ขนาด
ปะการังฟอกขาว
ความรู้ทั่วไป

          ปะการังฟอกขาว เป็นสภาวะที่ปะการังสูญเสียสาหร่ายเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ภายในเนื้อเยื่อ ทำให้ปะการังอ่อนแอเพราะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอแลปะการังอาจตายไปในที่สุดถ้าหากไม่สามารถทนต่อสภาวะนี้ได้ สาเหตุที่ทำให้ปะการังฟอกขาวเป็นพื้นที่กว้างครอบคลุมพื้นที่น่านน้ำในระดับประเทศหรือครอบคลุมอาณาเขตกว้างในระดับภูมิภาคได้คือ อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติ ซึ่งในน่านน้ำไทย เคยได้รับผลกระทบเช่นนี้เมื่อปี พ.ศ.2534 2538 2541 2546 2548 และ 2550 โดยปี พ.ศ.2534 และ 2538 แนวปะการังทางฝั่งทะเลอันดามันได้รับความเสียหายมาก พบว่าปะการังตายประมาณ 10-20% ส่วนในปี พ.ศ.2541 ก่อให้เกิดความเสียหายมากทางฝั่งอ่าวไทย แต่ปีต่อๆ มาเกิดทางฝั่งอันดามันแต่ไม่พบความเสียหายมากนัก เพราะปะการังสามารถฟื้นตัวกลับคืนสู่สภาพปกติได้เนื่องจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งมาเร็วในตอนต้นฤดูช่วยบรรเทาทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลลดลงได้

          สำหรับในปี พ.ศ.2553 นับเป็นปีที่แนวปะการังเสียหายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ อุณหภูมิน้ำทะเลจากปกติ 29 องศาเซลเซียสได้เริ่มสูงขึ้นเป็น 30 องศาเซลเซียสตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.2553 สามสัปดาห์ต่อมาปะการังได้เริ่มฟอกขาวแผ่พื้นที่เป็นวงกว้างคลุมทะเลทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย จากการสำรวจโดยหลายหน่วยงาน พบว่าในแต่ละพื้นที่มีปะการังฟอกขาวมากน้อยต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าบริเวณนั้นมีปะการังชนิดใดเป็นพวกที่ขึ้นครอบคลุมพื้นที่มาก (dominant group) หากพวกที่ขึ้นคลุมพื้นที่มากเป็นพวกที่ไวต่อการฟอกขาว พื้นที่นั้นก็จะได้รับผลกระทบมาก อย่างเช่น แนวปะการังที่มีปะการังเขากวาง (Acropora spp.) ขึ้นเป็นดงกว้างใหญ่ พื้นที่นั้นก็จะได้รับผลกระทบมาก นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับว่าชายฝั่งที่แนวปะกรังขึ้นอยู่นั้นได้รับอิทธิพลจากคลื่นลมมากน้อยเพียงไรด้วย ด้านที่รับแรงจากคลื่นลมจะเป็นด้านที่อุณหภูมิไม่สูงอยู่ตลอดเวลา (เช่น ด้านตะวันตกของเกาะต่างๆ ทางฝั่งทะเลอันดามัน) ปะการังจึงฟอกขาวน้อยกว่าด้านอื่น เมื่อประมาณโดยภาพรวมทั่วประเทศแล้ว พบว่าปะการังแต่ละแห่งฟอกขาวมากถึง 30-95% ปะการังทุกชนิดฟอกขาวเกือบทั้งหมด ยกเว้นเพียง 3-4 ชนิดเท่านั้นที่ยังคงต้านอยู่ได้ เช่น ปะการังสีน้ำเงิน (Heliopora coerulea) ปะการังลายดอกไม้ (Pavona decussata) และปะการังดาวใหญ่ (Diploastrea heliopora)
*** ลักษณะของการเกิดปะการังฟอกขาว