ทุ่นในทะเล
- 9 มกราคม 2558
- 503
การติดตั้งทุ่นในประเทศไทย
ปัจจุบันมีการวางและติดตั้งทุ่น จำนวน 2,758 ทุ่น โดยแบ่งออกเป็น ทุ่นผูกเรือ 1,189 ทุ่น ทุ่นแนวเขตทรัพยากร และทุ่นแสดงแนวเขตพื้นที่อันควรอนุรักษ์ 181 ทุ่น และทุ่นแนวเขตว่ายน้ำ 1,388 ทุ่น โดยรายละเอียดการติดตั้งสามารถสรุปได้ดังนี้
1. อ่าวไทย
1.1 อ่าวไทยฝั่งตะวันออก จังหวัดชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด พบข้อมูลทุ่นที่ถูกจัดวางโดยหน่วยงานราชการในท้องที่ทั้งหมด 1,630 ทุ่น โดยแบ่งออกเป็น ทุ่นผูกเรือ 149 ทุ่น ทุ่นแนวเขตทรัพยากรและทุ่นแสดงแนวเขตพื้นที่อันควรอนุรักษ์ 99 ทุ่น และทุ่นแนวเขตว่ายน้ำ 1,382 ทุ่น และเมื่อแบ่งตามเขตจังหวัดพบว่า จังหวัดชลบุรี พบทุ่นทั้งหมด 1,425 ทุ่น จังหวัดระยองพบทุ่นทั้งหมด 106 ทุ่น จังหวัดจันทบุรี ไม่พบทุ่นในรูปแบบใด และจังหวัดตราดพบทุ่นทั้งหมด 99 ทุ่น
1.2 อ่าวไทยฝั่งตอนใน จังหวัดชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนในทั้ง 6 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี ไม่พบข้อมูลการจัดการวางทุ่นในรูปแบบใด
1.3 อ่าวไทยฝั่งตะวันตก จังหวัดชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ทั้ง 7 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส
พบข้อมูลทุ่นที่ถูกจัดวางโดยหน่วยงานราชการในท้องที่ ทั้งหมด 270 ทุ่น โดยแบ่งออกเป็น ทุ่นผูกเรือ 182 ทุ่น ทุ่นแนวเขตทรัพยากรและทุ่นแสดงแนวเขตพื้นที่อันควรอนุรักษ์ 82 ทุ่นและทุ่นแนวเขตว่ายน้ำ 6 ทุ่น เมื่อแบ่งตามเขตจังหวัดพบว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบทุ่นทั้งหมด 10 ทุ่น จังหวัดชุมพร พบทุ่นทั้งหมด 20 ทุ่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบทุ่นทั้งหมด 200 ทุ่น จังหวัดสงขลา พบทุ่นทั้งหมด 40 ทุ่น ส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส ไม่พบทุ่นทุกรูปแบบ
2. ทะเลอันดามัน จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันทั้ง 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล พบข้อมูลทุ่นที่ถูกจัดวางโดยหน่วยงานราชการในท้องที่ทั้งหมด 858 ทุ่น โดยทั้งหมดเป็นทุ่นผูกเรือ ทุ่นแนวเขตทรัพยากร และทุ่นแนวเขตอนุรักษ์ รวมถึงทุ่นแนวเขตว่ายน้ำในพื้นที่ เมื่อแบ่งตามเขตจังหวัดพบว่า จังหวัดระนองพบทุ่นทั้งหมด 46 ทุ่น จังหวัดพังงาพบทุ่นทั้งหมด 238 ทุ่น จังหวัดภูเก็ตพบทุ่นทั้งหมด 20 ทุ่น จังหวัดกระบี่พบทุ่นทั้งหมด 325 ทุ่น จังหวัดตรังพบทุ่นทั้งหมด 73 ทุ่น และจังหวัดสตูลพบทุ่นทั้งหมด 156 ทุ่น
จำนวนทุ่นที่ติดตั้งแบ่งตามลักษณะและพื้นที่เขตจังหวัด
ด้าน/จังหวัด | ทุ่นผูกเรือ | ทุ่นแนวเขต | ทุ่นแนวเขตว่ายน้ำ | รวม |
---|---|---|---|---|
1. ตราด | 89 | 10 | - | 99 |
2. ระยอง | 37 | 69 | - | 106 |
3. ชลบุรี | 23 | 20 | 1,382 | 1,425 |
4. ประจวบคีรีขันธ์ | - | 10 | - | 10 |
5. ชุมพร | 10 | 10 | - | 20 |
6. สุราษฎร์ธานี | 172 | 22 | 6 | 200 |
7. สงขลา | - | 40 | - | 40 |
8. ระนอง | 46 | - | - | 46 |
9. พังงา | 238 | - | - | 238 |
10. ภูเก็ต | 325 | - | - | 325 |
11. กระบี่ | 20 | - | - | 20 |
12. ตรัง | 73 | - | - | 73 |
13. สตูล | 156 | - | - | 156 |
รวม | 1,189 | 181 | 1,388 | 2,758 |
ทุ่นในประเทศไทย
มีการศึกษาและติดตั้งกันมานานกว่า 20 ปี โดยในช่วงต้น การดำเนินการส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของกรมเจ้าท่าและกองทัพเรือ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นจุดจอดเรือ ต่อมาได้มีแนวคิดเกี่ยวกับการติดตั้งทุ่นผูกเรือเพื่อการอนุรักษ์แนวปะการัง โดยเริ่มติดตั้งทุ่นสำหรับผูกเรือในแนวปะการังที่จอดเรือเป็นประจำเพื่อให้นักท่องเที่ยวลงดำน้ำ เรือจึงไม่จำเป็นต้องทิ้งสมอซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่แนวปะการัง ปี พ.ศ. 2529 นายมาโนช วงษ์สุรีรัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ในขณะนั้น การนำทุ่นผูกเรือมาติดตั้งเพื่อการอนุรักษ์แนวปะการังในบริเวณหมู่เกาะพีพี อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลและชายฝั่ง ปี พ.ศ. 2532 USAID ได้ส่งข้อมูลการติดตั้งทุ่นผูกเรือของ J.C. Halas ในแนวปะการังบริเวณ Key Largo รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา มาให้กรมป่าไม้พิจารณา เพื่อนำไปใช้ในโครงการ CRMP (Coastal Resources Management Project) โดยมีนายเสรี เวชชบุษกร เป็นหัวหน้าโครงการ และได้มอบหมายให้นายสุววรณ พิทักษ์สินธร เป็นผู้ศึกษาและดำเนินการทดลองติดตั้ง ณ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ปี พ.ศ. 2532-2533 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้สนับสนุนงบประมาณให้กรมป่าไม้ ดำเนินการติดตั้งทุ่นผูกเรือในเขตอุทยานแห่งชาติ 7 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติหาดในยาง (ขณะนั้น) อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ปี พ.ศ. 2534 กรมป่าไม้ ร่วมมือกับกองทัพเรือ ในการจัดทำทุ่นสำหรับจอดเรือขนาดใหญ่ที่มีขนาดความยาวตั้งแต่ 15-30 เมตร ในเขตอุทยานแห่งชาติทั้งหมด 10 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติตะรุเตา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา อุทยานแห่งชาติแหลมสน อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จำนวนทั้งหมด 30 ทุ่น ปี พ.ศ. 2535 ได้มีการพัฒนารูปแบบทุ่นจากเดิมที่เป็น Fiberglass มาเป็น Polyethylene และ Polyurethane foam ที่องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน