ขนาด
พ.ร.บ. ทช.
จุดเด่นของพระราชบัญญัติ ทช.

จุดเด่นของพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 สรุปได้ดังนี้
          1. เป็นกฎหมายเชิงนโยบาย (Policy Law) และการบริหารจัดการ เพื่อประสานและเสริมประสิทธิภาพให้แก่การบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมทั้งมีมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งควบคู่ไปด้วย
          2. การกำหนดหลักการ การบูรณาการ การใช้กฎหมาย โดยหน่วยราชการ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกัน เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล พร้อมทั้งสอดคล้องกับสภาพของระบบนิเวศของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันมีลักษณะที่เป็นระบบและเป็นองค์รวมมิได้แยกส่วนกัน
          3. ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และได้รับการช่วยเหลือ สนับสนุนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
          4. พระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีคณะกรรมการนโยบายระดับชาติ และคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากภาคประชาชน หรือชุมชนชายฝั่ง เข้ามามีส่วนร่วมในการบริการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (มาตรา 5, 12, 14, 15)
          5. พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้มีมาตรการ และแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ชัดเจน (มาตรา 9(3), 21) และให้มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่ทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง (มาตรา 17) และเข้าขั้นวิกฤต (มาตรา 22) ซึ่งการกำหนดมาตรการโดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี
          6. พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้มีบทกำหนดโทษที่สูงขึ้นจากกฎหมายที่มีอยู่ เช่น กฎหมายว่าด้วยการประมง เป็นต้น (มาตรา 25 - 27) ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Download Download พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558