ขนาด
แมงกะพรุนพิษ
  • 15 สิงหาคม 2560
  • 6,309
แมงกะพรุนพิษ สารสนเทศ ทช. ศูนย์ข้อมูลกลาง ทช.

บทนำ

แมงกะพรุน (Jellyfish)

          เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จัดอยู่ในไฟลัมไนดาเรีย (Cnidaria) เช่นเดียวกันกับดอกไม้ทะเล (sea anemones) และปะการัง แมงกะพรุนที่พบได้บ่อยที่สุดจัดอยู่ในกลุ่ม Scyphozoa  และยังมีแมงกะพรุนในกลุ่ม Cubozoa หรือแมงกะพรุนกล่อง (box jellyfish) และแมงกะพรุนในกลุ่ม Hydrozoa 

          แมงกะพรุนมีมากกว่า 9,000 สายพันธุ์ และมากกว่า 100 สายพันธุ์มีพิษต่อมนุษย์ พบแพร่กระจายอยู่ในมหาสมุทรทั่วโลก สามารถพบได้ตั้งแต่บริเวณผิวน้ำจนถึงทะเลลึก ส่วนใหญ่ดำรงชีวิตในทะเลบริเวณน้ำตื้น แต่มีบางชนิดที่อยู่ในน้ำจืด แมงกะพรุนมีรูปร่างคล้ายร่มหรือกระดิ่งคว่ำ ล่องลอยอยู่ในมวลน้ำ จัดเป็นแพลงก์ตอนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด กินอาหารจำพวกสัตว์ต่าง ๆ เช่น กุ้ง ปลา ตัวแมงกะพรุนประกอบด้วยวุ้นเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีน้ำเป็นองค์ประกอบมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ มีระบบประสาท แต่ไม่มีสมอง มีโพรงทำหน้าที่เป็นทางเดินอาหาร มีเข็มพิษ (nematocyst) สำหรับป้องกันตัวและจับเหยื่อกระจายอยู่ทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหนวด (tentacle) 

           พิษของแมงกะพรุนบรรจุอยู่ในแคปซูล ที่เรียกว่า นีมาโตซีส (nematocyst) ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปในทุกส่วนของแมงกะพรุน โดยเฉพาะส่วนหนวด (tentacle) การสัมผัสแมงกะพรุนพิษทำให้บาดเจ็บได้ในหลายระดับขึ้นอยู่กับชนิดของแมงกะพรุนพิษและปริมาณพิษที่ได้รับ ทั้งนี้บริเวณที่สัมผัสมีอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่รู้สึกคัน มีผื่นเล็กน้อย ปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่สัมผัสหรือได้รับพิษ ไปจนถึงทำให้หัวใจหรือระบบหายใจล้มเหลว ดังนั้น การทำกิจกรรมในทะเล เช่น การดำน้ำ ว่ายน้ำ จะมีโอกาสพบ และสัมผัสถูกแมงกะพรุนพิษได้ โดยพิษของแมงกะพรุนจะกระจายอยู่ทั่วไปในทุกส่วนของแมงกะพรุนโดยเฉพาะส่วนหนวด เราสามารถพบเห็นแมงกะพรุนได้ทั่วไปบริเวณชายฝั่งซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากกระแสน้ำ และคลื่นลมพัดพาแมงกะพรุนเข้ามาบริเวณชายฝั่ง รวมถึงอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น ปริมาณธาตุอาหารในน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นในบางฤดูกาล ทำให้แพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็กที่เป็นอาหารของแมงกะพรุนมีจำนวนมากขึ้น หรือการลดลงของปลา และเต่าทะเลที่เป็นผู้ล่าของแมงกะพรุน ส่งผลให้จำนวนแมงกะพรุนเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

          การสำรวจ และรวบรวมข้อมูลแมงกะพรุนพิษ ระหว่างปี พ.ศ. 2553 – 2564 โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบแมงกะพรุนพิษจำนวน 9 ชนิด ในน่านน้ำไทยทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน โดยในพื้นที่อ่าวไทยตอนในพบจำนวนชนิดน้อยกว่า เมื่อเทียบกับพื้นที่ชายฝั่งที่ติดต่อกับทะเลเปิด เช่น อ่าวไทยฝั่งตะวันออก อ่าวไทยตอนกลาง อ่าวไทยตอนล่าง หรือทะเลอันดามัน ทั้งนี้แมงกะพรุนพิษที่พบในประเทศไทยสามารถจำแนกตามลักษณะความเป็นพิษได้ 5 กลุ่ม ได้แก่

          1) แมงกะพรุนกล่องวงศ์ Chirodropidae พบจำนวน 3 ชนิด มีพิษรุนแรงต่อระบบประสาท กล้ามเนื้อหัวใจ และการไหลเวียนของเลือดในปอด สามารถทำให้เสียชีวิตได้ พบแพร่กระจายในพื้นที่อ่าวไทยฝั่งตะวันออก อ่าวไทยตอนกลาง และทะเลอันดามัน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดตราด ในช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และเกาะสมุย เกาะพะงัน ในช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้

          2) แมงกะพรุนกล่องวงศ์ Carukiidae พบจำนวน 2 ชนิด มีพิษทำให้บริเวณที่สัมผัสมีอาการปวดอย่างรุนแรง และอาจทำให้จมน้ำได้ พบแพร่กระจายในเกือบทุกพื้นที่ และพบได้เกือบตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในพื้นที่เกาะ สมุย-เกาะพะงัน และทะเลอันดามัน

          3) แมงกะพรุนกล่องวงศ์ Chiropsalmidae พบจำนวน 1 ชนิด มีพิษทำให้บริเวณที่สัมผัสมีอาการปวดแสบปวดร้อนและเป็นผื่นแดง พบแพร่กระจายตลอดทั้งปี ในพื้นที่เกาะสมุย-เกาะพะงัน และทะเลอันดามัน

          4) แมงกะพรุนหัวขวดวงศ์ Physaliidae พบจำนวน 1 ชนิด มีพิษทำให้บริเวณที่สัมผัสมีอาการปวดแสบปวดร้อน แน่นหน้าอก หายใจลำบาก พบแพร่กระจายฝั่งอ่าวไทยช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน และฝั่งทะเลอันดามันช่วงเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน

          5) แมงกะพรุนไฟวงศ์ Pelagiidae พบจำนวน 2 ชนิด มีพิษทำให้บริเวณที่สัมผัสมีอาการปวดแสบปวดร้อน พบแพร่กระจายตลอดทั้งปี ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

ข้อมูล : สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
วันที่ : 19 เมษายน 2564

องค์ความรู้ที่น่าสนใจ