วาฬบรูด้า
การจำแนกชนิด
วาฬบรูด้า (Brydes whale)
อยู่ในวงศ์ Balaenopteridae เรียกวาฬในวงศ์นี้อีกอย่างว่า Rorquals ซึ่งมีอยู่ประมาณ 6-8 ชนิดหรืออาจจะสูงถึง 11 ชนิดในอนาคต
Rorquals รวมวาฬที่อยู่ในสกุล Balaenoptera ทั้งหมด ยกเว้นวาฬหลังค่อม (Humpback whale, Megatera novaeangliae) ได้แก่ Blue whale, Fin whale, Sei whale, Brydes whale, Omuras whale, Northern Minke whale, Dwarf Minke whale, Antarctic Minke whale เมื่อเปรียบเทียบขนาดของวาฬบรูด้ากับวาฬไม่มีฟันชนิดอื่นๆ แล้ว วาฬบรูด้าจัดเป็นวาฬไม่มีฟันขนาดกลาง และเป็นชนิดที่หากินใกล้ฝั่ง (Coastal species) กลุ่มประชากรบางกลุ่มอยู่ประจำถิ่น (Resident) วาฬชนิดนี้มีซี่กรองอาหารที่เรียกว่าบาลีนเพลทส์ (Baleen plates)
การจำแนกชนิด ยังมีความสับสนในเรื่องของการจำแนกชนิดวาฬบรูด้า โดยรวมวาฬที่มีลักษณะภายนอกคล้ายกันมากไว้ด้วยกัน จำแนกเป็นชนิดเดียวกันและเรียกชื่อสามัญว่า Brydes whale ซึ่งรวมวาฬอย่างน้อย 3 ชนิดไว้ด้วยกัน ได้แก่ Balaenoptera brydei, Balaenoptera edeni และ Balaenoptera omurai ลักษณะภายนอกที่มีความคล้ายคลึงกันมากนี้จึงทำให้มีความยากลำบากในการแยกชนิดวาฬทั้งสามชนิดในธรรมชาติขณะสำรวจ ตำราบางเล่มเรียกวาฬกลุ่มนี้รวมว่า Brydes whale complex อย่างไรก็ตามนักวิจัยชาวญี่ปุ่นได้ศึกษาสัณฐานวิทยา (Morphology) อย่างละเอียด ศึกษาโครงกระดูก รวมทั้งด้านพันธุกรรม (DNA) และสามารถแยกชนิดได้เป็นวาฬโอมูร่า (Omuras whale, B. omurai) เป็นชนิดใหม่ในปี พ.ศ. 2536
ในที่นี้เบื้องต้นเรียกวาฬชนิดใหม่นี้ว่าวาฬโอมูร่า (Omuras whale) ส่วน B. brydei และ B. edeni ยังคงรวมเรียกว่าวาฬบรูด้า (Brydes whale)
ในอนาคตน่าจะมีการแยกชื่อสามัญ (Common name) ของ B. brydei และ B. edeni โดย B. brydei อาจจะยังคงเดิมเป็น Brydes whale และ B. edeni อาจเป็น Eden whale หรือ Sittang whale ตัวอย่างซากวาฬB. edeni พบครั้งแรกที่แม่น้ำ Sittang ในประเทศพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2521 (ค.ศ. 1978) การตั้งชื่อสามัญของโลมาและวาฬที่มีลักษณะใกล้เคียงกันมาก ๆ และมีแหล่งแพร่กระจายกว้างทั่วโลก จำเป็นต้องมีการประชุมหารือตกลงกันของคณะกรรมการ International Whaling Commission (IWC) เพื่อยอมรับการตั้งชื่อสามัญดังกล่าว
ในประเทศไทยพบวาฬในกลุ่ม Brydes whale complex ทั้งหมด 2 ชนิด คือ Brydes whale (B. edeni) และ Omuras whale (B. omurai) และพบวาฬทั้งสองชนิดนี้ได้ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย โดยข้อแตกต่างของวาฬทั้งสามชนิดโดยสังเขปมีดังนี้
ตารางแสดงลักษณะแตกต่างระหว่าง B. brydei, B. edeni และ B. omurai
ลักษณะ | B. brydei | B. edeni | B. omurai |
ขนาด (ม.)/ น้ำหนัก (ตัน) | 15-15.6/ 40* | 14-15/12-20* | 9-11.5/ 12-20* |
ลูกแรกเกิด (ม./ กก.) | 4/900* | 3.4-4/500-900* | 3.4-4/ 900* |
สันที่หัว (Ridges on the rostrum) | 3 | 3 | 1 |
สีขากรรไกรล่าง (Lower jaws) | เหมือนกันทั้งสองข้าง | เหมือนกันทั้งสองข้าง | ข้างขวาสีจางกว่า |
ร่องใต้คาง (Throat pleats) | 40-70 ยาวถึงสะดือ | 40-70 ยาวถึงสะดือ | 80-90 ยาวถึงสะดือ |
ซี่กรอง (Baleen plates) | 250-370 คู่ | 250-370 คู่ | 180-210 คู่ |
สีซี่กรอง | เทา | เทา | ขาวเหลืองถึงดำ หรือสองสี |
สีลำตัว | เทาดำ | เทาดำ | เทาดำ มีแถบรูปตัววีสีจางที่หลัง |
ครีบหลัง | มีลักษณะต่าง ๆ ตั้งโค้ง ปลายแหลม | มีลักษณะต่างๆ ตั้งโค้ง ปลายแหลม | โค้งคล้ายตะงอ หรือหรือลักษณะอื่น |
แหล่งแพร่กระจาย | แอตแลนติก แปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดียระหว่าง 40oN-40oS(แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย) | แอตแลนติก แปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดียระหว่าง 40oN-40oS(แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น ไทย ออสเตรเลีย) | ตะวันตกของแปซิฟิก ตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย(ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาะโซโลมอน) |
อาหาร | ฝูงปลาเล็ก (บางครั้งเป็นปลาหมึก krill สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง) | ฝูงปลาเล็ก (บางครั้งเป็นปลาหมึก krill สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง) | ฝูงปลาเล็ก |
พฤติกรรมการกินอาหาร | Lunge feeder(Bubble-net feeding) | Lunge feeder(Bubble-net feeding และ Lobtailing) | Lunge feeder |
พฤติกรรมหายใจ | แพนหางไม่โผล่หลังหายใจ | แพนหางไม่โผล่หลังหายใจ | แพนหางไม่โผล่หลังหายใจ |
กระดูกซี่โครงคู่แรก | สองหัว (Bifurcate, double head rib) | สองหัว (Bifurcate, double head rib) | หัวเดียว (Single head rib) |
หัวกระโหลก | แตกต่างกัน มีรายละเอียดมากจึงไม่กล่าวในที่นี้ | ||
IUCN status | Data deficient | Data deficient | Not listed |
หมายเหตุ
ตัวเลขแสดงขนาดความยาวและน้ำหนัก อาจมีขนาดแตกต่างกันขึ้นกับเอกสารอ้างอิงที่ผู้เขียนแต่ละคนจะนำมาใช้ แต่โดยทั่วไปการเรียงลำดับจากขนาดใหญ่ไปขนาดเล็ก คือ B. brydei, B. edeni และ B. omurai ตามลำดับ และเนื่องจากเดิมมีการรวมวาฬทั้งสามชนิดเป็นชนิดเดียวกัน ข้อมูลหลายอย่างจึงมีการอ้างอิงโดยใช้ตัวเลขเดียวกัน การศึกษาวิจัยในอนาคตน่าจะได้ความชัดเจนในรายละเอียดดังกล่าว