ขนาด
นกในเขตชายฝั่งทะเล
  • 3 สิงหาคม 2561
  • 1,154

การจำแนกชนิดนกชายเลน

          นกชายเลนเป็นกลุ่มนกที่มีการเปลี่ยนแปลงชุดขนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่แรกเกิดจนโตเต็มวัยและพร้อมขยายพันธุ์ การจำแนกชนิดให้มีความถูกต้องและแม่นยำ ต้องใช้ประสบการณ์ควบคู่ไปกับการฝึกฝนในภาคสนามและการศึกษาคู่มือจำแนกชนิดอย่างต่อเนื่อง โดยพยายามสังเกตและจดจำรายละเอียด ลักษณะเด่นของนกแต่ละชนิด รวมไปถึงการจดบันทึกพฤติกรรมและรายละเอียดต่าง ๆ ที่พบในภาคสนามอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความชำนาญ 

          นกที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ มีปัจจัยหลายอย่างที่อาจทำให้เกิดการผิดพลาด ระหว่างการจำแนกได้ตลอดเวลา เช่น สภาพอากาศ ระยะห่างในการจำแนกชนิดอยู่ใกล้หรือไกลจากตัวนก สีและลวดลายของชุดขนที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล ชุดขนตามช่วงอายุของนกและการมีพฤติกรรมคล้าย ๆ กันของนก หากไม่แน่ใจในรายละเอียดที่สังเกตได้ ควรใช้เวลาสังเกตรายละเอียดต่อไปจนกว่าจะแน่ใจ การจำแนกชนิดนกชายเลนควรคำนึงถึงลักษณะที่สำคัญดังนี้

รูปร่าง ขนาด
          มีความสำคัญในการจำแนกชนิดนกที่อยู่ในระยะไกล ซึ่งไม่สามารถมองเห็น รายละเอียดของสีและลวดลายของชุดขนได้อย่างชัดเจน จึงต้องใช้วิธีเปรียบเทียบ หรือประมาณขนาดจากนกที่เคยรู้จักและอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ร่วมกับการใช้ส่วนอื่น ๆ ของนกเข้ามาช่วยตัดสินใจ เช่น นกอีก๋อยใหญ่ (Eurasian Curlew) มีปากโค้งและยาวกว่า 3 เท่าของหัว นกปากแอ่นหางลาย (Bar-tailed Godwit) มีปากเรียวยาวกว่า 3 เท่าของหัว และแอ่นขึ้นเล็กน้อย นกหัวโตทรายเล็ก (Lesser Sandpiper) มีคอสั้นติดกับลำตัว การจำแนกชนิดนกที่มีความคล้ายกัน เช่น นกทะเลขาเขียว (Common Greenshank) กับนกทะเลขาเขียวลายจุด (Nordmann’s Greenshank) ซึ่งมีปากและลำตัวใกล้เคียงกัน แต่นกทะเลขาเขียว (Common Greenshank) จะมีขาท่อนบนยาวกว่า และมีลำตัวผอมกว่านกทะเลขาเขียวลายจุด (Nordmann’s Greenshank)
 
สีและลวดลาย
          นกมีสีสันและลวดลายของชุดขนที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงอายุ และฤดูกาล บางชนิดเมื่อโตเต็มวัยจนเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์จะผลัดขนเก่าทิ้งและ สร้างขนขึ้นมาใหม่ เพื่อประโยชน์ในการจับคู่ผสมพันธุ์ นกวัยอ่อนจะมีสีสันและ
ชุดขนแบบหนึ่ง เมื่อเข้าสู่นกวัยรุ่นหรือโตเต็มวัยก็จะมีชุดขนอีกแบบหนึ่ง การจำแนกชนิดนกโดยสังเกตจากสีและลวดลายของชุดขน จึงต้องศึกษารายละเอียดและความแตกต่างของนกจากส่วนสำคัญดังนี้ ขนปกคลุมส่วนหัว สังเกตสีและลวดลายจากบนกระหม่อม หน้าผาก คิ้วสั้นหรือยาว แถบหรือเส้นพาดผ่านดวงตา วงแหวนรอบดวงตา สีบริเวณโคนปาก หรือปลายปาก รวมทั้งสีของปากล่างและปากบน ขนปกคลุมลำตัวด้านบน สังเกตสีและลวดลายจากจุด ลายขีด แกนขนหรือขอบขน ความเข้มของโทนสีบริเวณปีก สีและลักษณะของหาง สีและลวดลายของปีกในขณะบิน ขนปกคลุมลำตัวด้านล่าง สังเกตสีและลวดลายจากคอ อก ท้อง หรือลายขีดบริเวณสีข้าง และสีที่แข้งหรือขา
 
พฤติกรรม
          นกมีพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน เช่น ท่ายืน ท่าวิ่ง และท่าบิน พฤติกรรมเหล่านี้สามารถนำไปประกอบการจำแนกชนิด ได้ในหลายสถานการณ์ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ไม่สามารถสังเกตสี และลวดลาย ของนกได้ในช่วงเวลานั้น การจดจำลักษณะและท่าทางของนกได้จะช่วยให้การ จำแนกชนิดเป็นไปอย่างถูกต้อง เช่น นกเด้าดิน (Common Sandpiper) ต้องโยกก้นขึ้น-ลงอยู่ตลอดเวลาในขณะเดิน  การวิ่งของนกหัวโตมลายู (Malaysian Plover) จะมีลำตัวขนานไปกับพื้น กลุ่มนกยาง (Egret) ในขณะบินจะหดคอเข้ามาหาลำตัวและเหยียดขาตรงออก ไปทางด้านหลัง เป็นต้น
นกยางโทนใหญ่ / Great Egret
การบินของกลุ่มนกยางจะหดคอเข้าหาลำตัวและเหยีดขาตรงออกไปด้านหลัง
 

ปาก 
          ปากของนกได้ผ่านการวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการหากิน และลดการแข่งขันจากนกหลากหลายชนิดที่หากินอยู่ในพื้นที่เดียวกัน การสังเกตและจดจำรูปทรงของปากได้อย่างแม่นยำ จะช่วยให้การจำแนกชนิดทำได้ถูกต้องโดยง่าย เช่น กลุ่มนกที่มีปากสั้นกว่าหัว ได้แก่ กลุ่มนกหัวโต (Plover) กลุ่มนกที่มีปากยาวกว่าหัว ได้แก่ กลุ่มนกปากแอ่น (Godwit) กลุ่มนกทะเลขาเขียวและขาแดง (GreenShank and RedShank) กลุ่มนกที่มีปากโค้ง ได้แก่ กลุ่มนกอีก๋อย (Curlew) กลุ่มนกที่มีปากตรง ได้แก่ นกพลิกหิน (Ruddy Turnstone) นกตีนเหลือง (Grey-tailed Tattler) เป็นต้น
 
เสียงร้อง
          นกใช้เสียงร้องเพื่อติดต่อสื่อสาร และแสดงอารมณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา ที่แตกต่างกัน บางชนิดสามารถเปล่งเสียงร้องออกมาเป็นท่วงทำนองสูงและต่ำ บางชนิดเปล่งเสียงร้องออกมาได้เพียงเสียงเดียว แต่มีจังหวะช้าและเร็ว
แตกต่างกัน หากสามารถจดจำเสียงร้องของนกแต่ละชนิดได้อย่างแม่นยำ ก็สามารถจำแนกชนิดได้แม้ไม่เห็นตัวนก บางสถานการณ์อาจจำเป็นต้อง จำแนกชนิดนกที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันแต่มีเสียงร้องแตกต่างกัน ก็จะทำให้
การจำแนกนกทั้งสองชนิดมีความถูกต้อง การเปล่งเสียงของนกแต่ละครั้ง จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ดังนี้
- การส่งเสียงเพื่อติดต่อสื่อสารกัน (Contact Call) ระหว่างนกตัวหนึ่ง กับนกอีกตัวหนึ่งหรือติดต่อกับฝูงนกชนิดเดียวกัน เพื่อแสดงตำแหน่ง หรือแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่ และเรียกร้องความสนใจจากเพศตรงข้าม 
- การส่งเสียงแสดงอาการตกใจ (Alarm Call) เป็นการเปล่งเสียงร้องที่ดังมาก เป็นพยางค์สั้น ๆ 1-10 พยางค์ เพื่อเตือนภัยให้กับนกตัวอื่น ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ให้ระวังตัวหรือรีบหนีไป การส่งเสียงร้องขณะบิน (Flight Call) เป็นเสียงร้องที่นกบางชนิดเปล่งออกมาเฉพาะในขณะบิน เช่น นกยางกรอก (Heron) และ นกทะเลขาเขียว (Common Greenshank) เป็นต้น
องค์ความรู้ที่น่าสนใจ
  • PMBC Research Bulletin
    PMBC Research Bulletin
  • ปะการังฟอกขาว
    ปะการังฟอกขาว เป็นสภาวะที่ปะการังสูญเสียสาหร่ายเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ภายในเนื้อเยื่อ ทำให้ปะการังอ่อนแอเพราะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอแลปะการังอาจตายไปในที่สุดถ้าหากไม่สามารถทนต่อสภาวะนี้ได้
  • กัดเซาะชายฝั่ง
    ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 3,151 กิโลเมตร ครอบคลุมจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัดโดยชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย มีความยาว 2,040 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด และชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน มีความยาว 1,111 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลรวม 6 จังหวัด
  • ป่าชายหาดและป่าพรุ
    ป่าชายหาดและป่าพรุ
  • ปะการังเทียม
    ปะการังเทียม
  • พะยูน : มาเรียม
    พะยูน : มาเรียม
  • น้ำทะเลเปลี่ยนสี
    ปรากฎการณ์น้ำเปลี่ยนสีเกิดจากการเพิ่มปริมาณสารอาหารบริเวณชายฝั่ง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แพลงก์ตอนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ปริมาณสารอาหารที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่นั้นมักเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์
  • ปะการัง
    เป็นแนวหินปูนใต้ทะเลในระดับน้ำตื้นที่แสงแดดส่องถึง หินปูนดังกล่าวเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของปะการังหลายๆ ชนิด นอกจากนี้ ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
  • พะยูน
    พะยูน