพรุนจึงกินเข้าไปได้ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะกลืนกินขยะทะเลเข้าไป ปัญหาขยะทะเลไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเต่าทะเล แต่ยังเป็นสาเหตุการเกยตื้นในสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ชนิดอื่นๆ ทั้งจากการกินโดยไม่ตั้งใจ หรือการกินโดยตั้งใจเนื่องจากคิดว่าเป็นอาหาร ปัญหาขยะที่พบได้บ่อยมากคือขยะจำพวกเชือกและเศษอวนซึ่งเกี่ยวรัดสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธ์ให้บาดเจ็บและเสียชีวิต
สถิติการเกยตื้นแสดงจำนวนที่เกยตื้นรายปี (พื้นที่สีแดง) และจำนวนที่เกยตื้นจากสาเหตุขยะในทะเล (เส้นกราฟสีเขียว)
การใช้ประโยชน์และการค้า
- ไม่พบการล่าจับเต่ามะเฟืองในน่านน้ำไทยเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการค้า แต่พบการติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ ซึ่งอาจนำไปสู่การส่งออกเพื่อขายสำหรับการอุปโภคและบริโภคในตลาดต่างประเทศ
- มีการลักลอบเก็บไข่เต่ามะเฟืองเพื่อการบริโภคและลักลอบขาย
ข้อกฎหมาย
เต่ามะเฟืองเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามกฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
เต่ามะเฟือง เป็นสัตว์ป่าในกลุ่มที่ 1 ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่าและซากของสัตว์ป่าที่ห้ามนำเข้าส่งออก ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2556 ซึ่งกำหนดให้สัตว์ในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ห้ามนำเข้า-ส่งออก เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี
ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2561