เต่ามะเฟือง
- 25 ธันวาคม 2561
- 558
สถานภาพและแนวโน้มประชากร
สถานภาพของเต่ามะเฟือง
1. พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ.2535: สัตว์ป่าคุ้มครอง
2. IUCNRed List: VU แนวโน้มประชากร: ลดลง
3. สำนักงานนโยบายและสิ่งแวดล้อม (2548): CR, (2558): CR
4. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง: เสนอเป็น CR เนื่องจากสถิติการวางไข่ลดลงมากกว่า 95%ในช่วงเวลา 50 ปี และแหล่งวางไข่ได้รับการคุกคามจากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง
หมายเหตุ: (1)การอ้างอิงสถานภาพใช้เกณฑ์ของ IUCN Red List (http://www.iucnredlist.org) -สิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้ว (Extinct - EX) -สิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์จากธรรมชาติ (EW - Extinct in the Wild) -สูญพันธุ์จากที่อาศัยตามธรรมชาติ แต่ยังหลงเหลืออยู่ในสถานที่กักกัน -สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (CR - Critically endangered species) -สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์ (EN - Endangered species) -สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU - Vulnerable species) -สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (NT - Near Threatened) -สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์ (LC - Least Concern) -สิ่งมีชีวิตที่ไม่มีข้อมูลเพียงพอ (DD - Data Deficient) -สิ่งมีชีวิตที่ยังไม่ได้รับการประเมินความเสี่ยง (NE - Not Evaluated) (2)การจัดทำสถานภาพของสำนักงานนโยบายและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2558 ผ่านการประชุมรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 4 ครั้ง ระหว่าง พ.ศ.2556 -2557 และผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 (3) ความเห็นของกรมประมงเป็นไปตามหนังสือเวียนมติอนุกรรมการอนุสัญญาว่าความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 1/2558 เรื่องการปรับปรุงสถานภาพสัตว์มีกระดูกสันหลังที่ถูกคุกคามในประเทศไทย ที่ ทส 1012/ว6079 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2558
ในอดีตประเทศไทยมีประชากรเต่าทะเลเป็นจำนวนมาก เต่าทะเลวางไข่ตลอดแนวชายหาดของประเทศ มีการใช้ประโยชน์จากเต่าทะเลในหลายๆ ด้าน เช่น ใช้เนื้อและไข่เป็นอาหาร กระดองนำไปเป็นเครื่องประดับและเครื่องตบแต่ง นอกจากนั้นมีการเปิดประมูลเก็บฟองไข่เต่าทะเลเพื่อการค้า โดยผู้ประมูลสามารถเก็บไข่เต่าทะเลนำไปขาย โดยมีเงื่อนไขในการนำไข่เต่าทะเล 20% ไปเพาะฟักเพื่อปล่อยกลับลงสู่ทะเล อย่างไรก็ตามเงื่อนไขดังกล่าวไม่สามารถชดเชยประชากรในธรรมชาติได้ เนื่องจากอัตรารอดของลูกเต่าทะเลในธรรมชาติน้อยมาก เต่าทะเลจึงลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับปัญหาจากการติดเครื่องมือประมง เช่น อวนลาก ซึ่งเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลให้จำนวนรังไข่เต่าทะเลลดลงจากประมาณ 2,000 รัง ในปี พ.ศ. 2500 เหลือเพียงไม่เกิน 500 รัง หรือประมาณ 20% เมื่อเทียบกับสถิติการวางไข่ในปี พ.ศ. 2535 หลังจากการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างรวดเร็วในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ชายหาดซึ่งเคยเป็นแหล่งวางไข่เต่าทะเลถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการก่อสร้างโรงแรม บ้านเรือนริมชายฝั่ง มีกิจกรรมในบริเวณชายหาดหลากหลาย นอกจากนั้นยังมีการเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติของชายหาด ทำให้สูญเสียศักยภาพการเป็นแหล่งวางไข่เต่าทะเล และส่งผลให้จำนวนรังไข่เต่าทะเลลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเหลือพ่อแม่พันธุ์เต่ามะเฟืองมาผสมพันธุ์และวางไข่ในประเทศไทยปีละไม่ถึง 10 ตัว โดยสถิติการวางไข่เต่ามะเฟืองลดลงจาก 250-300 รังเหลือเพียง 10-20 รัง ลดลงมากกว่า 95% ในช่วงเวลา 50 ปี โดยมีแหล่งวางไข่ที่สำคัญบริเวณชายหาดของแผ่นดินใหญ่ฝั่งตะวันตกของประเทศไทยได้แก่จังหวัดพังงาและภูเก็ต
พื้นที่สีแดงแสดงแหล่งวางไข่ของเต่าทะเลในประเทศไทย วงเส้นสีน้ำตาลแสดงพื้นทีพบการวางไข่เต่ามะเฟือง
หาดทะเลนอก-หาดประพาส จ.ระนอง
มีสถิติการวางไข่เต่าทะเลประมาณ 5 รังต่อปี เป็นเต่าชนิดเต่ามะเฟือง เต่าตนุ และเต่าหญ้า หาดประพาสตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแหลมสน ซึ่งตั้งอยู่ในคาบสมุทรอินโดจีนทางฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ในท้องที่อำเภอเมืองระนอง อำเภอกะเปอร์ กิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง และอำเภอคุระบุรีจังหวัดพังงา อยู่ในระหว่างเส้นรุ้งที่ 9 องศา 16 ลิบดา - 9 องศา 40 ลิบดา เหนือและอยู่ระหว่างเส้นแวงที่ 98 องศา 19 ลิบดา - 98 องศา 31 ลิบดา ตะวันออก มีอาณาเขตติดต่อทิศเหนือจดอ่าวอ่าง ทิศใต้จดป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนคลองม่วงกลวง และป่าแหลมหน้าทุ่ง จังหวัดระนอง ป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขานมสาว แปลงที่ 2 จังหวัดพังงา และป่าสงวนแห่งชาติป่าทุ่งนาดำ และป่าควนปากเตรียม จังหวัดพังงา ทิศตะวันออกจดคลองเตรียม ทิศตะวันตกจดทะเลอันดามัน
พื้นที่หาดทะเลนอก-หาดประพาส จ.ระนอง
เกาะระ-เกาะพระทอง เกาะคอเขา จ.พังงา
มีสถิติการางไข่เต่าทะเลประมาณ 10 รังต่อปี เป็นเต่าชนิดเต่ามะเฟือง เต่าตนุ และเต่าหญ้า เกาะระ-เกาะพระทอง เกาะคอเขา มีลักษณะภูมิประเทศเป็นชายฝั่งทะเลยุบตัว ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของภาคใต้ท้องที่จังหวัดพังงา ลักษณะโดยรวมของพื้นที่เป็นหาดโคลนปากแม่น้ำมีลำคลองหลายสายไหลลงมาบริเวณดังกล่าว เป็นคลองยาวมีสาขามากมายก่อนเปิดออกสู่ทะเลมีความสมบูรณ์ของธาตุอาหารในตะกอนดิน และได้รับอิทธิพลจากการขึ้น-ลงของน้ำทะเล มีภูเขาสูงชันและเกาะต่างๆ วางในแนวเหนือใต้ ได้แก่ เกาะระพื้นที่เป็นเขาสูงและชัน สูงจากระดับน้ำทะเล 235 เมตร เกาะพระทองพื้นที่เป็นที่ราบ เกาะคอเขาพื้นที่เป็นที่ราบส่วนใหญ่มีภูเขาสลับ สูงจากระดับน้ำทะเล 310 เมตร และจากเกาะบริวารเล็กๆ อีก เช่น เกาะปลิง เกาะตาชัย และเขาบ่อไทรที่มียอดเขาสูงที่สุดคือ 450 เมตรจากระดับน้ำทะเล
พื้นที่เกาะระ-เกาะพระทอง เกาะคอเขา จ.พังงา
อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง
มีสถิติการวางไข่เต่าทะเลประมาณ 5-10 รังต่อปี เป็นเต่าชนิด เต่ามะเฟือง และเต่าตนุ อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง มีสภาพพื้นที่แยกจากกันเป็นสองส่วนโดยมีถนนเพชรเกษมเป็นเส้นแบ่ง คือ บริเวณหาดท้ายเหมืองซึ่งอยู่ริมฝั่งทะเลอันดามันที่มีความยาวของชายหาดประมาณ 13.6 กิโลเมตร และ เทือกเขาลำปี ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดงดิบ รวมเนื้อทั้งหมด ประมาณ 72 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งมะพร้าว ตำบลท้ายเหมือง ตำบลนาเตย ตำบลบางทอง ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 8 องศา 23 ลิบดา-8 องศา 33 ลิบดา เหนือ และอยู่ระหว่างเส้นแวงที่ 98 องศา 12 ลิบดา-98 องศา 20 ลิบดา ตะวันออก โดยมีที่ทำการอุทยานแห่งชาติตั้งอยู่บริเวณหาดท้ายเหมือง ซึ่งมีอาณาเขตทิศเหนือจดเขตที่ดินทหารเรือ ทิศใต้จดคลองหินลาด ทิศตะวันออกจดที่ดินสาธารณประโยชน์อำเภอท้ายเหมือง และทิศตะวันตกจดทะเลอันดามัน ส่วนบริเวณเทือกเขาลำปีมีอาณาเขตทิศเหนือจดบ้านเขากล้วยและบ้านอินทนิน ตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมือง ทิศใต้จดบ้านนาตาคำ และบ้านกลาง ตำบลบางทอง อำเภอท้ายเหมือง ทิศตะวันออกจดบ้านห้วยทราย ตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง และทิศตะวันตกจดบ้านบ่อหิน บ้านลำปี ตำบลท้ายเหมือง และบ้านขนิม ตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมือง
บริเวณหาดท้ายเหมืองซึ่งอยู่ริมทะเลอันดามัน มีชายหาดยาวประมาณ 13.6 กิโลเมตร มีส่วนที่กว้างที่สุดประมาณ 1.6 กิโลเมตร ส่วนที่แคบที่สุดประมาณ 350 เมตร ปลายสุดของหาดเป็นแหลม เรียกว่า แหลมอ่าวขาม (เขาหน้ายักษ์) ทางด้านตะวันออกของพื้นที่มีคลองน้ำกร่อยขนาดใหญ่คือ คลองทุ่งมะพร้าว และคลองหินลาด ซึ่งน้ำส่วนใหญ่ไหลมาจากเทือกเขาลำปี และบริเวณเทือกเขาลำปีเป็นภูเขาสลับซับซ้อนเรียงตัวยาวไปตามแนวเหนือ-ใต้ ประกอบด้วย เขาขนิม เขาลำปี เขาโตนย่านไทร และเขาลำหลัง
พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง
หาดไม้ขาว-ไนยาง
มีสถิติการวางไข่เต่าทะเลประมาณ 10 รังต่อปี เป็นเต่าชนิดเต่ามะเฟือง เต่าหญ้า และเต่าตนุ มีลักษณะภูมิประเทศที่สำคัญ คือ ป่าเขารวกเขาเมือง เขาใสครู ซึ่งมีลักษณะธรณีสัณฐานเป็นภูเขาหินแกรนิต และเชิงเขาซึ่งถูกกระบวนการผุพังและกัดกร่อน โดยมียอดเขาใสครูความสูง 335 เมตร และยอดเขาเมืองหรือเขาม่วงสูง 295 เมตร ธรณีสัณฐานที่ชายฝั่ง ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนชายฝั่งทะเลรูปแบบต่างๆ โดยสามารถจำแนกเป็น หาดทราย ได้แก่ หาดท่าฉัตรไชย หาดทรายแก้ว หาดไม้ขาว ซึ่งยาวต่อเนื่องจากทิศเหนือลงมาถึงหาดในยางทางทิศใต้ ซึ่งมีลักษณะเป็นหัวแหลมยื่นไปในทะเลเนื่องจากการงอกของทรายด้านหลังแนวปะการังซึ่งลดความรุนแรงของคลื่นมากกว่าบริเวณอื่น ความยาวรวมกันประมาณ 13 กิโลเมตร ต่อมายังหาดทรายที่อ่าวทุ่งหนุงซึ่งเป็นที่ราบทราย-ทรายแป้ง กว้างประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร และมีระดับเหนือน้ำในเวลาน้ำลง เป็นทางออกของคลองพม่าลงหรือเรียกว่า ปากคลองปากบาง ซึ่งแต่เดิมในบริเวณทางออกจะเป็นพื้นที่ราบน้ำขึ้นถึงของปากคลองและมีสภาพเป็นป่าชายเลนและที่ลุ่มน้ำกร่อยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ปัจจุบันถูกบุกรุกถมดินทำให้หมดสภาพไป
พื้นที่หาดไม้ขาว-ไนยาง
ข้อมูล : สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน
วันที่ : 25 ธันวาคม 2561