ทุ่นในทะเล
- 9 มกราคม 2558
- 1,223
ประเภทของทุ่น
จากการรวบรวมข้อมูลทุ่นที่ถูกติดตั้งโดยหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ที่ได้รวบรวม เช่น สถานที่ติดตั้ง พิกัด ความลึกของน้ำ ชนิดของทุ่นลอยหลัก สายยึดโยง และลักษณะของฐานยึดทุ่น เป็นต้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการดำเนินการติดตั้ง และดูแลรักษาทุ่นในน่านน้ำไทยต่อไปในอนาคต โดยสามารถแบ่งทุ่นออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. ทุ่นผูกเรือ
หน่วยงานที่ใช้ : กรมอุทยานฯ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ลักษณะการใช้ : ติดตั้งสำหรับการผูกกับเรือ เพื่อป้องกันการทิ้งสมอลงในเขตแนวปะการัง สำหรับกรมอุทยานฯ ทุ่นลอยหลักจะแบ่งออกเป็น 3 ขนาด ตามสี ดังนี้ สีขาว เป็นทุ่นขนาดเล็ก (เส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เซนติเมตร) สีส้มเป็นทุ่นขนาดกลาง (เส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เซนติเมตร) และสีเหลือง เป็นทุ่นขนาดใหญ่ (เส้นผ่านศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร) สำหรับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทุ่นจะมีสีเดียว คือ สีส้ม เหมือนกันทุกขนาด
2. ทุ่นแนวเขตทรัพยากร (ทุ่นไข่ปลา) และทุ่นแสดงแนวเขตพื้นที่อันควรอนุรักษ์
หน่วยงานที่ใช้ : กรมอุทยานฯ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ลักษณะการใช้ : ทุ่นแนวเขตทรัพยากร เป็นทุ่นขนาดเล็ก (ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20 เซนติเมตร) ร้อยต่อกันเป็นสาย ติดตั้งอยู่ในบริเวณที่มีแนวปะการัง ซึ่งเป็นพื้นที่หวงห้ามไม่ให้เรือเข้าไปในบริเวณที่เสี่ยงต่อการทำให้ปะการังเสียหาย รวมทั้งป้องกันกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อระบบนิเวศได้ ทุ่นแสดงแนวเขตพื้นที่อันควรอนุรักษ์ ใช้เป็นทุ่นเครื่องหมาย เพื่อบอกว่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่อนุรักษ์ เป็นบริเวณที่มีแนวปะการัง โดยจะทำการติดตั้งเป็นแนวล้อมรอบพื้นที่ทั้งหมดหรือบางส่วน ระยะห่างของทุ่นแต่ละทุ่นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ ลักษณะของทุ่นลอยหลัก แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. ทุ่นลอยหลักที่มีลักษณะเป็นทรงกลมสีส้ม คล้ายกับทุ่นผูกเรือแต่ไม่มีเชือกด้านบนสำหรับให้เรือผูก
2. ทุ่นลอยหลักที่มีลักษณะเป็นทรงกระบอกสีฟ้า ลอยตัวในน้ำ ในแนวตั้ง
3. ทุ่นแนวเขตว่ายน้ำ
หน่วยงานที่ใช้ : ศูนย์กู้ภัยทางทะเลและชายฝั่งเมืองพัทยา
ลักษณะการใช้ : เป็นทุ่นขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 120 เซนติเมตร ต่อกันเป็นสาย ลูกทุ่นมีสีแดงวางสลับกัน มีฐานคอนกรีตวางตรึงในแต่ละมุมกันเป็นแนวเขต เพื่อการทำกิจกรรมทางน้ำ ติดตั้งในบริเวณชายฝั่งที่เป็นหาดทราย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวนิยมลงเล่นน้ำ เช่น บริเวณหน้าแหล่งบริการที่พัก เพื่อป้องกันอันตรายจากเรือที่สัญจรไปมาไม่ให้เกิดอันตรายแก่ผู้ที่กำลังว่ายน้ำ
โดยทุ่นแต่ละประเภท แบ่งแยกย่อยได้ดังนี้
1 ทุ่นผูกเรือ สามารถแบ่งออกเป็น
1.1 ทุ่นแบบเจาะฝังหมุด : Click
1.2 ทุ่นเหล็กขนาดใหญ่ : Click
1.3 ทุ่นแบบผูกฐานวัตถุธรรมชาติ : Click
1.4 ทุ่นแบบสมอสามตัว : Click
1.5 ทุ่นสมอทรายมาโนช : Click
1.6 ทุ่นสมอหกกลับ : Click
1.7 ทุ่นฐานซีเมนต์ลอยน้ำ : Click
1.8 ทุ่นสว่านทราย : Click
1.9 ทุ่นคอนกรีตเสริมเหล็ก : Click
2. ทุ่นแนวเขตทรัพยากร
2.1 ทุ่นไข่ปลา : Click
2.2 ทุ่นทรงกระบอก : Click
3. ทุ่นแนวเขตว่ายน้ำ มีลักษณะเช่นเดียวกับทุ่นไข่ปลา