พ.ร.บ. ทช.
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 โดยเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้รับมอบหมายหน้าที่หลักๆ ในเรื่องการอนุรักษ์ ฟื้นฟู คุ้มครอง ป้องกัน ตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ในปี 2548 หลังเหตุการณ์สึนามิ ทช. ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ... ตามแผนพัฒนากฎหมายประจำปี พ.ศ. 2549 ไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้ลงมติอนุมัติหลักการ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2550 และผ่านการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เรียบร้อย เรื่องเสร็จที่ 124/2553 ซึ่งในกระบวนการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้ผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน จำนวน 4 ครั้ง การประชุมคณะทำงานหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 ครั้ง การประชุมรับฟังความคิดเห็นจากนักกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 1 ครั้ง การประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็น (ประชาพิจารณ์) จำนวน 1 ครั้ง นอกจากนี้ได้นำเสนอบนเว็บไซต์ www.dmcr.go.th ของกรม ทช. เพื่อให้สาธารณะเสนอความคิดเห็นในวงกว้างอีกด้วย
หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ผ่านการพิจารณาเมื่อปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ของกรม ทช. อยู่ในช่วงเวลารอคอยที่ยาวนาน เหตุเพราะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบ่อยครั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรของกรม ทช. ได้เป็นอย่างดี ก็คือพลังความรักและความสามัคคี รวมทั้งความตะหนักหวงแหนในแหล่งทรัพยากรของพี่น้องเครือข่ายอนุรักษ์ในพื้นที่ชายฝั่งและจากทุกภาคส่วน ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงช่วยกันผลักดัน และกระตุ้นผู้มีอำนาจเป็นระยะๆ จนกระทั่งเวลาที่รอคอยก็มาถึง หลังจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557 โดยมีพลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความสำคัญในเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติเป็นลำดับต้นๆ โดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ร่าง) พระราชบัญญัติฉบับนี้ ก็เหมือนกับติดปีกบิน เพราะเพียงระยะเวลาแค่ 7 เดือน ก็ได้รับการพิจารณาจนจบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 132 ตอนที่ 21 ก วันที่ 26 มีนาคม 2558 โดยนับระยะเวลาที่รอคอยกว่า 10 ปี มาประสบความสำเร็จในรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต้องจารึกเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้เป็นประวัติศาสตร์ เล่าขานให้ลูกหลานฟังสืบไป นับจากเวลานี้การกระทำและกาลเวลาเท่านั้นคือบทพิสูจน์ความสำเร็จอันแท้จริงในการรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไว้ให้ชนรุ่นลูกรุ่นหลานสืบต่อไป
Download พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558