แมงกะพรุนพิษ
- 19 กรกฎาคม 2566
- 254
สถานภาพแมงกะพรุนพิษ (2564)
แมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ดำรงชีวิตอยู่ในทะเล แต่ก็มีบางชนิดที่อยู่ในน้ำจืด โดยทั่วโลกมีแมงกะพรุนมากกว่า 9,000 สายพันธุ์ และมากกว่า 100 สายพันธุ์มีพิษต่อมนุษย์ มีการแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก ตั้งแต่บริเวณผิวน้ำจนถึงทะเลลึก ส่วนใหญ่ดำรงชีวิตในทะเลบริเวณน้ำตื้น การทำกิจกรรมในทะเล เช่น การดำน้ำ ว่ายน้ำ จึงมีโอกาสพบและสัมผัสถูกแมงกะพรุนพิษได้ โดยพิษของแมงกะพรุนจะกระจายอยู่ทั่วไปในทุกส่วนของแมงกะพรุนโดยเฉพาะส่วนหนวด ดังนั้นการสัมผัสแมงกะพรุนพิษสามารถทำให้บาดเจ็บได้ในหลายระดับขึ้นอยู่กับชนิดแมงกะพรุน ปริมาณพิษที่ได้รับ และความต้านทานของแต่ละบุคคล ทั้งนี้บริเวณที่สัมผัสจะมีอาการได้หลากหลายตั้งแต่รู้สึกคัน มีผื่นเล็กน้อย ปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่สัมผัสหรือได้รับพิษ ไปจนถึงทำให้หัวใจหรือระบบหายใจล้มเหลว โดยเราสามารถพบเห็นแมงกะพรุนได้ทั่วไปบริเวณชายฝั่งซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากกระแสน้ำ และคลื่นลมพัดพาแมงกะพรุนเข้ามาบริเวณชายฝั่ง รวมถึงอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น ปริมาณธาตุอาหารในน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นในบางฤดูกาล ทำให้แพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็กที่เป็นอาหารของแมงกะพรุนมีจำนวนมากขึ้น หรือการลดลงของปลา และเต่าทะเลที่เป็นผู้ล่าของแมงกะพรุน ส่งผลให้จํานวนแมงกะพรุนเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
การสำรวจ และรวบรวมข้อมูลแมงกะพรุนพิษ ในน่านน้ำไทยทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ระหว่างปี พ.ศ. 2553 – 2564 โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบแมงกะพรุนพิษจำนวน 9 ชนิด โดยในพื้นที่อ่าวไทยตอนในพบจำนวนชนิดน้อยกว่า เมื่อเทียบกับพื้นที่ชายฝั่งที่ติดต่อกับทะเลเปิด เช่น อ่าวไทยฝั่งตะวันออก อ่าวไทยตอนกลาง อ่าวไทยตอนล่าง หรือทะเลอันดามัน ทั้งนี้แมงกะพรุนพิษที่พบในประเทศไทยสามารถจำแนกตามลักษณะความเป็นพิษได้ 5 กลุ่ม ได้แก่
1) แมงกะพรุนกล่องวงศ์ Chirodropidae พบจำนวน 3 ชนิด เป็นกลุ่มที่มีพิษรุนแรง ส่งผลต่อระบบประสาท กล้ามเนื้อหัวใจ และการไหลเวียนของเลือดในปอด สามารถทำให้เสียชีวิตได้ พบแพร่กระจายในพื้นที่อ่าวไทยฝั่งตะวันออก อ่าวไทยตอนกลาง และทะเลอันดามัน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดตราด ในช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และเกาะสมุย เกาะพะงัน ในช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
2) แมงกะพรุนกล่องวงศ์ Carukiidae พบจำนวน 2 ชนิด มีพิษทำให้บริเวณที่สัมผัสมีอาการปวดอย่างรุนแรง และอาจทำให้จมน้ำได้ พบแพร่กระจายในเกือบทุกพื้นที่ และพบได้เกือบตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในพื้นที่เกาะสมุย-เกาะพะงัน และทะเลอันดามัน
3) แมงกะพรุนกล่องวงศ์ Chiropsalmidae พบจำนวน 1 ชนิด มีพิษทำให้บริเวณที่สัมผัสมีอาการปวดแสบปวดร้อนและเป็นผื่นแดง พบแพร่กระจายตลอดทั้งปี ในพื้นที่เกาะสมุย-เกาะพะงัน และทะเลอันดามัน
4) แมงกะพรุนหัวขวดวงศ์ Physaliidae พบจำนวน 1 ชนิด มีพิษทำให้บริเวณที่สัมผัสมีอาการปวดแสบปวดร้อน แน่นหน้าอก หายใจลําบาก พบแพร่กระจายฝั่งอ่าวไทยช่วงเดือนมกราคม - เมษายน และฝั่งทะเลอันดามันช่วงเดือนมิถุนายน - พฤศจิกายน
5) แมงกะพรุนไฟวงศ์ Pelagiidae พบจำนวน 2 ชนิด มีพิษทำให้บริเวณที่สัมผัสมีอาการปวดแสบปวดร้อน พบแพร่กระจายตลอดทั้งปี ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน
แมงกะพรุนพิษ 9 ชนิด ที่พบแพร่กระจายในชายฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ระหว่างปี พ.ศ. 2553 – 2564 จำแนกตามลักษณะความเป็นพิษได้ 5 กลุ่ม
สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการสำรวจแมงกะพรุนพิษบริเวณชายฝั่งทะเลประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ถึงปัจจุบัน ด้วยการวางอวนลอยกุ้งสามชั้น ลากอวนลอยผิวน้ำ ลากอวนทับตลิ่ง และ/หรือเดินสำรวจบริเวณชายหาด (ขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่) ปีละ 4 – 10 ครั้ง รวมถึงการรับแจ้งเหตุและรับตัวอย่างแมงกะพรุนจากเครือข่ายชาวประมงและผู้ประกอบการในพื้นที่ พบว่าการแพร่กระจายของแมงกะพรุนพิษสามารถพบได้ทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน โดยพื้นที่ที่มีการพบ
แมงกะพรุนพิษบ่อยของฝั่งทะเลอ่าวไทยส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณเกาะสมุย-เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และฝั่งทะเลอันดามันส่วนใหญ่จะพบบริเวณอ่าวพังงา เมื่อพิจารณาจากสถิติการพบแมงกะพรุนพิษในรอบปีระหว่างปี พ.ศ. 2554 – 2564 เห็นได้ว่าแมงกะพรุนมีการแพร่กระจายเกือบตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม
การแพร่กระจายและความถี่ในการพบแมงกะพรุนพิษ
หมายเหตุ ข้อมูลที่มีอาจไม่สะท้อนความเป็นจริงในธรรมชาติ เนื่องจาก 1) การพบแมงกะพรุนได้จากการสำรวจและรายงานการพบจากชาวประมงและนักท่องเที่ยว 2) ความถี่ในการสำรวจแต่ละปีงบประมาณไม่เท่ากัน โดยเริ่มจากสำรวจ 4 – 6 ครั้งต่อปีในช่วงแรก ปรับเพิ่มเป็น 10 ครั้งต่อปีในงบประมาณ 2558 และลดเหลือ 4 ครั้งต่อปี ในปี พ.ศ. 2563 – 2564 3) ข้อมูลช่วงปลายเดือนกันยายนถึงตุลาคมของแต่ละปีอาจไม่ครบถ้วนเนื่องจากเป็นช่วงรอยต่องบประมาณ จึงไม่มีการสํารวจ ข้อมูลที่ได้มาจากการรับแจ้งจากเครือข่ายเท่านั้น และ 4) พื้นที่สํารวจไม่ครอบคลุมเนื่องจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีนโยบายเน้นการเฝ้าระวังและป้องกันภัยนักท่องเที่ยว สถานีสำรวจส่วนใหญ่จึงอยู่ในพื้นที่หาดท่องเที่ยวสำคัญ
ผลกระทบของแมงกะพรุนพิษต่อชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน
สถิติการบาดเจ็บรุนแรง และเสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่องของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี พ.ศ. 2542 – 2564 พบผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวน 10 ราย บาดเจ็บรุนแรงจำนวน 36 ราย ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตราด จังหวัดระยอง จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ และจังหวัดสตูล
ลำดับเหตุการณ์เกี่ยวกับการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตจากแมงกะพรุนพิษ และการพัฒนาการเฝ้าระวังและการดำเนินงานป้องกันการบาดเจ็บจากแมงกะพรุนพิษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 – 2564
ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2566