ขนาด
นกในเขตชายฝั่งทะเล
  • 3 สิงหาคม 2561
  • 1,576

ถิ่นอาศัยในระบบนิเวศชายฝั่งทะเล

          เป็นพื้นที่เชื่อมต่อของระบบนิเวศทะเลกับระบบนิเวศบกที่มีคุณค่าและ ความสำคัญต่อชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลที่เกิดขึ้นในรอบปี เป็นตัวดึงดูดให้นกประจำถิ่น และนกอพยพย้ายถิ่นในช่วงฤดูหนาวเข้ามา ใช้ระบบนิเวศนี้เป็นแหล่งอาศัย ขยายพันธุ์ และหากินไม่น้อยกว่า 280 ชนิด กระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับรูปร่าง ขนาด และพฤติกรรมการหากินของนกแต่ละประเภท ดังนี้
 
ป่าชายเลน
          เป็นผืนป่าที่เชื่อมต่อระหว่างระบบนิเวศทะเลและแผ่นดิน ซึ่งพบมาก บริเวณปากแม่น้ำ ตามแนวชายฝั่งที่เป็นหาดโคลนหรือหาดเลนน้ำท่วมถึง พันธุ์ไม้ในระบบนิเวศนี้จะมีระบบรากหายใจที่โผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดินหลากหลาย
รูปแบบ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำขึ้น-น้ำลง การหมุนเวียนของธาตุอาหารและอินทรียสารในป่าชายเลน นับเป็นจุดเริ่มต้น ของวงจรชีวิตสัตว์ทะเลที่สมบูรณ์มากที่สุดในระบบนิเวศชายฝั่ง สามารถเป็น
แหล่งอาศัย หากิน และสร้างรังวางไข่ของสัตว์บกและสัตว์ทะเลได้หลากหลาย ชนิดรวมทั้ง “นก” เริ่มตั้งแต่เรือนยอดจนถึงใต้พื้นดิน นกที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนประกอบด้วย นกประจำถิ่นและนกอพยพ
ที่พบเห็นได้ในป่า แต่นกบางชนิดพบได้เฉพาะในป่าชายเลนเท่านั้น เช่น นกกระจ้อยป่าโกงกาง (Golden-billed Gerygone) นกโกงกางหัวโต (Mangrove Whistler) นกกินปลีคอสีทองแดง (Copper-throated Sunbird) นกแต้วแล้ว ป่าชายเลน (Mangrove Pitta) นกกะเต็นใหญ่ปีกสีน้ำตาล (Brown-winged Kingfisher)
 

นาเกลือ
          เป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของนกน้ำประจำถิ่น และนกอพยพในช่วงฤดูหนาว มีลักษณะเป็นพื้นที่เปิดโล่งและมีขนาดใหญ่ จึงเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจำนวนมากในพื้นที่ทำนาเกลือ โดยเฉพาะพื้นที่เก็บน้ำ
ที่เรียกว่า “นาวัง และนาตาก” เปรียบเสมือนแหล่งหากินที่สองของนกในช่วงเวลาน้ำขึ้นจนท่วมหาดเลนชายฝั่ง นกที่เข้ามาอาศัยและหากินในพื้นที่นาเกลือประกอบด้วยนกที่มีขนาดเล็ก จนถึงขนาดใหญ่ เช่น นกกระสานวล (Grey Heron) นกยางโทนใหญ่ (Great Egret) นกกาน้ำเล็ก (Little Cormorant) นกเหล่านี้จะหากินอยู่ตาม บ่อเก็บน้ำที่เรียกว่า “นาวัง” ซึ่งมีระดับน้ำลึกกว่า 30 ซม. ส่วนนกที่ีีขาสั้นหรือ มีขนาดเล็กจะหากินตามแหล่งน้ำตื้นไม่เกิน 5 ซม. เช่น กลุ่มนกสติ๊นท์ (Stint) กลุ่มนกหัวโต (Plover) รวมทั้งกลุ่มนกนางนวลขนาดใหญ่ (Gull) และกลุ่มนก นางนวลแลบ (Tern) ก็เข้ามาใช้พื้นที่นาเกลือเป็นแหล่งพักผ่อนด้วยเช่นกัน
 
          นอกจากนี้ยังพบนกอีกหลายชนิดที่อยู่ในบัญชีรายชื่อถูกคุกคามระดับโลก เช่น นกชายเลนปากช้อน (Spoon-billed Sandpiper) นกทะเลขาเขียว ลายจุด (Nordmann’s Greenshank) นกน็อทใหญ่ (Great Knot) นกอีก๋อยใหญ่ (Eurasian Curlew) และนกกาบบัว (Painted Stork) โดยเฉพาะนาเกลือที่อยู่ใกล้กับชายฝั่งทะเลพบว่า มีความหลากหลายทางด้านชนิดพันธุ์ และจำนวนประชากรหนาแน่นกว่าพื้นที่ทำนาเกลือ ที่อยู่ห่างไกลจากชายฝั่งทะเล
 

หาดเลนน้ำท่วมถึง
          เป็นพื้นที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของนกหลายแสนตัว โดยเฉพาะนกอพยพ ที่บินย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งของประเทศไทยในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากหาดเลนชายฝั่งเป็นแหล่งรองรับธาตุอาหารและอินทรียวัตถุของพืช และสัตว์ที่ไหลปะปนมากับแม่น้ำสายต่าง ๆ จากพื้นที่ราบลุ่มในแผ่นดิน ก่อเกิดเป็นระบบนิเวศหาดเลนที่สมบูรณ์ และหนาแน่นไปด้วยสัตว์ทะเล หน้าดินและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก นกที่พบหากินอยู่บนหาดเลนประกอบด้วยนกประจำถิ่นและนกอพยพ ย้ายถิ่นในช่วงฤดูหนาว เช่น กลุ่มนกน้ำ (Water birds) กลุ่มนกชายเลน (Shorebirds)และกลุ่มนกทะเล (Seabirds) ในกลุ่มนกเหล่านี้มีหลายชนิดอยู่ในสถานภาพถูกคุกคามในระดับโลก เช่น นกชายเลนปากช้อน (Spoon-billed Sandpiper) นกทะเลขาเขียวลายจุด (Nordmann’s Greenshank) นกอีก๋อยใหญ่ (Eurasian Curlew) และนกตะกรุม (Lesser Adjutant) ซึ่งเป็นนกประจำถิ่นของไทย  ปัจจุบันพบว่า นกปากห่าง (Asian Openbill) ได้ขยายพื้นที่หากินลงไปบนหาดเลนของจังหวัดสมุทรปราการด้วย
 

พื้นที่เลี้ยงสัตว์น้ำ
          เป็นแหล่งอาศัยและหากินของนกที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อประกอบอาชีพ มีด้วยกัน 2 ประเภท คือ พื้นที่เลี้ยงสัตว์น้ำในแผ่นดิน จะมีระดับความลึกของน้ำ มากกว่า 1 เมตร โดยใช้วิธีปิด-เปิดประตูน้ำตามช่วงเวลาน้ำขึ้น-น้ำลง แล้วปล่อยให้สัตว์น้ำเข้ามาอาศัยอยู่ในบ่อจนมีขนาดตามที่ต้องการจึงจับผลผลิตไปขาย ในช่วงเวลาปล่อยน้ำออกจากบ่อเพื่อจับผลผลิต จะมีนกน้ำและนกชายเลน หลากหลายชนิดเข้ามาหากินจำนวนมาก เช่น กลุ่มนกยาง (Egret) กลุ่มนกกระสา (Stork) กลุ่มนกชายเลน (Shorebirds) ที่ีขายาวและขาสั้น เช่น กลุ่มนกปากแอ่น (Godwit) กลุ่มนกหัวโต (Plover) กลุ่มนกสติ๊นท์ (Stint) เป็นต้น
 
          ส่วนพื้นที่เลี้ยงสัตว์น้ำในทะเล เป็นพื้นที่เลี้ยงหอยชนิดต่าง ๆ เช่น หอยแมลงภู่ หอยแครง และหอยนางรม พื้นที่เหล่านี้จะใช้ไม้ไผ่หรือเสาไฟฟ้า ปักลงไปบนพื้นดิน โดยเหลือปลายเสาสูงกว่าระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุด จึงเป็นการ
เกื้อกูลให้กับนกน้ำและนกทะเลหลายชนิด ใช้เป็นแหล่งพักอาศัยและหลับนอน เช่น กลุ่มนกนางนวลขนาดใหญ่ (Gull) กลุ่มนกนางนวลแกลบ (Tern) กลุ่มนกกาน้ำ (Cormorant) กลุ่มนกยาง (Egret) เป็นต้น
 

หาดทรายชายฝั่ง
          เป็นแหล่งอาศัยและหากินที่สำคัญของนกประจำถิ่นและนกอพยพย้ายถิ่น ในช่วงฤดูหนาวหลากหลายชนิด โดยเฉพาะกลุ่มนกชายเลนบางชนิดที่มีความผูกพัน กับแหล่งอาหารตามแนวหาดทรายชายฝั่งในระดับน้ำขึ้น-น้ำลง เช่น นกกระแตผี ชายหาด (Beach Thick-knee) นกคอสั้นตีนไว (Sanderling) และนกหัวโตมลายู (Malaysian Plover) ซึ่งเป็นนกชายเลนชนิดเดียวของประเทศไทย ที่สร้างรังวางไข่บนหาดทรายชายฝั่ง
 
          นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนกนางนวลแกลบ (Tern) ที่สามารถพบเห็นได้ง่าย ไปจนถึงนกนางนวลขนาดใหญ่ (Gull) บางชนิดที่พบเห็นได้ยากในประเทศไทย เช่น นกนางนวลหัวดำใหญ่ (Pallas’s Gull) และนกนางนวลพันธุ์มองโกเลีย (Mongolian Gull) เป็นต้น 
 
.

ทะเลและเกาะนอกชายฝั่ง
          เกาะกลางทะเลที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าและมีหาดทรายชายฝั่ง นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเดินทางของนกอพยพ ทั้งการใช้เป็นจุดพักผ่อน หลบภัยจากสัตว์ผู้ล่า หลบกระแสลมมรสุม รวมทั้งใช้เป็นแหล่งสะสมพลังงาน
ที่สูญเสียไประหว่างการเดินทางเป็นเวลาสั้น ๆ 2-3 วัน หรือประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงเริ่มเดินทางไปยังจุดหมายที่ต้องการ สามารถพบได้ทั้งกลุ่มนกน้ำ (Water birds) กลุ่มนกป่า (Forest birds) เช่น นกแต้วแล้วนางฟ้า (Fairy Pitta) นกแซวสวรรค์หางดำ (Japanese Paradise-Flycatcher) กลุ่มนกชายเลน (Shorebirds) เช่น นกอีก๋อยใหญ่ (Eurasian Curlew) นกน็อทใหญ่ (Great Knot) นกปากแอ่นหางลาย (Bar-tailed Godwit) กลุ่มนกทะเล (Seabirds) เช่น นกโจรสลัด (Frigatebird) เป็นต้น
 
          สำหรับเกาะกลางทะเลที่มีลักษณะเป็นภูเขาสูงและมีชะง่อนผา เกาะที่เป็นเนินหิน หรือเกาะที่เป็นกองหินสูงกว่าระดับน้ำขึ้นสูงสุด ยังสามารถ เป็นแหล่งอาศัยและสร้างรังวางไข่ของนกนางนวลแกลบ (Tern) หลายชนิด เช่น นกนางนวลแกลบสีกุหลาบ (Roseate Tern) นกนางนวลแกลบคิ้วขาว (Bridled Tern) และนกนางนวลแกลบท้ายทอยดำ (Black-naped Tern)
 
          นอกจากเป็นจุดพักและหลบภัยของนกอพยพทางทะเลในระยะสั้นแล้ว เกาะกลางทะเลยังเป็นแหล่งอาศัยและสร้างรังวางไข่เฉพาะของนกป่าบางชนิด ที่พบเห็นได้ยาก เช่น นกชาปีไหน (Nicobar Pigeon) 
 
 
 
องค์ความรู้ที่น่าสนใจ
  • PMBC Special Publication
    PMBC Special Publication
  • พะยูน : มาเรียม
    พะยูน : มาเรียม
  • ทุ่นในทะเล
    ทุ่นในทะเล
  • ปูเสฉวนบก
    ปูเสฉวนบก
  • ที่ดินชายฝั่ง
    ที่ดินชายฝั่ง
  • ปะการังเทียม
    ปะการังเทียม
  • พ.ร.บ. ทช.
    พ.ร.บ. ทช.
  • น้ำทะเลเปลี่ยนสี
    ปรากฎการณ์น้ำเปลี่ยนสีเกิดจากการเพิ่มปริมาณสารอาหารบริเวณชายฝั่ง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แพลงก์ตอนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ปริมาณสารอาหารที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่นั้นมักเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์
  • ปะการังฟอกขาว
    ปะการังฟอกขาว เป็นสภาวะที่ปะการังสูญเสียสาหร่ายเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ภายในเนื้อเยื่อ ทำให้ปะการังอ่อนแอเพราะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอแลปะการังอาจตายไปในที่สุดถ้าหากไม่สามารถทนต่อสภาวะนี้ได้