วาฬบรูด้า
- 4 ธันวาคม 2556
- 532
การแพร่กระจาย
วาฬชนิดนี้อาศัยหากินในน่านน้ำไทยมานานมากกว่าร้อยปีแล้ว หลักฐานหนึ่งคือโครงกระดูกวาฬบรูด้าที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช ที่เก็บรักษาไว้กว่าหนึ่งร้อยปีแล้วคือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452 และยังสามารถพบโครงกระดูกวาฬวาฬบรูด้าและวาฬโอมูร่าจำนวนมากตามวัดหรือสถานศึกษาตลอดชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน เช่น วัดบางละมุง จ.ชลบุรี วัดกระซ้าขาว จ.สมุทรสาคร วัดสำเภาเชย จ.ปัตตานี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.ชุมพร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี โรงเรียนบ้านเปรตใน จ.ตราด พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน จ.ภูเก็ต ศูนย์พัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น
การแพร่กระจายของวาฬบรูด้าระหว่างปี พ.ศ. 2546 เดือนกรกฎาคม 2554 พบว่าข้อมูลที่ได้รับจากแจ้งจากเครือข่ายมีความสอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจ ส่วนใหญ่พบวาฬบรูด้าบริเวณด้านตะวันตกของอ่าวไทยรูปตัวกอ (จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี) บริเวณเขาสามมุข-หาดบางแสน จ.ชลบุรีพบเพียง 3 ครั้งเท่านั้น สังเกตว่าในช่วงที่มีคลื่นลมแรงมักไม่พบวาฬบรูด้าที่หากินใกล้ชายฝั่ง
ตัวอย่างการแพร่กระจายของวาฬบรูด้า 2 ตัว คือ เจ้าบางแสน และ เจ้าสามมุข จากข้อมูลการสำรวจระหว่างปี พ.ศ. 2551-2554 นั้น พบว่าส่วนใหญ่จะพบวาฬทั้งสองตัวนี้บริเวณชายฝั่งด้านตะวันตกของอ่าวไทยรูปตัวกอมากกว่าด้านตะวันออก ลักษณะการแพร่กระจายนี้น่าจะมาจากการแพร่กระจายของอาหาร ได้แก่ ปลาฝูง และเคย ซึ่งขณะนี้ศูนย์วิจัยฯ อ่าวไทยตอนบน กำลังดำเนินการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการแพร่กระจายของอาหารของวาฬบรูด้าและวาฬบรูด้า
อนึ่งปกติจะใช้เรือประมงขนาดเล็กในการสำรวจ มีความเร็วประมาณ 12 กม./ชม. ซึ่งทำให้ไม่สามารถทำการสำรวจครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของอ่าวไทยรูปตัวกอได้ การสำรวจให้ครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าว อาจทำการสำรวจด้วยเรือเร็ว (Speed boat) หรือเรือที่มีขนาดใหญ่ โดยแบ่งสำรวจในแต่ละพื้นที่ย่อยจำนวนหลายวันเพื่อให้สามารถครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด หรือออกสำรวจพร้อมกันหลายลำ เพื่อให้สามารถครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดในเวลาเดียวกัน
จากการสำรวจโดยทั่วไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 นั้น พบวาฬครั้งละ 1-4 ตัว และรวมที่พบทั้งหมดประมาณ 5-10 ตัวเท่านั้น แต่เมื่อเดือนกันยายน 2553 พบว่ามีวาฬบรูด้าเข้ามาหากินบริเวณอ่าวไทยรูปตัวกอมากเป็นพิเศษ จากการสำรวจใน 1 วัน พบสูงสุด 18 ตัว ทำให้เกิดปรากฏการณ์ Brydes whale fever ขึ้นในช่วงเวลานั้น มีผู้คนหลั่งไหลกันไปดูวาฬมากเกินไปในและวัน ช่วงวันหยุดมีนักท่องเที่ยวนับพันคนไปลงเรือไปชมวาฬที่แหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี จำนวนเรือที่ออกไปตลอดทั้งวันประมาณ 20-30 ลำๆ ละ 2-4 เที่ยว ซึ่งนับว่ามากเกินไป จนเป็นการรบกวนคามชีวิตเป็นอยู่ของวาฬ หรืออาจทำให้วาฬได้รับบาดเจ็บจากเรือและใบพัดเรือได้
ขณะนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รณรงค์ให้ความรู้เรื่องการชมโลมาและวาฬอย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์สัตว์ทะเลและเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความยั่งยืนในท่องเที่ยวชมโลมาและวาฬต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ จากภูมิปัญญาชาวบ้านกล่าวว่า การพบวาฬมักจะพบในช่วงเวลาที่น้ำกำลังขึ้น เพราะฝูงปลาเล็กจะมีการรวมฝูงและลอยอยู่ใกล้ผิวน้ำ ทำให้ง่ายต่อการหาอาหารของวาฬ