แมงกะพรุนพิษ
- 15 สิงหาคม 2560
- 438
แมงกะพรุนกล่องในกลุ่ม Cubozoa
แมงกะพรุนกล่อง (Box jellyfish)
จัดอยู่ในชั้น Cubozoa (คูโบซัว) เป็นแมงกะพรุนพิษที่มีรายงานว่าทำให้เสียชีวิตได้บ่อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับแมงกะพรุนชั้นอื่น ๆ พบในหลายประเทศของเขตร้อน เช่น ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย (เกาะบอร์เนียว) และทางตอนเหนือของออสเตรเลีย เป็นต้น
ความรู้เกี่ยวกับแมงกะพรุนกล่องยังเป็นเรื่องใหม่ในวงการชีววิทยาทางทะเล แมงกะพรุนกล่องมีลำตัวใส รูปร่างเป็นกล่องสี่เหลี่ยม มีกลุ่มของตา (rhopalia) อยู่แต่ละมุมของร่ม จำนวน 4 กลุ่ม มีฐานหนวด (pedalia) บางชนิดอาจมีหรือไม่มีถุงกระเพาะอาหาร (gastric saccule) (Gershwin 2005) แมงกะพรุนกล่องมีอย่างน้อย 36 ชนิด (Daly et al. 2007) แต่ไม่ได้เป็นอันตรายทุกชนิด บางชนิดทำให้เกิดอาการเจ็บหรือคันเพียงเล็กน้อย หรือเป็นตะคริว ทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งและเป็นเหตุให้จมน้ำง่ายขึ้น มีเพียงบางชนิดที่มีอันตรายทำให้เสียชีวิตเนื่องจากหัวใจหรือระบบหายใจล้มเหลว (Fenner 1997; Suntrarachun et al. 2001; Tibballs et al. 2012) แมงกะพรุนกล่องแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
1. ชนิดที่มีหนวดหลายเส้น (multi-tentacle box jellyfish) หรือ แมงกะพรุนกล่องอันดับ Chirodropida (ไคโรโรพิด้า)
แมงกะพรุนในกลุ่มนี้มีหนวดแบบแตกแขนง ซึ่งอาจมีได้มากถึง 60 เส้น หนวดอาจแตกแขนงจากบริเวณฐานหนวดเฉพาะด้านที่ออกนอกลำตัวหรือแตกแขนงจากบริเวณฐานหนวดทั้งสองด้าน แมงกะพรุนในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีถุงกระเพาะอาหาร (gastric saccules) รูปร่างของถุงกระเพาะอาหารและลักษณะการแตกแขนงของหนวดเป็นลักษณะสำคัญในการจำแนกชนิดของแมงกะพรุนในกลุ่มนี้ (Gershwin 2005) แมงกะพรุนกล่องกลุ่มนี้สามารถพบได้ทั่วไปในทะเลเขตร้อนทั่วโลก เช่น มหาสมุทรแอตแลนติก อ่าวเม็กซิโก และเขตอินโดแปซิฟิก ในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ไทย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น บรูไน ปาปัวนิวกีนี มาเลเซีย (รัฐซาราวัก) สหรัฐอเมริกาและทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย (Fenner and Williamson 1996) มักพบบริเวณชายฝั่งทะเลน้ำตื้นระดับเอวหรือระดับเข่า บางครั้งพบในน้ำลึกเกิน 10 เมตร ในบริเวณที่เป็นอ่าวและพื้นทะเลเป็นทราย ไม่มีแนวปะการังหรือแนวหิน โดยเฉพาะบริเวณหาดทรายใกล้ป่าชายเลนและปากแม่น้ำ พบได้ทุกฤดู แต่มักพบบ่อยในช่วงเดือนที่มีอากาศค่อนข้างร้อน
พิษจากแมงกะพรุนกล่องบางชนิดในกลุ่มนี้ ทำให้บริเวณที่ได้รับพิษมีอาการปวดอย่างรุนแรง ซึ่งอาการปวดนี้จะหายภายใน 4-12 ชั่วโมง และปรากฏเป็นรอยไหม้ ในรายที่มีอาการรุนแรงสามารถทำให้ผิวหนังบริเวณที่ได้รับพิษตาย และในกรณีได้รับพิษเป็นจำนวนมากอาจมีอาการสับสนหรือหมดความรู้สึก ก่อนที่จะนำไปสู่ระยะโคม่าและเสียชีวิต ซึ่งในรายที่เสียชีวิตนั้นส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุหัวใจหรือระบบหายใจล้มเหลวจึงควรได้รับการพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธี
ลักษณะสัณฐานวิทยาของแมงกะพรุนกล่องลำดับ Chirodropida
2. ชนิดที่มีหนวดเส้นเดียว (single-tentacle box jellyfish) หรือแมงกะพรุนกล่องอันดับ Carybdeida (คาริบเดียด้า)
ลักษณะเด่นของแมงกะพรุนในกลุ่มนี้ คือ หนวดแต่ละเส้นไม่มีการแตกแขนง ร่มมีขนาดความสูงตั้งแต่ 1-15 เซนติเมตรขึ้นอยู่กับชนิด แมงกะพรุนในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่มีถุงกระเพาะอาหาร พบได้ทั่วไปในหลายประเทศของเขตร้อน เช่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา (มลรัฐฮาวาย) ตาฮิติ อินเดีย รวมถึงประเทศในแถบทะเลแคริบเบียน พบได้ทุกฤดู ทุกพื้นที่ และทุกสภาวะอากาศ ส่วนใหญ่พบตามชายหาด แนวหินโสโครก ตามเกาะหรือบริเวณทะเลเปิด โดยเฉพาะในช่วงที่มีลมอ่อน ๆ พัดเข้าหาฝั่ง ในเดือนที่มีอากาศค่อนข้างร้อน นอกจากนี้มักพบในช่วงเวลาที่มีแตนทะเล (sea lice) เป็นจำนวนมาก นักชีววิทยาทางทะเลจึงใช้แตนทะเลเป็นตัวบ่งชี้การปรากฏของแมงกะพรุนในกลุ่มนี้ แมงกะพรุนหลายชนิดในกลุ่มนี้มีพิษและทำให้เกิดอาการอิรูคันจิ (Irukandji syndrome) ได้แก่ ชนิด Carukia barnesi และ Malo kingi และในสกุล Tamoya, Carybdea และ Morbakka (Fenner and Williamson 1996; Tibballs 2006; Fenner et al. 2010)
บริเวณที่ได้รับพิษจะมีอาการปวดอย่างรุนแรง แต่อาจไม่ปรากฏรอยไหม้ ในช่วงแรกอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย และรุนแรงขึ้นหลังจากนั้นประมาณ 5-40 นาที อาการที่พบ ได้แก่ ปวดหัว ปวดหลัง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก หายใจลำบาก ไอ เป็นตะคริว กล้ามเนื้อหดเกร็ง ความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นเร็วผิดปกติแต่มักไม่ทำให้เสียชีวิต เพียงแต่ทำให้รู้สึกอึดอัด ไม่สบาย ซึ่งอาจเป็นเหตุให้จมน้ำง่ายขึ้น จึงควรได้รับการพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธี
ลักษณะสัณฐานวิทยาของแมงกะพรุนกล่องลำดับ Carybdeida
ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2563